ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ที่มาที่ไปของทาส

ออกอากาศ15 พ.ย. 62

เรื่องเล่าจากละคร

ที่มาที่ไปของทาส

เรียบเรียงโดย : จักร ปานสมัย

ละครเรื่อง "ปลายจวัก" เผยภาพแทนชีวิตอันเปี่ยมสุขของบ่าวไพร่ในเรือน ไม่ว่าจะเป็นยายพัด คนสนิทของคุณนายช้อย หรือนางหนุ่ย คนสนิทของคุณทองสำลี นับเป็นภาพที่ต่างจากละครย้อนยุคเรื่องอื่น ๆ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าบ่าว ขึ้นชื่อว่าทาสแล้ว ย่อมมีแต่ความทรมาน ไร้อิสระ ทำอะไรผิดก็ถูกเฆี่ยนอย่างไร้ความปรานี (ละครบางเรื่อง ทาสไม่ได้ทำผิด แต่ถูกใส่ร้ายก็มี) ขณะที่ในละครปลายจวัก เหล่าเจ้านายล้วนมีใจเมตตาปรานีต่อบ่าวไพร่ของพวกเขาเหลือเกิน จึงน่าศึกษาต่อว่าที่มาที่ไปของทาสในสยามประเทศนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ และบรรดาทาสเหล่านี้มีความเป็นอยู่อย่างไร

"ทาส" ถือเป็นเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทาสมีอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่ปรากฏหลักฐานจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งมีท่อนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ได้ปั่วได้นาง” อันหมายถึงการจับเชลยศึกมาเป็นทาส จากที่แต่ก่อนเคยถกเถียงกันในแวดวงประวัติศาสตร์ว่าสมัยสุโขทัยยังไม่มีทาส ทว่าเมื่อศึกษาในมุมมองหรือแนวคิดใหม่ สุโขทัยจึงได้รับการยอมรับโดยดุษณีว่าปรากฏทาสจริง ๆ กระทั่งมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีหลักฐานปรากฏว่าทาสคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยเหตุนี้เรื่องราวของทาสจึงควรค่าแก่การศึกษาอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง

ในสยามประเทศ ราคาทาสแต่ละคนมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเพศและวัย หรืออายุของทาส ดังที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง หากอายุ หรือวัยฉกรรจ์ ค่าตัวก็จะสูง ถ้าอายุน้อย หรือสูงกว่าวัยฉกรรจ์ ค่าตัวก็จะค่อย ๆ ลดลง ทาสชายได้ค่าตัวสูงสุดถึง 56 บาท ในช่วงอายุ 26 - 40 ปี ส่วนทาสหญิงได้ค่าตัวสูงสุด 48 บาท อายุ 21 - 30 ปี หากต้องการหลุดพ้นจากทาส ก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การหาเงินมาไถ่ถอนตนเองให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส โดยต้องชำระให้ครบทั้งต้นทั้งดอก, นายทาสอนุญาตให้บวชเป็นพระ เณร หรือชี ก็ดี, การอาสาไปสงคราม ไปรบแทนนาย หากรอดกลับมาได้ก็ถือว่าเป็นอิสระ, การได้แต่งงานกับนายทาส, หากเห็นว่านายทาสเป็นกบฏ ฉ้อราษฎร์บังหลวงก็สามารถฟ้องร้องได้ หากนายทำผิดจริง ทาสก็จะได้เป็นไท หรือหากทาสคนใดใจกล้ามากพอก็หนีจากนายเข้าไป หรือไปอยู่เมืองอื่นเกินกว่านายจะตามจนพบ ก็ย่อมได้

มีคำถามเกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ว่าเหตุใดในสมัยก่อนจึงต้องมีทาส และเหตุใดคนในสมัยก่อนจึงยอมขายตัวให้เป็นทาส การตอบคำถามทั้งสองนี้ให้กระจ่าง จำเป็นต้องพิจารณาถึงบริบทยุคนั้นโดยตัดซึ่งอคติ ขจัดความคิดในบริบท หรือมุมมองปัจจุบันออกไปเสียก่อน เนื่องจากในปัจจุบันนั้นมีผู้คนล้นประเทศ แต่ในสมัยก่อนกลับตรงข้ามกัน เพราะผู้คนมีน้อย จึงจำเป็นต้องมีเชลยเพื่อเพิ่มกำลัง เพราะทั้งการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขต หรือการตั้งรับกับทัพศัตรูที่บุกมา หากมีกำลังมากกว่าก็ยิ่งรับประกันชัยชนะ

เมื่อมองจากตัวบทกฎหมายในสังคมไทย ก็ใช่ว่านายจะลงโทษหรือทารุณทาสได้ตามอำเภอใจ กฎหมายระบุชัดเจนว่าการลงโทษสูงสุดที่นายพึงทำต่อทาสคือเฆี่ยน มิใช่การฆ่าจนตาย และหากนายทำร้ายทาสจนถึงแก่ความตาย โทษทัณฑ์ที่นายต้องได้รับสูงสุดก็หนักถึงขั้นประหารชีวิต ดังนั้นการตัดสินว่าทาสในสยามลำบาก ถูกทารุณกรรมอย่างทรมาน อาจเป็นเพียงการตัดสินจากด้านเดียว หรืออาจเป็นการนำความคิดต่างชาติมาอธิบายทาสในบ้านเมืองเราเพียงเท่านั้น เหรียญย่อมมีสองด้าน เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องทาสในหลากหลายแง่มุม ย่อมพบข้อสังเกตที่แสดงถึงอีกด้านอันเป็นสุขของทาสเช่นกัน

ข้อสังเกตแรก ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งกล่าวไว้ว่าผลไม้ยอดนิยมของสยามประเทศในยุคนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากราชาผลไม้อย่างทุเรียน ซึ่งถือเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงอย่างยิ่ง (สมัยปัจจุบันนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมและแพงเช่นกัน) ลาลูแบร์เขียนไว้ว่าเพราะอยากกินทุเรียนมาก ชาวบ้าน หรือไพร่บางคนที่ไม่มีเงินก็ถึงขั้นขายตัวเองเป็นทาสเพื่อได้เงินมาซื้อทุเรียนกิน การยอมศิโรราบต่อราชาแห่งผลไม้เช่นนี้ อาจสะท้อนได้ว่าการเป็นทาสในสมัยนั้นคงไม่ลำบากมากนัก

ข้อสังเกตต่อมา มาจากคำกล่าวของฝรั่งผู้ใช้ชีวิตอยู่ ณ สยามประเทศมาเป็นเวลานานนั่นคือ พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศสผู้มาปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าทาสในสยามมีชีวิตที่ดีกว่าคนใช้ในฝรั่งเศสเสียอีก นอกจากนั้น จอห์น เบาว์ริง นักการทูตชาวอังกฤษ ยังได้นำคำกล่าวของสังฆราชผู้นี้มาใช้ยืนยันว่าทาสในสยามประเทศนั้นมีชีวิตดีกว่าคนใช้ในประเทศอังกฤษเช่นกัน

ข้อสังเกตเหล่านี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า "ทาส" ในสยามมิได้มีให้เห็นในด้านที่ทรมาน หรือลำบากแร้นแค้นเพียงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นไทย่อมดีกว่าเป็นทาส กระแสเรื่องการเลิกทาสมีเข้ามาในราชสำนักตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่รัชกาลที่ ๔ ทรงจ้างแอนนา ลีโอโนเวนส์ หรือแหม่มแอนนามาสอนภาษาอังกฤษให้แก่โอรสธิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในขณะนั้นก็ได้เล่าเรียนกับแหม่มแอนนาเช่นกัน พระองค์จึงได้รับทั้งความรู้และแนวคิดเรื่องการเลิกทาสจากแหม่มแอนนา ประโยคที่แหม่มแอนนาทูลต่อพระองค์ว่า

“เมื่อท่านขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท่านจะต้องเลิกทาสให้จงได้”

จึงกลายเป็นหมุดหมาย หรือพระราชปณิธานของพระองค์ว่าหากได้ขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์จะทรงเลิกทาสในสยามประเทศ ประกอบกับหมอบรัดเลย์ ผู้ออกหนังสือพิมพ์ Bangkok Recorder ยังได้เสนอว่า การเลิกทาสเป็นวิธีสร้างความเจริญประการหนึ่งให้แก่สยาม

ทว่าพระองค์ทรงตระหนักรู้ได้เป็นอย่างดีถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างนายกับทาส หากประกาศเลิกทาสอย่างฉับพลันกะทันหัน นายทาสย่อมไม่พอใจที่ต้องเสียแรงงานไปมากโข เช่นเดียวกับทาสบางคนที่คุ้นชินกับการพึ่งพาอาศัยคนเป็นนาย ไม่ต้องกังวลเรื่องการหาข้าวปลาอาหาร ชีวิตที่ไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบก็อาจไม่พอใจด้วยเช่นกัน การเลิกทาสในสยามจึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงที่ต้องใช้เวลาและการทำความเข้าใจอย่างยิ่งกับทุกฝ่าย


รายการอ้างอิง

  • ธิดา สาระยา. (2561). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ-เจ้าแผ่นดินสยาม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
  • วิชัย ศรีคำ, ศาสตราจารย์. สัมภาษณ์, 27 กุมภาพันธ์ 2563.
  • วุฒิชัย มูลศิลป์, รองศาสตราจารย์. สัมภาษณ์, 13 กุมภาพันธ์ 2563.
  • ส.พลายน้อย (นามแฝง). (2553). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำสำนักพิมพ์.
  • สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2556). ทาสสมัยอยุธยา. ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (บรรณาธิการ), ด้วยรัก เล่มที่ 4 ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม, หน้า 211-235. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

เรื่องเล่าจากละคร

ที่มาที่ไปของทาส

เรียบเรียงโดย : จักร ปานสมัย

ละครเรื่อง "ปลายจวัก" เผยภาพแทนชีวิตอันเปี่ยมสุขของบ่าวไพร่ในเรือน ไม่ว่าจะเป็นยายพัด คนสนิทของคุณนายช้อย หรือนางหนุ่ย คนสนิทของคุณทองสำลี นับเป็นภาพที่ต่างจากละครย้อนยุคเรื่องอื่น ๆ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าบ่าว ขึ้นชื่อว่าทาสแล้ว ย่อมมีแต่ความทรมาน ไร้อิสระ ทำอะไรผิดก็ถูกเฆี่ยนอย่างไร้ความปรานี (ละครบางเรื่อง ทาสไม่ได้ทำผิด แต่ถูกใส่ร้ายก็มี) ขณะที่ในละครปลายจวัก เหล่าเจ้านายล้วนมีใจเมตตาปรานีต่อบ่าวไพร่ของพวกเขาเหลือเกิน จึงน่าศึกษาต่อว่าที่มาที่ไปของทาสในสยามประเทศนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ และบรรดาทาสเหล่านี้มีความเป็นอยู่อย่างไร

"ทาส" ถือเป็นเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทาสมีอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่ปรากฏหลักฐานจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งมีท่อนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ได้ปั่วได้นาง” อันหมายถึงการจับเชลยศึกมาเป็นทาส จากที่แต่ก่อนเคยถกเถียงกันในแวดวงประวัติศาสตร์ว่าสมัยสุโขทัยยังไม่มีทาส ทว่าเมื่อศึกษาในมุมมองหรือแนวคิดใหม่ สุโขทัยจึงได้รับการยอมรับโดยดุษณีว่าปรากฏทาสจริง ๆ กระทั่งมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีหลักฐานปรากฏว่าทาสคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยเหตุนี้เรื่องราวของทาสจึงควรค่าแก่การศึกษาอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง

ในสยามประเทศ ราคาทาสแต่ละคนมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเพศและวัย หรืออายุของทาส ดังที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง หากอายุ หรือวัยฉกรรจ์ ค่าตัวก็จะสูง ถ้าอายุน้อย หรือสูงกว่าวัยฉกรรจ์ ค่าตัวก็จะค่อย ๆ ลดลง ทาสชายได้ค่าตัวสูงสุดถึง 56 บาท ในช่วงอายุ 26 - 40 ปี ส่วนทาสหญิงได้ค่าตัวสูงสุด 48 บาท อายุ 21 - 30 ปี หากต้องการหลุดพ้นจากทาส ก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การหาเงินมาไถ่ถอนตนเองให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส โดยต้องชำระให้ครบทั้งต้นทั้งดอก, นายทาสอนุญาตให้บวชเป็นพระ เณร หรือชี ก็ดี, การอาสาไปสงคราม ไปรบแทนนาย หากรอดกลับมาได้ก็ถือว่าเป็นอิสระ, การได้แต่งงานกับนายทาส, หากเห็นว่านายทาสเป็นกบฏ ฉ้อราษฎร์บังหลวงก็สามารถฟ้องร้องได้ หากนายทำผิดจริง ทาสก็จะได้เป็นไท หรือหากทาสคนใดใจกล้ามากพอก็หนีจากนายเข้าไป หรือไปอยู่เมืองอื่นเกินกว่านายจะตามจนพบ ก็ย่อมได้

มีคำถามเกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ว่าเหตุใดในสมัยก่อนจึงต้องมีทาส และเหตุใดคนในสมัยก่อนจึงยอมขายตัวให้เป็นทาส การตอบคำถามทั้งสองนี้ให้กระจ่าง จำเป็นต้องพิจารณาถึงบริบทยุคนั้นโดยตัดซึ่งอคติ ขจัดความคิดในบริบท หรือมุมมองปัจจุบันออกไปเสียก่อน เนื่องจากในปัจจุบันนั้นมีผู้คนล้นประเทศ แต่ในสมัยก่อนกลับตรงข้ามกัน เพราะผู้คนมีน้อย จึงจำเป็นต้องมีเชลยเพื่อเพิ่มกำลัง เพราะทั้งการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขต หรือการตั้งรับกับทัพศัตรูที่บุกมา หากมีกำลังมากกว่าก็ยิ่งรับประกันชัยชนะ

เมื่อมองจากตัวบทกฎหมายในสังคมไทย ก็ใช่ว่านายจะลงโทษหรือทารุณทาสได้ตามอำเภอใจ กฎหมายระบุชัดเจนว่าการลงโทษสูงสุดที่นายพึงทำต่อทาสคือเฆี่ยน มิใช่การฆ่าจนตาย และหากนายทำร้ายทาสจนถึงแก่ความตาย โทษทัณฑ์ที่นายต้องได้รับสูงสุดก็หนักถึงขั้นประหารชีวิต ดังนั้นการตัดสินว่าทาสในสยามลำบาก ถูกทารุณกรรมอย่างทรมาน อาจเป็นเพียงการตัดสินจากด้านเดียว หรืออาจเป็นการนำความคิดต่างชาติมาอธิบายทาสในบ้านเมืองเราเพียงเท่านั้น เหรียญย่อมมีสองด้าน เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องทาสในหลากหลายแง่มุม ย่อมพบข้อสังเกตที่แสดงถึงอีกด้านอันเป็นสุขของทาสเช่นกัน

ข้อสังเกตแรก ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งกล่าวไว้ว่าผลไม้ยอดนิยมของสยามประเทศในยุคนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากราชาผลไม้อย่างทุเรียน ซึ่งถือเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงอย่างยิ่ง (สมัยปัจจุบันนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมและแพงเช่นกัน) ลาลูแบร์เขียนไว้ว่าเพราะอยากกินทุเรียนมาก ชาวบ้าน หรือไพร่บางคนที่ไม่มีเงินก็ถึงขั้นขายตัวเองเป็นทาสเพื่อได้เงินมาซื้อทุเรียนกิน การยอมศิโรราบต่อราชาแห่งผลไม้เช่นนี้ อาจสะท้อนได้ว่าการเป็นทาสในสมัยนั้นคงไม่ลำบากมากนัก

ข้อสังเกตต่อมา มาจากคำกล่าวของฝรั่งผู้ใช้ชีวิตอยู่ ณ สยามประเทศมาเป็นเวลานานนั่นคือ พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศสผู้มาปฏิบัติหน้าที่มิชชันนารีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าทาสในสยามมีชีวิตที่ดีกว่าคนใช้ในฝรั่งเศสเสียอีก นอกจากนั้น จอห์น เบาว์ริง นักการทูตชาวอังกฤษ ยังได้นำคำกล่าวของสังฆราชผู้นี้มาใช้ยืนยันว่าทาสในสยามประเทศนั้นมีชีวิตดีกว่าคนใช้ในประเทศอังกฤษเช่นกัน

ข้อสังเกตเหล่านี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า "ทาส" ในสยามมิได้มีให้เห็นในด้านที่ทรมาน หรือลำบากแร้นแค้นเพียงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นไทย่อมดีกว่าเป็นทาส กระแสเรื่องการเลิกทาสมีเข้ามาในราชสำนักตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่รัชกาลที่ ๔ ทรงจ้างแอนนา ลีโอโนเวนส์ หรือแหม่มแอนนามาสอนภาษาอังกฤษให้แก่โอรสธิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในขณะนั้นก็ได้เล่าเรียนกับแหม่มแอนนาเช่นกัน พระองค์จึงได้รับทั้งความรู้และแนวคิดเรื่องการเลิกทาสจากแหม่มแอนนา ประโยคที่แหม่มแอนนาทูลต่อพระองค์ว่า

“เมื่อท่านขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท่านจะต้องเลิกทาสให้จงได้”

จึงกลายเป็นหมุดหมาย หรือพระราชปณิธานของพระองค์ว่าหากได้ขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์จะทรงเลิกทาสในสยามประเทศ ประกอบกับหมอบรัดเลย์ ผู้ออกหนังสือพิมพ์ Bangkok Recorder ยังได้เสนอว่า การเลิกทาสเป็นวิธีสร้างความเจริญประการหนึ่งให้แก่สยาม

ทว่าพระองค์ทรงตระหนักรู้ได้เป็นอย่างดีถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างนายกับทาส หากประกาศเลิกทาสอย่างฉับพลันกะทันหัน นายทาสย่อมไม่พอใจที่ต้องเสียแรงงานไปมากโข เช่นเดียวกับทาสบางคนที่คุ้นชินกับการพึ่งพาอาศัยคนเป็นนาย ไม่ต้องกังวลเรื่องการหาข้าวปลาอาหาร ชีวิตที่ไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบก็อาจไม่พอใจด้วยเช่นกัน การเลิกทาสในสยามจึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงที่ต้องใช้เวลาและการทำความเข้าใจอย่างยิ่งกับทุกฝ่าย


รายการอ้างอิง

  • ธิดา สาระยา. (2561). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ-เจ้าแผ่นดินสยาม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
  • วิชัย ศรีคำ, ศาสตราจารย์. สัมภาษณ์, 27 กุมภาพันธ์ 2563.
  • วุฒิชัย มูลศิลป์, รองศาสตราจารย์. สัมภาษณ์, 13 กุมภาพันธ์ 2563.
  • ส.พลายน้อย (นามแฝง). (2553). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำสำนักพิมพ์.
  • สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2556). ทาสสมัยอยุธยา. ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (บรรณาธิการ), ด้วยรัก เล่มที่ 4 ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม, หน้า 211-235. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

ละครดี ซีรีส์เด่น

ดูทั้งหมด
ละครบ้านชนะใจ

♫ ♫ Songs Popular ♫ ♫

ดูทั้งหมด

คลิปมาใหม่

คนดูเยอะ 👀

ดูทั้งหมด

เสน่ห์ประเทศไทย