ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทาสในเรือนเบี้ย

ออกอากาศ17 พ.ย. 62

เรื่องเล่าจากละคร

ทาสในเรือนเบี้ย

เรียบเรียงโดย : จักร ปานสมัย

“ข้าพเจ้าคิดเหนว่าลูกทาส ซึ่งเกิดในเรือนเบี้ย ตั้งแต่ออกจากท้องภอลืมตาก็ต้องนับเปนทาสมีค่าตัวไป จนถึงอายุ 100 หนึ่งก็ยังไม่หมด ดังนี้ดูเปนหามีความกรุณาแก่ลูกทาสไม่ ด้วยตัวเดกที่เกิดมาไม่ได้รู้ ไม่ได้เหนสิ่งไรเลย บิดามารดาทำชั่วไปขายตัวท่าน แล้วยังภาบุตรไปให้เปนทาสจนสิ้นชีวิตรอีกเล่า เพรารับโทษทุกข์ของบิดามารดาเท่านั้นเอง หาควรที่จะเอาเปนทาสจนตลอดชีวิตรไม่...”

พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเรื่องทาสและเกษียณอายุที่อ้างอิงถึงข้างบนนี้ สะท้อนให้เห็นว่า “ทาสในเรือนเบี้ย” คือทาสกลุ่มแรกที่พระองค์ทรงคำนึงถึงความสำคัญและความเป็นไปได้ที่จะริเริ่มการเลิกทาส ซึ่งตามประวัติศาสตร์ไทยนั้น ในพระไอยการทาสกำหนดให้ทาสมี 7 ประเภท ดังนี้

  1. ทาสสินไถ่ : คือทาสที่ขายตนเองให้เป็นทาส ต้องหาเงินมาไถ่ถอนตนเองจึงจะเป็นอิสระ ปรากฏทั้งทาสที่ขายขาด คือไถ่คืนไม่ได้, ทาสที่ขายฝาก คือไถ่คืนได้ และไม่ต้องไปทำงานให้นายหรือไม่ต้องไปทำงานเป็นทาส โดยส่งแต่ดอกเบี้ยตามที่ตกลงกัน หากจะพ้นสภาพจากการเป็นทาสต้องส่งให้ครบทั้งต้นทั้งดอก
  2. ทาสในเรือนเบี้ย : คือลูกทาสที่เกิดในขณะที่พ่อแม่ของตนเป็นทาส พอตนเองเกิดมาก็ต้องเป็นทาสด้วย หากลูกทาสต้องการไถ่ตัว ให้คิดค่าตัวตามอายุ
  3. ทาสได้แต่บิดามารดา : เนื่องจากทาสเป็นสมบัติของนายทาส หากนายทาสตาย ทาสย่อมเป็นมรดกตกทอดไปถึงลูกของนายเหมือนทรัพย์อื่น ๆ
  4. ทาสท่านให้ : คือทาสที่นายทาสยกให้บุคคลอื่น เนื่องจากทาสเป็นทรัพย์สินหนึ่งของนายทาส เสมือนมอบสัตว์เลี้ยง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ
  5. ทาสทุพภิกขภัย : คือทาสที่ขายตนเองให้เป็นทาสในยามที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เกิดข้าวยากหมากแพง
  6. ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑสถาน : ในกรณีที่ถูกตำรวจจับ ต้องเสียค่าสินไหม หรือค่าประกันตัว เมื่อไม่มีเงินจ่าย แต่มีคนมาจ่ายให้แทน ผู้ต้องหาก็ต้องตกเป็นทาสของคนผู้นั้น
  7. ทาสเชลย : คือทาสที่ได้จากศึกสงคราม ฝ่ายแพ้จะถูกฝ่ายชนะนำไปเป็นเชลย

การปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสรชน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงริเริ่มที่ทาสในเรือนเบี้ยเป็นกลุ่มแรก เหตุเพราะทรงมีพระราชดำริว่าทาสในเรือนเบี้ยนั้นพอลืมตามาก็ต้องเป็นทาสเลย ซ้ำร้ายยังต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะจนอายุ 100 ปี ก็ยังคงมีราคาค่างวด ซึ่งดูไม่มีความกรุณาต่อลูกทาสเลย เด็กเหล่านี้ไม่รู้เรื่องรู้ราวต้องเป็นทาสเพราะพ่อแม่ของตนเป็นทาส ได้รับโทษทุกข์ต่อจากบิดามารดา แต่จะให้ทาสในเรือนเบี้ยเกิดมาแล้วพ้นจากความเป็นทาสเลยก็จะเป็นอันตรายต่อเด็กเหล่านี้อีก เพราะนายทาสเมื่อเห็นว่าลูกทาสเหล่านี้ไร้ประโยชน์ ก็อาจไม่ประสงค์ให้มารดาของเด็กเลี้ยงลูกให้เติบโตสืบไป

ดังนั้น สิ่งแรกที่พระองค์ทรงทำคือการปรับค่าตัวทาสในเรือนเบี้ย จากเดิมทีที่ค่าตัวสูงสุดของทาสจะอยู่วัยฉกรรจ์ เช่น ทาสชายค่าตัวสูงสุดถึง 56 บาท ในช่วงอายุ 26 - 40 ปี ส่วนทาสหญิง ค่าตัวสูงสุดคือ 48 บาท ในช่วงอายุ 21 - 30 ปี ก็ทรงเปลี่ยนค่าตัวสูงสุดของลูกทาสทั้งชายหญิงเป็นช่วงอายุ 8 - 9 ปี จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดลงไปทุกปี จนกระทั่งอายุครบ 21 ปี ก็คือว่าหมดเกษียณอายุทาส ให้เป็นไทแก่ตัว การกำหนดช่วงอายุเช่นนี้ พระองค์ทรงใช้ขนบธรรมเนียมไทยเป็นกุศโลบาย เพราะผู้ชายก็ถึงเวลาออกบวชทดแทนบุญคุณบุพการี ส่วนผู้หญิงก็ถึงเวลาออกเรือนมีสามีและมีลูก

โดยการปรับค่าตัวทาสในเรือนเบี้ยดังกล่าว พระองค์ทรงเริ่มจากลูกทาสที่เกิดในปีมะโรง พ.ศ.2411 เนื่องจากเป็นปีแรกที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ โดยโปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุของลูกทาส ดังนั้นในปี 2432 ลูกทาสที่เกิดในปี 2411 จึงเป็นลูกทาสกลุ่มแรกที่ได้เป็นไท และก็เป็นเช่นนี้ในปีต่อ ๆ มา ด้วยวิธีนี้ทาสในเรือนเบี้ย หรือลูกทาส จึงมีโอกาสหลุดพ้นจากความเป็นทาสเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องเป็นทาสจนชั่วชีวิตดังเช่นแต่ก่อน สิ่งเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรึกษากับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ล้วนเห็นแจ้งตรงกันว่าการเริ่มต้นด้วยทาสในเรือนเบี้ยตามวิธีการดังกล่าว จะไม่กระทบกระเทือนตัวนายทาสมากมาย เพราะทาสกลุ่มอื่นก็ยังคงอยู่รับใช้นายทาส

ใช่เพียงแต่การทำให้ทาสในเรือนเบี้ยเป็นไทเท่านั้น ทว่าพระองค์ยังทรงมองการณ์ไกล ทรงมีพระราชดำริว่า

"หากต้องการให้ลูกทาสเป็นไทอย่างแท้จริง
แล้วไม่กลับมาเป็นทาสอีก
ก็ต้องทำให้มีความรู้ติดตัว
เพื่อไปทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วย"

พระองค์จึงส่งเสริมให้ลูกทาสทุกคนได้มีการศึกษาผ่านสถานศึกษาสำคัญในยุคนั้น นั่นคือวัด เช่น การเรียนภาษาไทย หรือเลข เพื่อให้มีความรู้เพียงพอที่จะประกอบอาชีพเสมียนได้ ส่วนผู้หญิงย่อมควรแก่การศึกษาเรื่องครัวเรือน

เมื่อพ้นจากทาสในเรือนเบี้ยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงดำเนินการกับทาสกลุ่มอื่น ๆ ตามมา ด้วยวิธีการที่ละมุนละม่อม จนในที่สุดการเลิกทาสก็สำเร็จดังที่พระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าจะนางหนุ่ยมีลูก หรือทาสเรือนไหน ๆ มีลูก ก็เป็นโชคดีนานัปการของลูกทาสเหล่านั้นที่มิต้องทนเป็นทาสไปทั้งชีวิต


รายการอ้างอิง

  • ธิดา สาระยา. (2561). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ-เจ้าแผ่นดินสยาม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
  • วัฒน์ระวี (นามแฝง). (2552). แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง กับความทรงจำแห่งรัชสมัย. กรุงเทพฯ: แสงดาว.
  • วุฒิชัย มูลศิลป์, รองศาสตราจารย์. สัมภาษณ์, 13 กุมภาพันธ์ 2563.
  • ส.พลายน้อย (นามแฝง). (2553). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำสำนักพิมพ์.
  • สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2556). ทาสสมัยอยุธยา. ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (บรรณาธิการ), ด้วยรัก เล่มที่ 4 ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม, หน้า 211-235. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

เรื่องเล่าจากละคร

ทาสในเรือนเบี้ย

เรียบเรียงโดย : จักร ปานสมัย

“ข้าพเจ้าคิดเหนว่าลูกทาส ซึ่งเกิดในเรือนเบี้ย ตั้งแต่ออกจากท้องภอลืมตาก็ต้องนับเปนทาสมีค่าตัวไป จนถึงอายุ 100 หนึ่งก็ยังไม่หมด ดังนี้ดูเปนหามีความกรุณาแก่ลูกทาสไม่ ด้วยตัวเดกที่เกิดมาไม่ได้รู้ ไม่ได้เหนสิ่งไรเลย บิดามารดาทำชั่วไปขายตัวท่าน แล้วยังภาบุตรไปให้เปนทาสจนสิ้นชีวิตรอีกเล่า เพรารับโทษทุกข์ของบิดามารดาเท่านั้นเอง หาควรที่จะเอาเปนทาสจนตลอดชีวิตรไม่...”

พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเรื่องทาสและเกษียณอายุที่อ้างอิงถึงข้างบนนี้ สะท้อนให้เห็นว่า “ทาสในเรือนเบี้ย” คือทาสกลุ่มแรกที่พระองค์ทรงคำนึงถึงความสำคัญและความเป็นไปได้ที่จะริเริ่มการเลิกทาส ซึ่งตามประวัติศาสตร์ไทยนั้น ในพระไอยการทาสกำหนดให้ทาสมี 7 ประเภท ดังนี้

  1. ทาสสินไถ่ : คือทาสที่ขายตนเองให้เป็นทาส ต้องหาเงินมาไถ่ถอนตนเองจึงจะเป็นอิสระ ปรากฏทั้งทาสที่ขายขาด คือไถ่คืนไม่ได้, ทาสที่ขายฝาก คือไถ่คืนได้ และไม่ต้องไปทำงานให้นายหรือไม่ต้องไปทำงานเป็นทาส โดยส่งแต่ดอกเบี้ยตามที่ตกลงกัน หากจะพ้นสภาพจากการเป็นทาสต้องส่งให้ครบทั้งต้นทั้งดอก
  2. ทาสในเรือนเบี้ย : คือลูกทาสที่เกิดในขณะที่พ่อแม่ของตนเป็นทาส พอตนเองเกิดมาก็ต้องเป็นทาสด้วย หากลูกทาสต้องการไถ่ตัว ให้คิดค่าตัวตามอายุ
  3. ทาสได้แต่บิดามารดา : เนื่องจากทาสเป็นสมบัติของนายทาส หากนายทาสตาย ทาสย่อมเป็นมรดกตกทอดไปถึงลูกของนายเหมือนทรัพย์อื่น ๆ
  4. ทาสท่านให้ : คือทาสที่นายทาสยกให้บุคคลอื่น เนื่องจากทาสเป็นทรัพย์สินหนึ่งของนายทาส เสมือนมอบสัตว์เลี้ยง หรือทรัพย์สินอื่น ๆ
  5. ทาสทุพภิกขภัย : คือทาสที่ขายตนเองให้เป็นทาสในยามที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เกิดข้าวยากหมากแพง
  6. ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑสถาน : ในกรณีที่ถูกตำรวจจับ ต้องเสียค่าสินไหม หรือค่าประกันตัว เมื่อไม่มีเงินจ่าย แต่มีคนมาจ่ายให้แทน ผู้ต้องหาก็ต้องตกเป็นทาสของคนผู้นั้น
  7. ทาสเชลย : คือทาสที่ได้จากศึกสงคราม ฝ่ายแพ้จะถูกฝ่ายชนะนำไปเป็นเชลย

การปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสรชน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงริเริ่มที่ทาสในเรือนเบี้ยเป็นกลุ่มแรก เหตุเพราะทรงมีพระราชดำริว่าทาสในเรือนเบี้ยนั้นพอลืมตามาก็ต้องเป็นทาสเลย ซ้ำร้ายยังต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะจนอายุ 100 ปี ก็ยังคงมีราคาค่างวด ซึ่งดูไม่มีความกรุณาต่อลูกทาสเลย เด็กเหล่านี้ไม่รู้เรื่องรู้ราวต้องเป็นทาสเพราะพ่อแม่ของตนเป็นทาส ได้รับโทษทุกข์ต่อจากบิดามารดา แต่จะให้ทาสในเรือนเบี้ยเกิดมาแล้วพ้นจากความเป็นทาสเลยก็จะเป็นอันตรายต่อเด็กเหล่านี้อีก เพราะนายทาสเมื่อเห็นว่าลูกทาสเหล่านี้ไร้ประโยชน์ ก็อาจไม่ประสงค์ให้มารดาของเด็กเลี้ยงลูกให้เติบโตสืบไป

ดังนั้น สิ่งแรกที่พระองค์ทรงทำคือการปรับค่าตัวทาสในเรือนเบี้ย จากเดิมทีที่ค่าตัวสูงสุดของทาสจะอยู่วัยฉกรรจ์ เช่น ทาสชายค่าตัวสูงสุดถึง 56 บาท ในช่วงอายุ 26 - 40 ปี ส่วนทาสหญิง ค่าตัวสูงสุดคือ 48 บาท ในช่วงอายุ 21 - 30 ปี ก็ทรงเปลี่ยนค่าตัวสูงสุดของลูกทาสทั้งชายหญิงเป็นช่วงอายุ 8 - 9 ปี จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดลงไปทุกปี จนกระทั่งอายุครบ 21 ปี ก็คือว่าหมดเกษียณอายุทาส ให้เป็นไทแก่ตัว การกำหนดช่วงอายุเช่นนี้ พระองค์ทรงใช้ขนบธรรมเนียมไทยเป็นกุศโลบาย เพราะผู้ชายก็ถึงเวลาออกบวชทดแทนบุญคุณบุพการี ส่วนผู้หญิงก็ถึงเวลาออกเรือนมีสามีและมีลูก

โดยการปรับค่าตัวทาสในเรือนเบี้ยดังกล่าว พระองค์ทรงเริ่มจากลูกทาสที่เกิดในปีมะโรง พ.ศ.2411 เนื่องจากเป็นปีแรกที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ โดยโปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุของลูกทาส ดังนั้นในปี 2432 ลูกทาสที่เกิดในปี 2411 จึงเป็นลูกทาสกลุ่มแรกที่ได้เป็นไท และก็เป็นเช่นนี้ในปีต่อ ๆ มา ด้วยวิธีนี้ทาสในเรือนเบี้ย หรือลูกทาส จึงมีโอกาสหลุดพ้นจากความเป็นทาสเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องเป็นทาสจนชั่วชีวิตดังเช่นแต่ก่อน สิ่งเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรึกษากับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ล้วนเห็นแจ้งตรงกันว่าการเริ่มต้นด้วยทาสในเรือนเบี้ยตามวิธีการดังกล่าว จะไม่กระทบกระเทือนตัวนายทาสมากมาย เพราะทาสกลุ่มอื่นก็ยังคงอยู่รับใช้นายทาส

ใช่เพียงแต่การทำให้ทาสในเรือนเบี้ยเป็นไทเท่านั้น ทว่าพระองค์ยังทรงมองการณ์ไกล ทรงมีพระราชดำริว่า

"หากต้องการให้ลูกทาสเป็นไทอย่างแท้จริง
แล้วไม่กลับมาเป็นทาสอีก
ก็ต้องทำให้มีความรู้ติดตัว
เพื่อไปทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วย"

พระองค์จึงส่งเสริมให้ลูกทาสทุกคนได้มีการศึกษาผ่านสถานศึกษาสำคัญในยุคนั้น นั่นคือวัด เช่น การเรียนภาษาไทย หรือเลข เพื่อให้มีความรู้เพียงพอที่จะประกอบอาชีพเสมียนได้ ส่วนผู้หญิงย่อมควรแก่การศึกษาเรื่องครัวเรือน

เมื่อพ้นจากทาสในเรือนเบี้ยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงดำเนินการกับทาสกลุ่มอื่น ๆ ตามมา ด้วยวิธีการที่ละมุนละม่อม จนในที่สุดการเลิกทาสก็สำเร็จดังที่พระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าจะนางหนุ่ยมีลูก หรือทาสเรือนไหน ๆ มีลูก ก็เป็นโชคดีนานัปการของลูกทาสเหล่านั้นที่มิต้องทนเป็นทาสไปทั้งชีวิต


รายการอ้างอิง

  • ธิดา สาระยา. (2561). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ-เจ้าแผ่นดินสยาม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
  • วัฒน์ระวี (นามแฝง). (2552). แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง กับความทรงจำแห่งรัชสมัย. กรุงเทพฯ: แสงดาว.
  • วุฒิชัย มูลศิลป์, รองศาสตราจารย์. สัมภาษณ์, 13 กุมภาพันธ์ 2563.
  • ส.พลายน้อย (นามแฝง). (2553). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำสำนักพิมพ์.
  • สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2556). ทาสสมัยอยุธยา. ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (บรรณาธิการ), ด้วยรัก เล่มที่ 4 ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม, หน้า 211-235. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

ละครย้อนยุค

ดูทั้งหมด

♫ ♫ Songs Popular ♫ ♫

ดูทั้งหมด

คลิปมาใหม่

คนดูเยอะ 👀

ดูทั้งหมด

เสน่ห์ประเทศไทย