ชุมชนประชานฤมิตร เป็นชุมชนดั้งเดิมของเขตบางซื่อ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยประชานฤมิตร 24 ซึ่งเป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 1 กับถนนกรุงเทพฯ - นนทบุรี พื้นที่ของชุมชนมีสภาพดั้งเดิมเป็นสวน คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำสวนผลไม้ เช่น สวนทุเรียน สวนมะม่วง และสวนขนุน เมื่อสภาพทางสังคมเปลี่ยนไปและความเจริญขยายเข้ามาอย่างรวดเร็ว มีคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น สภาพสวนเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรือนแถวไม้ ตึกแถว และอาคารพาณิชย์ โดยผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นช่างไม้ชาวจีนไหหลำที่ชักชวนกันมาอยู่เป็นกลุ่ม ทั้งในซอยนฤมิตรและในซอยไสวสุวรรณ โดยเป็นชาวจีนที่ประกอบอาชีพแกะสลักไม้และทำเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ และทำให้คนในชุมชนดั้งเดิมเปลี่ยนมาทำการค้าประเภทไม้แกะสลักเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ไม้ตกแต่งสำเร็จรูปมากขึ้น
โรงเลื่อยที่มาตั้งกิจการอยู่ในย่านบางโพนี้ จะตั้งเรียงรายอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณบางกระบือ บางโพ ไปจนเกือบถึงสะพานพระราม 6 รวมถึงชุมชนบางอ้อที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางล่องซุงลงมาจากภาคเหนือ เจ้าของโรงเลื่อยเหล่านี้จะซื้อไม้ซุงจากแพซุงที่ล่องลงมาตามแม่น้ำ นำมาเลื่อยเป็นไม้แปรรูปจำหน่าย โรงเลื่อยไม้แต่ละโรงมีท่าขึ้นไม้ซุงของตนเอง และชาวญวนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ บางกลุ่มยึดอาชีพล่องแพซุงลงมาจากนครสวรรค์
นอกจากนี้ บางโพยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตอุตสาหกรรมภาคกลางขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งจำหน่ายไม้สักแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ มีร้านค้าที่ผลิตหรือจำหน่ายไม้แปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ต่าง ๆ ยิ่งทำให้เกิดเป็นย่านค้าไม้ที่สำคัญของกรุงเทพฯ
ต่อมา ใน พ.ศ. 2532 รัฐบาลประกาศปิดป่า ห้ามตัดไม้ ทำให้เจ้าของโรงเลื่อยต้องซื้อไม้ซุงจากต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว มาเลเซีย กัมพูชา การขนส่งซุงจากทางน้ำมาใช้รถบรรทุกแทน และมีการลดการผลิตลง โรงเลื่อยหลายแห่งปิดกิจการ เปลี่ยนไปจำหน่ายไม้อัด ไม้แปรรูป วัสดุทดแทนไม้
กระทั่ง พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจค้าไม้เริ่มชลอตัว และในปี พ.ศ. 2541 สำนักงานเขตบางซื่อ เห็นว่าชุมชนนี้มีความพิเศษในเรื่องของงานไม้ จึงเข้าส่งเสริมเศรษฐกิจท้องที่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น จึงเกิดเป็นโครงการ “ถนนสายไม้” และปัจจุบันได้มีการขยายเครือข่ายร่วมกับทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาชุมชน สืบทอดในสายงานของช่างไม้ไม่ให้สูญสลายไป
ติดตามชมได้ในรายการ จากรากสู่เรา ตอน ชุมชนประชานฤมิตร จากสวนผลไม้ สู่ถนนสายไม้แห่งบางโพ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2565 เวลา 21.45 - 22.15 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมผ่านทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Live
ชุมชนประชานฤมิตร เป็นชุมชนดั้งเดิมของเขตบางซื่อ ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยประชานฤมิตร 24 ซึ่งเป็นซอยเชื่อมระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 1 กับถนนกรุงเทพฯ - นนทบุรี พื้นที่ของชุมชนมีสภาพดั้งเดิมเป็นสวน คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำสวนผลไม้ เช่น สวนทุเรียน สวนมะม่วง และสวนขนุน เมื่อสภาพทางสังคมเปลี่ยนไปและความเจริญขยายเข้ามาอย่างรวดเร็ว มีคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น สภาพสวนเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรือนแถวไม้ ตึกแถว และอาคารพาณิชย์ โดยผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นช่างไม้ชาวจีนไหหลำที่ชักชวนกันมาอยู่เป็นกลุ่ม ทั้งในซอยนฤมิตรและในซอยไสวสุวรรณ โดยเป็นชาวจีนที่ประกอบอาชีพแกะสลักไม้และทำเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ และทำให้คนในชุมชนดั้งเดิมเปลี่ยนมาทำการค้าประเภทไม้แกะสลักเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ไม้ตกแต่งสำเร็จรูปมากขึ้น
โรงเลื่อยที่มาตั้งกิจการอยู่ในย่านบางโพนี้ จะตั้งเรียงรายอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณบางกระบือ บางโพ ไปจนเกือบถึงสะพานพระราม 6 รวมถึงชุมชนบางอ้อที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางล่องซุงลงมาจากภาคเหนือ เจ้าของโรงเลื่อยเหล่านี้จะซื้อไม้ซุงจากแพซุงที่ล่องลงมาตามแม่น้ำ นำมาเลื่อยเป็นไม้แปรรูปจำหน่าย โรงเลื่อยไม้แต่ละโรงมีท่าขึ้นไม้ซุงของตนเอง และชาวญวนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ บางกลุ่มยึดอาชีพล่องแพซุงลงมาจากนครสวรรค์
นอกจากนี้ บางโพยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตอุตสาหกรรมภาคกลางขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งจำหน่ายไม้สักแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ มีร้านค้าที่ผลิตหรือจำหน่ายไม้แปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ต่าง ๆ ยิ่งทำให้เกิดเป็นย่านค้าไม้ที่สำคัญของกรุงเทพฯ
ต่อมา ใน พ.ศ. 2532 รัฐบาลประกาศปิดป่า ห้ามตัดไม้ ทำให้เจ้าของโรงเลื่อยต้องซื้อไม้ซุงจากต่างประเทศ เช่น พม่า ลาว มาเลเซีย กัมพูชา การขนส่งซุงจากทางน้ำมาใช้รถบรรทุกแทน และมีการลดการผลิตลง โรงเลื่อยหลายแห่งปิดกิจการ เปลี่ยนไปจำหน่ายไม้อัด ไม้แปรรูป วัสดุทดแทนไม้
กระทั่ง พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจค้าไม้เริ่มชลอตัว และในปี พ.ศ. 2541 สำนักงานเขตบางซื่อ เห็นว่าชุมชนนี้มีความพิเศษในเรื่องของงานไม้ จึงเข้าส่งเสริมเศรษฐกิจท้องที่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น จึงเกิดเป็นโครงการ “ถนนสายไม้” และปัจจุบันได้มีการขยายเครือข่ายร่วมกับทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาชุมชน สืบทอดในสายงานของช่างไม้ไม่ให้สูญสลายไป
ติดตามชมได้ในรายการ จากรากสู่เรา ตอน ชุมชนประชานฤมิตร จากสวนผลไม้ สู่ถนนสายไม้แห่งบางโพ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2565 เวลา 21.45 - 22.15 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมผ่านทีวีออนไลน์ทาง www.thaipbs.or.th/Live