วิถีถิ่นบ้านสาขลา
บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทย เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์เรื่อยมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่าในอดีตเคยชื่อ หมู่บ้านสาวกล้า สืบเนื่องจากผู้ชายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปร่วมในสมรภูมิรบศึกสงครามเก้าทับ เพื่อสู้กับกองทัพพม่า สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อเหล่าทหารพม่าเดินทัพผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ และได้มีการกวาดต้อนผู้คน ยึดเสบียงอาหาร หญิงสาวที่เหลือในหมู่บ้านจึงพากันหยิบอาวุธที่พอจะหาได้ ลุกขึ้นต่อสู้กับทหารพม่าจนได้รับชัยชนะ และตั้งชื่อหมู่บ้านสาวกล้า นับตั้งแต่นั้นภายหลังจึงเพี้ยนเป็นหมู่บ้านสาขลาจนถึงปัจจุบัน นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เล่าขานกันมาแล้ว ที่นี่ยังคงมีภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ หลงเหลืออยู่มากมาย เช่น การแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์ อาทิ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลูกจาก ลูกลำแพน และการทำข้าวของเครื่องใช้ก็ยังคงมีให้เห็นได้ที่นี่ เช่น ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ สามารถเลือกชม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์หลายสีจากธรรมชาติ ทั้งสีน้ำตาลจากต้นตะบูนพืชในป่าชายเลน สีชมพูจากเปลือกต้นโพทะเล และสีเหลืองจากดอกดาวเรือง ซึ่งถูกนำมาเย็บปักถักร้อยเป็นผ้าพันคอ กระเป๋า หมวก และอีกมากมาย
อาหารจากภูมิปัญญา
บ้านสาขลา มีของอร่อยรออยู่มากมาย เริ่มต้นกันที่อาหารคาว อย่าง แกงส้มปลาหมอ เป็นเมนูกับข้าวแบบบ้าน ๆ ที่รสชาติจัดจ้าน กินคู่กับกุ้งเหยียดรสชาติหวาน ๆ ตัดกันได้ดีทีเดียว กุ้งเหยียด เป็นการแปรรูปกุ้งเพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้น โดยนำมาเรียงในหม้อทีละชั้นอย่างเป็นระเบียบ และโรยเกลือโรยน้ำตาลระหว่างชั้น จากนั้นนำมากดทับก่อนนำไปต้มให้สุก จะได้กุ้งเหยียดตัวตรงเปลือกสีแดงแวววาว รสชาติหวานเค็มอร่อย ปิดท้ายด้วยรุ่ยเชื่อม รุ่ย เป็นพืชที่ขึ้นในพื้นที่ดินเลนตื้น เหนียวและแข็ง ตามริมชายฝั่งหรือพื้นที่ที่ถูกเปิดโล่ง โดยชาวบ้านจะนำฟักมาเชื่อม เป็นเมนูของหวานที่หากินที่ไหนไม่ได้ง่าย ๆ
สุขใจที่บ้านสาขลา
ปัจจุบันหมู่บ้านสาขลาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยว ด้วยความโด่งดังของวัดสาขลา วัดประจำหมู่บ้านที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านทุกคน ภายในวัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสาขลา นั่นก็คือหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ด้านในโบสถ์ และพระปรางค์เอียงสมัยอยุธยา ที่ถือว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ หลังจากชมภายในวัดแล้วก็สามารถเดินต่อไปที่ตลาดโบราณบ้านสาขลาได้อีกด้วย โดยในส่วนนี้คุณจะได้สัมผัสกับความเก่าแก่ของชุมชนได้อย่างเต็มที่ บ้านเรือนสองฝั่งคลองยังคงโครงสร้างเดิมที่สร้างจากไม้ ร้านค้าและร้านอาหาร ปิดท้ายด้วยการนั่งเรือชมวิถีชีวิตชาวบ้านสาขลา จะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจที่นี่มากขึ้น
ติดตามชมรายการทั่วถิ่นแดนไทย ตอน วิถีถิ่นใกล้กรุง บ้านสาขลา จ.สมุทรปราการ วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2562 เวลา 16.30 - 17.00 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Live
วิถีถิ่นบ้านสาขลา
บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทย เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์เรื่อยมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่าในอดีตเคยชื่อ หมู่บ้านสาวกล้า สืบเนื่องจากผู้ชายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปร่วมในสมรภูมิรบศึกสงครามเก้าทับ เพื่อสู้กับกองทัพพม่า สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อเหล่าทหารพม่าเดินทัพผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ และได้มีการกวาดต้อนผู้คน ยึดเสบียงอาหาร หญิงสาวที่เหลือในหมู่บ้านจึงพากันหยิบอาวุธที่พอจะหาได้ ลุกขึ้นต่อสู้กับทหารพม่าจนได้รับชัยชนะ และตั้งชื่อหมู่บ้านสาวกล้า นับตั้งแต่นั้นภายหลังจึงเพี้ยนเป็นหมู่บ้านสาขลาจนถึงปัจจุบัน นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เล่าขานกันมาแล้ว ที่นี่ยังคงมีภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ หลงเหลืออยู่มากมาย เช่น การแปรรูปผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์ อาทิ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลูกจาก ลูกลำแพน และการทำข้าวของเครื่องใช้ก็ยังคงมีให้เห็นได้ที่นี่ เช่น ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ สามารถเลือกชม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์หลายสีจากธรรมชาติ ทั้งสีน้ำตาลจากต้นตะบูนพืชในป่าชายเลน สีชมพูจากเปลือกต้นโพทะเล และสีเหลืองจากดอกดาวเรือง ซึ่งถูกนำมาเย็บปักถักร้อยเป็นผ้าพันคอ กระเป๋า หมวก และอีกมากมาย
อาหารจากภูมิปัญญา
บ้านสาขลา มีของอร่อยรออยู่มากมาย เริ่มต้นกันที่อาหารคาว อย่าง แกงส้มปลาหมอ เป็นเมนูกับข้าวแบบบ้าน ๆ ที่รสชาติจัดจ้าน กินคู่กับกุ้งเหยียดรสชาติหวาน ๆ ตัดกันได้ดีทีเดียว กุ้งเหยียด เป็นการแปรรูปกุ้งเพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้น โดยนำมาเรียงในหม้อทีละชั้นอย่างเป็นระเบียบ และโรยเกลือโรยน้ำตาลระหว่างชั้น จากนั้นนำมากดทับก่อนนำไปต้มให้สุก จะได้กุ้งเหยียดตัวตรงเปลือกสีแดงแวววาว รสชาติหวานเค็มอร่อย ปิดท้ายด้วยรุ่ยเชื่อม รุ่ย เป็นพืชที่ขึ้นในพื้นที่ดินเลนตื้น เหนียวและแข็ง ตามริมชายฝั่งหรือพื้นที่ที่ถูกเปิดโล่ง โดยชาวบ้านจะนำฟักมาเชื่อม เป็นเมนูของหวานที่หากินที่ไหนไม่ได้ง่าย ๆ
สุขใจที่บ้านสาขลา
ปัจจุบันหมู่บ้านสาขลาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยว ด้วยความโด่งดังของวัดสาขลา วัดประจำหมู่บ้านที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านทุกคน ภายในวัดมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสาขลา นั่นก็คือหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ด้านในโบสถ์ และพระปรางค์เอียงสมัยอยุธยา ที่ถือว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ หลังจากชมภายในวัดแล้วก็สามารถเดินต่อไปที่ตลาดโบราณบ้านสาขลาได้อีกด้วย โดยในส่วนนี้คุณจะได้สัมผัสกับความเก่าแก่ของชุมชนได้อย่างเต็มที่ บ้านเรือนสองฝั่งคลองยังคงโครงสร้างเดิมที่สร้างจากไม้ ร้านค้าและร้านอาหาร ปิดท้ายด้วยการนั่งเรือชมวิถีชีวิตชาวบ้านสาขลา จะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจที่นี่มากขึ้น
ติดตามชมรายการทั่วถิ่นแดนไทย ตอน วิถีถิ่นใกล้กรุง บ้านสาขลา จ.สมุทรปราการ วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม 2562 เวลา 16.30 - 17.00 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Live