วันนี้ (13 ม.ค.2568) เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำจาก 19 จังหวัด เดินขบวนจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง ย่านสีลมไปยังตึกซีพีทาวเวอร์
พร้อมถือป้ายเรียกร้องที่มีข้อความขอให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบต่อการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เนื่องจากเป็นบริษัทเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำอย่างถูกกฎหมาย
ข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึก ที่ถูกส่งให้ตัวแทนบริษัทซีพีเอฟ คือ ขอให้เคารพกฎหมายและหลักเกณฑ์ความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด ในการนำเข้าสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลียนสปีชีส์
ข้อที่สองคือ ในฐานะบริษัทมหาชน ควรแบ่งผลกำไร เพื่อแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และข้อที่ 3 คือเรียกร้องให้เปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงบวก มากกว่าการใช้กลไกทางกฎหมายด้วยการฟ้องร้อง
พีระ วงษ์เจริญ ตัวแทนชาวบ้านจันทบุรี หนึ่งในตัวอทนผู้ได้รับผลกระทบ ที่เดินทางมาจากจังหวัดจันทบุรีคนนี้ บอกว่า ปลาหมอคางดำ ยังระบาดหนัก เช่น อ่าวคุ้งกระเบน พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานเร่งแก้ไขและหาทางออก
ทั้งนี้ ตัวแทนซีพี ระบุสั้น ๆ ว่า จะนำหนังสือฉบับนี้ มอบให้ทางบริษัทพิจารณาต่อไป และถ้าพิจารณาแล้วมีความเห็นอย่างไร จะพิจารณาแจ้งให้ทุกคนทราบ
ขณะที่บ่ายวันนี้ตัวแทนชาวบ้าน จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และเดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี
เหวี่ยงแหข้างทำเนียบเจอปลาหมอคางดำ
ต่อมา 12.45 น. เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำจำนวน 19 จังหวัดนำโดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี มารวมตัวกันที่ข้างทำเนียบรัฐบาล
โดยประกาศว่าหาก 15 วัน รัฐบาลไม่มีคำตอบต่อการแก้ปัญหา ทางเครือข่ายจะกลับมารวมตัวทวงถามอีกครั้ง
ขณะเดียวกันมีตัวแทนชาวบ้าน ทดลองนำแหมมาเหวี่ยง ที่คลองเปรมประชากร ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ปรากฎว่ายังมีปลาหมอคางดำ ติดขึ้นด้วย
ชาวบ้านทดลองเหวี่ยงแหในคลองข้างทำเนียบรัฐบาลก็ยังได้ปลาหมอคางดำ