ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อย่าบอกแค่ NASA เพราะ NASA นั้นแสนกว้างใหญ่


Logo Thai PBS
แชร์

อย่าบอกแค่ NASA เพราะ NASA นั้นแสนกว้างใหญ่

https://www.thaipbs.or.th/now/content/729

อย่าบอกแค่ NASA เพราะ NASA นั้นแสนกว้างใหญ่
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

รู้จักกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ NASA เพราะ NASA ไม่ใช่แค่หน่วยงานเดียวที่ทำทุกอย่างเกี่ยวกับอวกาศ แต่เกิดจากหลาย ๆ หน่วยงานย่อยภายใน ทางที่ดีควรระบุว่าเรากำลังพูดถึงหน่วยงานไหนอยู่

เวลาที่เราอ่านข่าวอวกาศ หรือรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ แน่นอนว่าหากพูดถึงการสำรวจอวกาศในสหรัฐอเมริกา ชื่อของหน่วยงานที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอก็คือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การ NASA (National Aeronautics and Space Administration) ซึ่งเป็นชื่อที่พูดกันติดปากอย่างมาก อย่างไรก็ตามการกล่าวถึง NASA นั้นแท้จริงแล้วมีมิติที่ลึกมากกว่าเป็นแค่หน่วยงานเพียงหนึ่งหน่วยงาน เพราะ NASA มีหน่วยงานย่อยต่าง ๆ ที่แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ จนถึงอาจมีการแบ่งงาน แบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนราวกับว่าเป็นคนละองค์กรกัน การที่เราอ้างถึงชื่อ NASA ขึ้นมาลอย ๆ นั้นอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดหรือการไม่เข้าใจกระบวนการทำงานภายใต้หน่วยงานอวกาศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกนี้ได้ ดังนั้นในบทความนี้จะมาอธิบายลักษณะโครงสร้างองค์กรของ NASA กัน

สิ่งแรกที่ควรรู้ก็คือ NASA นั้นไม่ได้สังกัดอยู่ใต้กระทรวง (Department) ใดกระทรวงหนึ่งของสหรัฐฯ แต่จะดำเนินการโดยการแต่งตั้งผู้อำนวยการ (Administrator) โดยประธานาธิบดี ซึ่งจะได้รับการรับรองจากสมาชิกวุฒิสภา (Senate) และจะมีผู้อำนวยการฝ่ายย่อยลงไป เช่น การดูแลภารกิจการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ (Human Exploration and Operations Mission Directorate) การดูแลกิจการงานวิจัย (Science Mission Directorate) และการพัฒนาเทคโนโลยี (Aeronautics Research Mission Directorate) เป็นต้น

เราอาจเรียกหน่วยงานที่กล่าวถึงข้างต้นได้ว่าเป็นหน่วยงานแม่ใหญ่ที่ทำหน้าที่วางนโยบายภาพรวม ซึ่งผู้อำนวยการของ NASA นั้น จะทำงานร่วมกับรองประธานาธิบดีโดยตรง ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นความสัมพันธ์เชิงการเมืองค่อนข้างบ่อย เช่น กรณีของรัฐบาลยุคโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ซึ่งมีรองประธานาธิบดีเป็นไมก์ เพนซ์ (Mike Pence) และมีผู้อำนวยการ NASA เป็น จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstein) ทั้งหมดนี้มาจากขั้วการเมืองฝั่งพรรคริพับลิกัน (Republican)

หรือยุคปัจจุบันในรัฐบาลโจ ไบเดน (Joe Biden) และรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ซึ่งมีผู้อำนวยการ NASA เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาบิล เนลสัน (Bill Nelson) ที่มาจากขั้วการเมืองฝั่งเดโมแครต (Democratic)

และนอกเหนือจาก NASA สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงแล้ว NASA ก็ได้มีศูนย์ของตัวเองกระจายอยู่ทั่วสหรัฐฯ ซึ่งรับหน้าที่การทำงานแตกต่างกันออกไปตามความเชี่ยวชาญ เช่น

Jet Propulsion Laboratory

1. NASA Jet Propulsion Laboratory

ตั้งอยู่ที่เมืองพาซาดีนา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ NASA ที่แปลกที่สุด เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาก่อน NASA จะก่อตั้ง เจ้าของจริง ๆ ของ Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL นั้นคือสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (Caltech) ความสัมพันธ์คือ Caltech นั้นดูแลและบริหาร JPL โดยที่ JPL นั้นจะใช้เงินทุนประจำปี (Fiscal Year) ของ NASA ซึ่ง JPL รับหน้าที่ตั้งแต่การทำภารกิจการสำรวจอวกาศโดยหุ่นยนต์ เช่นยานสำรวจดาวอังคาร ยานสำรวจดาวพฤหัสบดี หรือโครงการระดับตำนานอย่างโวยาเจอร์ (Voyager) เป็นผู้บริหารระบบสื่อสาร Deep Space Network ไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับ NASA เช่น การสื่อสารด้วยเลเซอร์

Ames Research Center

2. NASA Ames Research Center

ตั้งอยู่ในเมืองซานตาคลารา แคลิฟอร์เนีย เป็นศูนย์วิจัยแห่งเดียวของ NASA ที่อยู่ใจกลางซิลิคอนแวลลีย์ ซึ่งรวบรวมนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านระบบหุ่นยนต์ (Robotics) วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และนักวิจัยสายอื่น ๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ วัสดุศาสตร์ การบินด้วยคอมพิวเตอร์ (Fly-By-Wire) และเป็นผู้พัฒนาระบบต่าง ๆ ให้กับ NASA มากมาย

Kennedy Space Center

3. NASA Kennedy Space Center

เป็นหน่วยงานที่เรามักจะเห็นภาพบ่อยที่สุดคือภาพอาคารประกอบจรวดขนาดใหญ่ (Vehicle Assembly Building) ตั้งอยู่ที่แหลมคะเนอเวอรัล ในรัฐฟลอริดา รับหน้าที่ดูแลการปล่อยจรวด ยานอวกาศ และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานคาบเกี่ยวกับการก่อตั้งของ NASA เนื่องจากเป็นสถานที่แห่งแรกที่ทำให้การเดินทางสู่อวกาศเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งศูนย์อวกาศแห่งนี้มักจะได้ยินชื่อควบคู่กับ Cape Canaveral Space Force Station หรือ CCSFS ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานกันและ CCSFS นั้นจะอยู่ภายใต้สังกัดกองทัพอวกาศ (Space Force) ของสหรัฐฯ อาจมีการทำงานร่วมกันในการปล่อยบางภารกิจ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง

Johnson Space Center

4. NASA Johnson Space Center

เป็นหน่วยงานที่เราอาจไม่ได้ยินชื่อกันบ่อยนัก แต่ถ้าบอกว่ามันคือ “ฮิวส์ตัน” เราอาจจะเข้าใจได้ทันที เพราะหน่วยงาน Johnson Space Center นี้รับหน้าที่ในการดูแลฝึกหัดนักบินอวกาศ ตลอดไปจนถึงดูแลนักบินอวกาศในภารกิจ ดูแลโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ความเป็นอยู่ของนักบินอวกาศ และติดต่อสื่อสารกับนักบินอวกาศที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินนักบินอวกาศเรียกศูนย์บัญชาการว่า “ฮิวส์ตัน” นั่นก็เพราะว่า Johnson Space Center ตั้งอยู่ในเมืองฮิวส์ตัน รัฐเท็กซัส นั่นเอง

Goddard Space Flight Center

5. NASA Goddard Space Flight Center

เป็นหน่วยงานที่พัฒนาเทคโนโลยีหลายอย่าง รวมถึงทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์โลก บรรยากาศ จัดการกับข้อมูลมหาศาลของยานอวกาศหลาย ๆ ลำที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในอวกาศ เรียกได้ว่าเป็นเหมือนกับคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของการสำรวจระบบสุริยะ ตั้งอยู่ในรัฐแมรีแลนด์ และยังทำหน้าที่ดูแลฐานปล่อย Wallops Flight Facility ด้วยเช่นกัน

Marshall Space Flight Center

6. NASA Marshall Space Flight Center

เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีขับเคลื่อนทั้งจรวดและยานอวกาศ ซึ่งอาจจะฟังดูขัดกันกับ Jet Propulsion Laboratory ที่ไม่ได้รับหน้าที่ทำเครื่องยนต์จรวดให้กับ NASA แต่อย่างใด ซึ่ง Marshall Space Flight Center นี้ก็เป็นผู้รับหน้าที่ดูแลสายการผลิตจรวดให้กับ NASA เช่น จรวด Space Launch System หรือ SLS ที่ถูกใช้ในการส่งนักบินอวกาศกลับไปยังดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทิมิส

สำนักงานใหญ่ของ NASA ในกรุงวอชิงตัน ดีซี.jpg

7. หน่วยงานอื่น ๆ ภายใต้สังกัด

ซึ่งเหล่านี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ในเว็บไซต์ของ NASA (https://www.nasa.gov/centers-and-facilities/) ได้ระว่า NASA เองมีหน่วยงานภายใต้สังกัดมากถึง 20 หน่วยงาน เช่น NASA Stennis Space Center ศูนย์ Neil Armstrong Test Facility รวมถึงหน่วยงานที่เป็นเฉพาะฐานปล่อยอย่าง Wallops Flight Facility ที่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นฐานปล่อยจรวดในภารกิจเติมเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานชาติ นอกเหนือจาก Kennedy Space Center หรือหน่วยงานที่ศึกษาด้านความปลอดภัยอย่าง NASA Safety Center ในรัฐโอไฮโอ

นอกจากนี้เนื่องจาก NASA เป็นองค์กรรัฐฯ จึงต้องมีคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบการทำงานและความสมเหตุสมผลเพื่อคานอำนาจกันด้วย

ตราสัญลักษณ์ NASA ในปัจจุบัน และเท้าของบิล เนลสัน แพม เมอรอย และบ็อบ คาบานา สามผู้บริหารหลัก

และด้วยเหตุผลที่ว่า NASA นั้นเป็นการรวมกันของหน่วยงานหลาย ๆ ภาคส่วนที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป การกล่าวถึงชื่อหน่วยงาน จึงช่วยให้บริบทว่าแท้จริงแล้วเรากำลังพูดถึงองค์กรใดอยู่ เช่น ยานอวกาศเพอร์เซเวียแรนซ์ได้รับการออกแบบและดูแลโดย NASA Jet Propulsion Laboratory หรือการปล่อยจรวด เกิดขึ้นที่ NASA Kennedy Space Center หลังการปล่อย การควบคุมจะถูกโอนย้ายไปที่ NASA Johnson Space Center ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ใครเป็นใครใน NASA นั่นเอง

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

องค์การนาซานาซาฺNASAอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด