เรียบเรียงโดย : จักร ปานสมัย
เครื่องแต่งกายคืออีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของละครย้อนยุค เพราะละครย้อนยุคเรื่องหนึ่งจะอยู่ในความทรงจำของผู้ชมได้ นอกจากจะสรรหาเครื่องแต่งกายที่สวยงามมาประดับเพื่อเสริมส่งนักแสดงแล้ว ยังต้องพิจารณาจากความถูกต้อง สมจริง ตรงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าต้องพิถีพิถีนอย่างยิ่ง และเมื่อได้ศึกษาความเป็นมาเรื่องราวของผ้าไทย อันมีเรื่องราวมากมายและยาวนานแล้ว ย่อมพบว่ากว่าจะหาผ้าได้สักผืนที่ทั้งสวย ประณีต และถูกสมจริง เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง
ผ้าไทยมากด้วยคุณค่ามหาศาล เส้นไหมแม้มีเพียงเท่าเส้นผมก็ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ในอดีตเราจึงมักใช้ผ้าเป็นรางวัลให้กับผู้ทำความดี คุณค่าของผ้ามีมากถึงขั้นที่สมัยก่อนเก่า นานทีที่ประชาชนธรรมดาโดยเฉพาะผู้ชายจะสวมเสื้อผ้ากันเสียที โดยเริ่มสวมใส่จริงจัง สม่ำเสมอในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าไทยคือมิใช่การเย็บ แต่เป็นการนุ่ง ห่ม ผูก พัน โพก ด้วยลักษณะเฉพาะ
การศึกษาเรื่องผ้าไทยเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะผ้าไทยเป็นเหมือนองค์ประกอบใหญ่ที่มีองค์ประกอบย่อยมากมาย อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ผ้ายาจก ผ้าทอยกดอก เป็นต้น ไทยเรามักรับวัฒนธรรมต่างชาติมาปรับใช้ ในเรื่องของผ้าไทยก็เช่นกัน ประเทศใดที่มีผ้าเนื้อดี ไทยก็จะสั่งซื้อนำเข้าเพื่อนำมาผลิตสร้างเป็นผ้าไทย เช่น ไหมจีน ที่เนื้อแน่น ทรงตัวดี, ผ้าปูมโบราณจากเขมรที่สวยงาม เมื่อคนไทยนำเข้ามาก็ใช้ใส่ออกงานประมาณปีละครั้งสองครั้ง หรือผ้าลายอย่าง ที่ไทยสั่งซื้อจากเมืองคุชราต ประเทศอินเดีย และไม่ใช่แค่จากเอเชียเท่านั้น แต่เราก็ยังสั่งผ้าลูกไม้จากตะวันตกมาด้วยเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยเลือกสรรเสื้อผ้าทั้งจากตะวันออกและตะวันตก เพื่อนำมาพัฒนาเป็นผ้าไทย
นอกจากนี้ ผ้าไทยยังสื่อความถึงแสนยานุภาพของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี ดังเช่น เครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เสื้อตัวในสีเข้มขาบ สีเขียวน้ำเงิน ส่วนข้างนอกจะเป็นเสื้อเกราะ การนุ่งกระโจมมีการจับจีบ ห้อยหางหงส์ เสื้อคลุมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หนักถึง 7 กิโลกรัม เป็นเสื้อผ้าจากเปอร์เซีย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พระมหากษัตริย์จะทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ เสื้อคลุม เสื้อครุยของพระมหากษัตริย์ที่โอ่อ่าหรูหราที่สุด เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่นำลักษณะของเสื้อผ้าเปอร์เซียมาประยุกต์เครื่องทรงกษัตริย์
ทั้งนี้ ลายผ้า หรือสีผ้า ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด มิใช่แค่สวมเสื้อผ้าลวดลายอะไรก็ได้ที่สลับซับซ้อน หรือเลือกสีสันอะไรก็ได้ตามแต่ที่โปรดปราน เพราะทั้งลวดลายและสีผ้าล้วนบ่งบอกตำแหน่งหรือสถานะของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี เช่น ฐานันดรหม่อมเจ้าขึ้นไป จะนุ่งโจงสีแดง ฐานันดรพระองค์เจ้าสวมผ้าเขียนทอง หรือหากรับราชการเป็นตำรวจ ผ้าที่สวมเพื่อยืนยันตำแหน่งทั้งสีและลวดลายก็จะบอกสังกัด ข้าราชการอยู่กรมใด ก็ดูที่ผ้าคาดเอว ฉะนั้นแล้ว ผ้าจึงบ่งบอกชัดเจนว่าผู้นุ่งเป็นใคร
ด้วยคุณค่ามากมายของผ้าไทย การส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผ้าไทยยังคงอยู่คู่กับประชาชนชาวไทยให้นานที่สุด จึงเป็นพระราชพันธกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งพระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงส่งเสริมมิให้ผ้าไทยหายไป ผ่านโครงการต่าง ๆ จนก่อเกิดเป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน มีผู้สานต่อการทอผ้าไทยมาถึงปัจจุบัน
การศึกษาเรื่องราวของผืนผ้า หากมุ่งศึกษาอย่างละเอียด ย่อมเพลิดเพลินกับความรู้ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเอ่อล้นเข้ามาให้ผู้ศึกษาได้รองรับ ผ้าผืนหนึ่งบอกวิถีชีวิตชาวไทยมหาศาล ผ้าผืนหนึ่งบอกรากเหง้า ชุมชน วิถีชีวิต ภูมิชีวิต กระทั่งบอกลักษณะพืชพันธุ์ หรือสัตว์ที่มาประกอบเป็นผ้า เช่น ต้นหม่อน ตัวไหม ดักแด้ เป็นต้น ลวดลายต่าง ๆ สีเส้นต่าง ๆ ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ เป็นวัฒนธรรม ยิ่งใหญ่จนถึงกลายเป็นอารยธรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า เพียงศึกษาแค่ผ้าหนึ่งผืนอย่างละเอียด ลึกซึ้ง รอบด้าน ย่อมครอบคลุมไปถึงเรื่องราวทั้งแผ่นดิน
รายการอ้างอิง
สุรพล วิรุฬห์รักษ์. ศาสตราจารย์. ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขานาฏกรรม. สัมภาษณ์. 29 มิถุนายน 2563.
เรียบเรียงโดย : จักร ปานสมัย
เครื่องแต่งกายคืออีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของละครย้อนยุค เพราะละครย้อนยุคเรื่องหนึ่งจะอยู่ในความทรงจำของผู้ชมได้ นอกจากจะสรรหาเครื่องแต่งกายที่สวยงามมาประดับเพื่อเสริมส่งนักแสดงแล้ว ยังต้องพิจารณาจากความถูกต้อง สมจริง ตรงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าต้องพิถีพิถีนอย่างยิ่ง และเมื่อได้ศึกษาความเป็นมาเรื่องราวของผ้าไทย อันมีเรื่องราวมากมายและยาวนานแล้ว ย่อมพบว่ากว่าจะหาผ้าได้สักผืนที่ทั้งสวย ประณีต และถูกสมจริง เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง
ผ้าไทยมากด้วยคุณค่ามหาศาล เส้นไหมแม้มีเพียงเท่าเส้นผมก็ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ในอดีตเราจึงมักใช้ผ้าเป็นรางวัลให้กับผู้ทำความดี คุณค่าของผ้ามีมากถึงขั้นที่สมัยก่อนเก่า นานทีที่ประชาชนธรรมดาโดยเฉพาะผู้ชายจะสวมเสื้อผ้ากันเสียที โดยเริ่มสวมใส่จริงจัง สม่ำเสมอในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าไทยคือมิใช่การเย็บ แต่เป็นการนุ่ง ห่ม ผูก พัน โพก ด้วยลักษณะเฉพาะ
การศึกษาเรื่องผ้าไทยเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะผ้าไทยเป็นเหมือนองค์ประกอบใหญ่ที่มีองค์ประกอบย่อยมากมาย อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ผ้ายาจก ผ้าทอยกดอก เป็นต้น ไทยเรามักรับวัฒนธรรมต่างชาติมาปรับใช้ ในเรื่องของผ้าไทยก็เช่นกัน ประเทศใดที่มีผ้าเนื้อดี ไทยก็จะสั่งซื้อนำเข้าเพื่อนำมาผลิตสร้างเป็นผ้าไทย เช่น ไหมจีน ที่เนื้อแน่น ทรงตัวดี, ผ้าปูมโบราณจากเขมรที่สวยงาม เมื่อคนไทยนำเข้ามาก็ใช้ใส่ออกงานประมาณปีละครั้งสองครั้ง หรือผ้าลายอย่าง ที่ไทยสั่งซื้อจากเมืองคุชราต ประเทศอินเดีย และไม่ใช่แค่จากเอเชียเท่านั้น แต่เราก็ยังสั่งผ้าลูกไม้จากตะวันตกมาด้วยเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยเลือกสรรเสื้อผ้าทั้งจากตะวันออกและตะวันตก เพื่อนำมาพัฒนาเป็นผ้าไทย
นอกจากนี้ ผ้าไทยยังสื่อความถึงแสนยานุภาพของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี ดังเช่น เครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เสื้อตัวในสีเข้มขาบ สีเขียวน้ำเงิน ส่วนข้างนอกจะเป็นเสื้อเกราะ การนุ่งกระโจมมีการจับจีบ ห้อยหางหงส์ เสื้อคลุมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หนักถึง 7 กิโลกรัม เป็นเสื้อผ้าจากเปอร์เซีย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พระมหากษัตริย์จะทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ เสื้อคลุม เสื้อครุยของพระมหากษัตริย์ที่โอ่อ่าหรูหราที่สุด เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่นำลักษณะของเสื้อผ้าเปอร์เซียมาประยุกต์เครื่องทรงกษัตริย์
ทั้งนี้ ลายผ้า หรือสีผ้า ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด มิใช่แค่สวมเสื้อผ้าลวดลายอะไรก็ได้ที่สลับซับซ้อน หรือเลือกสีสันอะไรก็ได้ตามแต่ที่โปรดปราน เพราะทั้งลวดลายและสีผ้าล้วนบ่งบอกตำแหน่งหรือสถานะของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี เช่น ฐานันดรหม่อมเจ้าขึ้นไป จะนุ่งโจงสีแดง ฐานันดรพระองค์เจ้าสวมผ้าเขียนทอง หรือหากรับราชการเป็นตำรวจ ผ้าที่สวมเพื่อยืนยันตำแหน่งทั้งสีและลวดลายก็จะบอกสังกัด ข้าราชการอยู่กรมใด ก็ดูที่ผ้าคาดเอว ฉะนั้นแล้ว ผ้าจึงบ่งบอกชัดเจนว่าผู้นุ่งเป็นใคร
ด้วยคุณค่ามากมายของผ้าไทย การส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผ้าไทยยังคงอยู่คู่กับประชาชนชาวไทยให้นานที่สุด จึงเป็นพระราชพันธกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งพระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงส่งเสริมมิให้ผ้าไทยหายไป ผ่านโครงการต่าง ๆ จนก่อเกิดเป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน มีผู้สานต่อการทอผ้าไทยมาถึงปัจจุบัน
การศึกษาเรื่องราวของผืนผ้า หากมุ่งศึกษาอย่างละเอียด ย่อมเพลิดเพลินกับความรู้ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเอ่อล้นเข้ามาให้ผู้ศึกษาได้รองรับ ผ้าผืนหนึ่งบอกวิถีชีวิตชาวไทยมหาศาล ผ้าผืนหนึ่งบอกรากเหง้า ชุมชน วิถีชีวิต ภูมิชีวิต กระทั่งบอกลักษณะพืชพันธุ์ หรือสัตว์ที่มาประกอบเป็นผ้า เช่น ต้นหม่อน ตัวไหม ดักแด้ เป็นต้น ลวดลายต่าง ๆ สีเส้นต่าง ๆ ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ เป็นวัฒนธรรม ยิ่งใหญ่จนถึงกลายเป็นอารยธรรม จึงอาจกล่าวได้ว่า เพียงศึกษาแค่ผ้าหนึ่งผืนอย่างละเอียด ลึกซึ้ง รอบด้าน ย่อมครอบคลุมไปถึงเรื่องราวทั้งแผ่นดิน
รายการอ้างอิง
สุรพล วิรุฬห์รักษ์. ศาสตราจารย์. ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขานาฏกรรม. สัมภาษณ์. 29 มิถุนายน 2563.