ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ปานปรีย์” ชี้ ไทย-เมียนมา การทูต -ความมั่นคง แก้ปัญหา “ว้าแดง”

การเมือง
17 ธ.ค. 67
19:12
1,060
Logo Thai PBS
“ปานปรีย์” ชี้ ไทย-เมียนมา การทูต -ความมั่นคง แก้ปัญหา “ว้าแดง”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ในสมัยน้าชาติ (พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ) เป็นนายกรัฐมนตรี เคยพูดว่า เราต้องทำให้ประเทศกลุ่มอินโดจีน พ้นจากความยากจน ก็สงสัยว่า ทำไม ท่านก็อธิบายว่า การค้าขาย ไม่ว่าจะเป็น รองเท้าแตะ เสื้อยืด หรือ อาหาร ค้าขายอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อมีรายได้ ไทยก็จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ต่างกัน หากสันติภาพ เกิดขึ้นในเมียนมาได้ เราก็ ได้ด้วย” คือ บทสนทนาปิดท้ายของ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ต่างประเทศ

พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ

พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ

พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ

"ไทยพีบีเอส ออนไลน์" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ปานปรีย์ เรื่องความสัมพันธ์ของไทยและเมียนมา ที่ขณะนี้กำลังเกิดปัญหารุมล้อม ทั้งสถานการณ์ภายในของเมียนมา และการถูกกองกำลังว้าแดง รุกคืบเข้ามาบริเวณชายแดนไทย

“ปัญหาระหว่างไทย เมียนมา ต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง อย่าเอามาปนกัน เรื่องแรก คือ ความสัมพันธ์ ระหว่าง ไทย-เมียนมา ที่ผ่านมา เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด เพียงแต่เมียนมาอาจมีปัญหาภายใน เป็นที่รับรู้กัน แต่ไทยมีชายแดนติดกับเมียนมาระยะทางยาวมากกว่า 2,400 กิโลเมตร ซึ่งอาเซียนและไทยต่างก็มีความเป็นห่วงสถานการณ์ในเมียนมา และต้องการให้เมียนมากลับมามีสันติ ภาพโดยเร็ว ประชาชนจะได้ทำมาหากิน ไม่ต้องไปสู้รบกันภายใน ถือเป็นเรื่องสำคัญในระดับภูมิภาค”

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ต่างประเทศ

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ต่างประเทศ

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ต่างประเทศ

ส่วนเรื่องเรือประมงและเรื่องกองกำลังว้าแดง ในฐานะอดีตรมว.ต่างประเทศ มองว่า เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องมีการบริหารจัดการและการพูดคุย ทั้งในระดับทาง การทูตและฝ่ายความมั่นคง ซึ่งโดยปกติกระทรวงการต่างประเทศ และทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหา

ปัญหาระหว่างไทย-เมียนมา ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตามแนวชายแดน แรงงานลักลอบเข้ามา มีการขนยาเสพติดเข้ามา หรือปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ตามแนวชายแดน ซึ่งที่ผ่านมาทุกรัฐบาลพยายามเข้าไปแก้ไปปัญหาเหล่านี้

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า แต่ปัญหาภายในเมียนมา มีหลายกลุ่ม หลายก๊ก หลายกลุ่ม บางครั้งการเจรจากับรัฐบาล SAC หรือรัฐบาลกลางพม่า ปัจจุบันฝ่ายเดียวก็ไม่พอ เพราะตามแนวชายแดน อาจจะควบคุมโดยกลุ่มอื่น ดังนั้นการเจรจาต้องแยกคุยกัน หากรู้ปัญหาต้องเข้าไปคุยกับกลุ่มชนที่เขาควบคุมบริเวณในพื้นที่นั้น

ส่วนบทบาทของประเทศไทยในการตั้งรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น กองกำลังว้าแดงที่ปรากฏเป็นข่าว ...ขณะนี้ยังไม่ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องลึก ว่า จริงหรือไม่ อย่างไร ยังไม่มีการยืนยัน แต่ในกรณีที่มีการลุกล้ำดินแดน ก็คงต้องมีการผลักดันออกไป โดยทางฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลไทย ก็ต้องไปพูดคุยให้เขาถอยออกไป

“เป้าหมายของแต่ละกลุ่มแตกต่างกันมาก ดังนั้นการพูดคุยกับกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน อาจไม่สำเร็จ ดังนั้นเราต้องมีความรู้ว่า แต่ละกลุ่มมีเป้าหมายอย่างไร ซึ่งในกรณีว้าแดงก็เช่นเดียวกัน” ดร.ปานปรีย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.ปานปรีย์ เชื่อว่า ฝ่ายความมั่นคงจะสามารถคุยได้กับทุกกลุ่ม ประเทศไทยและเมียนมา มีความใกล้ชิดกันมาก คนไทยก็ข้ามไปฝั่งเขา และคนฝั่งเขาก็ข้ามมาฝั่งเรา เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก อีกทั้งยังมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานาน ดังนั้น คิดว่า หากฝ่ายความมั่นคง ถ้าสามารถทราบว่า ว้าแดงมีเป้าหมายอย่างไร และทางเราเองมีความประสงค์อย่างไร เมื่อมีความชัดเจนทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะเข้าไปเจรจากันได้

โดยนโยบายความมั่นคง รัฐบาลจะต้องเป็นผู้กำหนดและสั่งการลงมา ว่า ปัญหาในแต่ละข้อว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรบ้าง ที่เป็นปัญหาอยู่ ไม่ใช่เฉพาะปัญหาเรื่องว้าแดง เรื่องอื่น ๆ ก็เช่น เดียวกัน ต้องระบุอำนาจหน้าที่ว่า ใครจะต้องรับผิดชอบส่วนไหน

“ในช่วงที่ผม ดำรงตำแหน่งเป็นรมว.ต่างประเทศ ก็มีการประชุมร่วมกับสภาความมั่นคง และในฐานะรองนายกฯ ได้มีการหารือกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหา ก็ต้องประชุมเพื่ออัพเดทสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ที่ ชายแดน อ.แม่สอด มีปัญหาความมั่นคงและเศรษฐกิจ ก็หารือเรื่องที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพราะฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้มีแค่ ตำรวจ ทหาร แต่ยังมี กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับชายแดนทั้งหมด รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศด้วย”

ดร.ปานปรีย์ เล่าว่า ในภารกิจด้านความมั่นคง ในสมัยยุคที่เป็นรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ แม้จะไม่มีรองนายกฯที่กำกับดูแลงานด้านความมั่นคง แต่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นประธานฯในการกำกับดูแล ปัญหาชายแดนและการค้าชายแดน

“แต่เรื่องนี้ บางอย่างก็ต้องใช้เวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองกำลังว้าแดง หรือ ปัญหาจับลูกเรือประมง ว่า ลูกเรือถูกจับ และจริงหรือไม่ที่ไปรุกล้ำแดนเขา หรือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของเขา ผมในฐานะคนนอกก็อยากทราบข้อเท็จจริง ว่า คือ อะไร ปกติ เวลามีการรุกล้ำน่านน้ำจริง หากเป็นประเทศอื่น กรณีที่มีการรุกล้ำ เขาจะใช้วิธีการแจ้งเตือน เช่น ใช้น้ำแรงดันสูงฉีด แต่ครั้งนี้ ไม่ทราบทำไมใช้กระสุน ก็ต้องไปสืบหาข้อเท็จจริงให้ได้ และมาบอกประชาชนว่า เกิดอะไรขึ้น”

ในฐานะอดีตรมว.ต่างประเทศ เชื่อว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ปัญหาอยู่ โดยเฉพาะเรื่องว้าแดงก็เช่นกัน ตกลงว่ายึดพื้นที่เราจริงหรือไม่ หรือเป็นพื้นที่ที่อ้างอิงกัน ทำไมต้องมายึดพื้นที่ตรงนี้ และเราได้ผลักดันกลับ หรือมีการพูดคุยกันหรือไม่ว่า ทำไมต้องมายึดพื้นที่ตรงนี้ หรือมายึดพื้นที่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ของใคร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยต้องการความชัดเจน

ดร.ปานปรีย์ บอกว่า ไทยอยากให้เมียนมามีความสงบสุข เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนอยู่ติดกัน หากเขาไม่สงบไทยก็ต้องรับภาระหลายเรื่อง ทั้ง ปัญหาแรงงานล้น และการกระทำผิดกฎหมาย การควบคุมคนที่เข้ามา ซึ่งเราอาจรู้สึกเหนื่อยกับสิ่งเหล่านี้

รวมทั้งประเด็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การค้าขายชายแดน เมื่อก่อนไทยมีรายได้ปีละกว่าแสนกว่าล้านบาท แต่ปัจจุบันหายไปครึ่งหนึ่ง ถือว่ามีผลกระทบมาก ต่อคนที่ทำมาหากิน นักธุรกิจ ภาคเอกชนที่ค้าขายกับเมียนมา และมีผลกระทบถึงส่วนกลางด้วย จึงอยากเห็นพม่ามีความสงบสุขเหมือนเดิม

ดร.ปานปรีย์ บอก ส่วนตัวไม่เชื่อว่า ในปีหน้าสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา จะมีความรุนแรงขึ้น แต่อาจมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อเรา ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทย แม้ไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นบทบาทที่ควรจะเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหาภายในของเมียนมา คล้าย ๆ เป็นตัวเชื่อมหรือประสานงานให้

ไม่ได้หมายความว่า ไปสั่งการเขา เพื่อให้เมียนมากลับคืนสู่ความสงบโดยเร็วที่สุด ไม่ใช่เฉพาะพูดคุยกับเมียนมา แต่ต้องพูดคุยกับประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมา มีลาว จีน ไทย บังคลาเทศ และกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่อาจมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดร.ปานปรีย์ เล่าว่า ในช่วงเป็นรัฐมนตรีมีโอกาสพูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งฝั่งตะวันตก เช่น กลุ่มอียู สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย ซึ่งมีชายแดนติดเมียนมา และหลาย ๆ ประเทศก็ต้องการให้เมียนมา กลับสู้ความสงบสุขโดยเร็ว เพียงแต่ว่าเป้าหมายต่างกัน โดยฝั่งตะวันตกจะมองเรื่อง ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชน

ส่วนทางตะวันออก จะมองเรื่องการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจ จึงต้องปรับให้ตรงกัน โดยบทบาทของไทยจะเป็นตัวเชื่อม ในการพูดคุย เพราะเราถือว่า ใกล้ชิดเขามากที่สุด เพราะกลุ่มชนหลาย ๆ กลุ่ม ที่ไม่สามารถอยู่ในแผ่นดินเมียนมาได้ เขาก็อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยสามารถพูดคุยกันได้ เพียงแต่ถ้าพูดคุยก็ต้องให้เขาเข้าใจและต้อง Trust หรือความสร้างไว้เนื้อเชื่อใจกันให้ได้

“เราไม่ได้เข้าข้าง ฝ่ายใด หรือสนับสนุนฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง และการเป็นตัวกลางต้องไม่อยู่ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง และต้องทำให้เขาหยุดทะเลาะกัน ถ้าไม่เป็นกลาง ก็ไม่ใครเชื่อใจ หากเราไปเทคไซด์ จะไม่มีใครยอมฟังเรา”

ถ้าไม่มี Trust ก็ไม่มีใครจะคุยกับคุณ และหากเราต้องการเป็นตัวเชื่อม เพื่อให้เกิดความสงบสุข สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อน ถ้าไม่มี Trust ก็ไม่ใครเชื่อใจ

เมื่อถามว่า การขึ้นมาของทรัมป์จะกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า การลงทุนต่อกลุ่มประเทศอาเซียนหรือไม่ ดร.ปานปรีย์ บอกว่า ประเมินว่า หากทรัมป์ ทำจริงโดยเฉพาะในเรื่องมาตรการขึ้นภาษีจะส่งผลกระทบแน่นอน เพราะไทยพึ่งพิงการส่งออกมาก และไทยส่งออกไปสหรัฐเป็นอันดับ 1 เสียด้วยซ้ำ

ถ้าเขาขึ้นภาษีในอัตราที่สูงจะทำให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ก็จะมีปริมาณลงลด ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ด้วย

ส่วนในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ในมุมของทรัมป์ มองอย่างไร เพราะในอดีตจะเห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ให้ตวามสนใจในภูมิภาคนี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะพรรครีพับลิกัน ส่วนพรรคเดโมเครตจะให้ความสนใจทางเอเชียมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคของเราในเอาเซียน แต่ทรัมป์ยังไม่ชัดเจนว่า มองอาเซียนอย่างไร

แต่ที่พูดชัด คือ ดุลการค้า ซึ่งประเทศในอาเซียนก็ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ อยู่สูง ดังการที่เขาจะเลือกปฎิบัติอย่างไร ต่อประเทศใดประเทศหนึ่งก็ต้องรอดู

อ่านข่าว

 "การวางจุดยืนของไทยสำคัญที่สุด" เปิดใจ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เจ้ากระทรวงบัวแก้ว

เปิดดีลสัมพันธ์ “กลุ่มชาติพันธุ์” สานประโยชน์เศรษฐกิจชายแดน

"เมียนมา" ทางสองแพร่ง บทบาทไทยสร้าง "สันติภาพถาวร"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง