บ้านขุนปั๋ง ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านกลางหุบเขา ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 100 กิโลเมตร ถนนหนทางที่จะเข้าไปในหมู่บ้านยังเป็นถนนลูกรัง รถที่ใช้สัญจรไปมาได้มีเพียงรถกระบะและรถจักรยานยนต์ ใช้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ และน้ำจากประปาภูเขา แม้จะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและอยู่ในหุบเขา แต่ผู้คนในหมู่บ้านนี้เป็นคนเมืองจึงสื่อสารกันด้วยคำเมือง มีวิถีความผูกพันอย่างล้ำลึกกับเมี่ยง พืชตระกูลชาอัสสัม
พ่อหลวงสุชาติ แปงคำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านขุนปั๋ง เล่าว่าคนหมู่บ้านนี้เกิดมาก็เห็นต้นเมี่ยง นิยมเคี้ยวหรืออมเมี่ยงแก้ง่วงเวลาไปทำงานและยังเป็นของต้อนรับแขก ที่สำคัญอาศัยเมี่ยงเลี้ยงชีพมาหลายร้อยปี ทุกบ้านจึงมีโอ่งหรือไหหมักเมี่ยง นอกจากนั้นยังอธิบายเพิ่มเติมว่า "เมี่ยง" ของที่นี่จะปลูกไว้ตามภูเขาปะปนอยู่กับต้นไม้อื่น ๆ ใบและยอดมีมูลค่าที่แตกต่างกัน ใบเมี่ยงที่หมักไว้กินไว้ขาย ราคาเพียงมัดละ 10 บาท แต่หากเป็นยอดอ่อนที่นำไปทำชา ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท
ชาวบ้านขุนปั๋งอยู่กับ "เมี่ยง" ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เพราะต้องขึ้นดอยไปเก็บใบเมี่ยงแต่เช้าแล้วนำมานึ่งในเวลาเย็น มัดและดองในยามค่ำคืน บางครั้งหากไฟฟ้าถูกตัดก็จะต้องอาศัยแสงเทียนในการมัดเมี่ยง ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเมี่ยงตั้งแต่เก็บถึงการนึ่งนั้น ก็เป็นอุปกรณ์ที่เรียบง่าย หาได้ในพื้นที่ทำขึ้นเองและใช้งานมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น "เล็บเก็บเมี่ยง" ทำจากฝาหม้อ "หลัวหรือฟืน" เก็บจากในสวน "ไหนึ่งเมี่ยง" จากไม้ที่ใช้งานมานานก็ทำเอง วิลาวัลย์ ศรีปัญญา ชาวบ้านที่นั่นเล่าว่าไหนึ่งเมี่ยงคือสิ่งมีค่า ให้ราคาเรือนแสนก็ไม่ขาย เพราะมีบุญคุณและสร้างรายได้ให้เธอหลายแสนบาทแล้ว
ปัจจุบันลูกค้าที่นิยมกินเมี่ยงมีอยู่ทั่วภาคเหนือ หากเป็นฤดูกาลปกติก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าขับรถขึ้นมาซื้อแต่หากเป็นหน้าฝนก็จะลำบากหน่อย เนื่องจากถนนลื่น การเข้าออกในพื้นที่ก็จะยาก ชาวบ้านที่นี่ให้ความมั่นใจว่าต้นเมี่ยงที่บ้านของพวกเขาจะไม่หายไปไหน เพราะว่าทำกันแบบอนุรักษ์ด้วย ช่วงไหนที่ไม่ทำก็ปล่อยให้ต้นเมี่ยงเติบโตเป็นป่าไป ไม่ถางทิ้ง เมื่อจะกลับมาทำก็แค่มาถางหญ้าออกก็สามารถที่จะเก็บใบเมี่ยงขายได้อีกครั้ง มรดกที่พ่อแม่ทิ้งเอาไว้ให้นี้ ไม่มีทางที่จะหายสาบสูญ แม้คนจะเลิกทำจนหมดหมู่บ้าน ต้นเมี่ยงก็ยังอยู่เป็นป่าให้ความชุ่มชื้นตลอดไป
ติดตามในรายการซีรีส์วิถีคน วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 17.30 - 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส รับชมออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Live
บ้านขุนปั๋ง ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านกลางหุบเขา ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 100 กิโลเมตร ถนนหนทางที่จะเข้าไปในหมู่บ้านยังเป็นถนนลูกรัง รถที่ใช้สัญจรไปมาได้มีเพียงรถกระบะและรถจักรยานยนต์ ใช้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ และน้ำจากประปาภูเขา แม้จะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและอยู่ในหุบเขา แต่ผู้คนในหมู่บ้านนี้เป็นคนเมืองจึงสื่อสารกันด้วยคำเมือง มีวิถีความผูกพันอย่างล้ำลึกกับเมี่ยง พืชตระกูลชาอัสสัม
พ่อหลวงสุชาติ แปงคำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านขุนปั๋ง เล่าว่าคนหมู่บ้านนี้เกิดมาก็เห็นต้นเมี่ยง นิยมเคี้ยวหรืออมเมี่ยงแก้ง่วงเวลาไปทำงานและยังเป็นของต้อนรับแขก ที่สำคัญอาศัยเมี่ยงเลี้ยงชีพมาหลายร้อยปี ทุกบ้านจึงมีโอ่งหรือไหหมักเมี่ยง นอกจากนั้นยังอธิบายเพิ่มเติมว่า "เมี่ยง" ของที่นี่จะปลูกไว้ตามภูเขาปะปนอยู่กับต้นไม้อื่น ๆ ใบและยอดมีมูลค่าที่แตกต่างกัน ใบเมี่ยงที่หมักไว้กินไว้ขาย ราคาเพียงมัดละ 10 บาท แต่หากเป็นยอดอ่อนที่นำไปทำชา ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท
ชาวบ้านขุนปั๋งอยู่กับ "เมี่ยง" ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เพราะต้องขึ้นดอยไปเก็บใบเมี่ยงแต่เช้าแล้วนำมานึ่งในเวลาเย็น มัดและดองในยามค่ำคืน บางครั้งหากไฟฟ้าถูกตัดก็จะต้องอาศัยแสงเทียนในการมัดเมี่ยง ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเมี่ยงตั้งแต่เก็บถึงการนึ่งนั้น ก็เป็นอุปกรณ์ที่เรียบง่าย หาได้ในพื้นที่ทำขึ้นเองและใช้งานมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น "เล็บเก็บเมี่ยง" ทำจากฝาหม้อ "หลัวหรือฟืน" เก็บจากในสวน "ไหนึ่งเมี่ยง" จากไม้ที่ใช้งานมานานก็ทำเอง วิลาวัลย์ ศรีปัญญา ชาวบ้านที่นั่นเล่าว่าไหนึ่งเมี่ยงคือสิ่งมีค่า ให้ราคาเรือนแสนก็ไม่ขาย เพราะมีบุญคุณและสร้างรายได้ให้เธอหลายแสนบาทแล้ว
ปัจจุบันลูกค้าที่นิยมกินเมี่ยงมีอยู่ทั่วภาคเหนือ หากเป็นฤดูกาลปกติก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าขับรถขึ้นมาซื้อแต่หากเป็นหน้าฝนก็จะลำบากหน่อย เนื่องจากถนนลื่น การเข้าออกในพื้นที่ก็จะยาก ชาวบ้านที่นี่ให้ความมั่นใจว่าต้นเมี่ยงที่บ้านของพวกเขาจะไม่หายไปไหน เพราะว่าทำกันแบบอนุรักษ์ด้วย ช่วงไหนที่ไม่ทำก็ปล่อยให้ต้นเมี่ยงเติบโตเป็นป่าไป ไม่ถางทิ้ง เมื่อจะกลับมาทำก็แค่มาถางหญ้าออกก็สามารถที่จะเก็บใบเมี่ยงขายได้อีกครั้ง มรดกที่พ่อแม่ทิ้งเอาไว้ให้นี้ ไม่มีทางที่จะหายสาบสูญ แม้คนจะเลิกทำจนหมดหมู่บ้าน ต้นเมี่ยงก็ยังอยู่เป็นป่าให้ความชุ่มชื้นตลอดไป
ติดตามในรายการซีรีส์วิถีคน วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 17.30 - 18.00 น. ทางไทยพีบีเอส รับชมออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Live