ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

5 คำถามคลายสงสัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น


Insight

27 ธ.ค. 65

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

5 คำถามคลายสงสัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น

https://www.thaipbs.or.th/now/content/45

5 คำถามคลายสงสัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจุบันประเทศไทยได้ถอด “โควิด-19” จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว โดยยังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ "โอมิครอน" ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในจำนวนสูงอยู่ แต่อาการรุนแรงน้อยกว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า

ล่าสุด รัฐบาลได้ออกคำแนะนำให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ ลดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต โดยออกนโยบายการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมในแต่ละจังหวัดไม่น้อยกว่า 60%

Thai PBS Solutions วันนี้ ได้ร่วมพูดคุยกับ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เกี่ยวกับ 5 คำถามที่คนสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ไม่ว่าเป็นประเด็นการฉีดวัคซีนหลายเข็ม จะเกิดผลกระทบต่อร่างกายไหม ถ้าไม่ฉีดจะได้ไหม สรุปแล้วคนไทยต้องฉีดวัคซีนกี่เข็ม ร่วมค้นหาคำตอบในข้อสงสัยได้ที่นี่..

1.) ฉีดวัคซีนหลายเข็ม จะมีผลกระทบกับร่างกายไหม?

"อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเดี๋ยววัคซีนจะเข้าไปสะสมในร่างกาย อันนี้เข้าใจผิดแน่ ๆ" นพ.นคร รีบอธิบายให้เข้าใจใหม่ ในเรื่องผลกระทบเมื่อฉีดวัคซีนหลายเข็ม

นพ.นคร เผยต่อว่า การฉีดวัคซีนหลาย ๆ เข็มนั้น ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเรื่องของความปลอดภัยใด ๆ เมื่อวัคซีนถูกฉีดเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็จะเกิดกระบวนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากนั้น วัคซีนก็ถูกทำลายไปตามระบบของร่างกาย

"ตัววัคซีนไม่ได้คงอยู่หรือค้างอยู่ในร่างกาย สิ่งที่ค้างอยู่ในร่างกาย คือ ระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาแต่สิ่งที่ยังคงอยู่ คือ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมาเอง เพื่อให้ร่างกายเราแข็งแรง และต่อสู้กับโรคภัยได้ดีขึ้น หลังจากที่ได้รับวัคซีน" ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุ

2.) ฉีดวัคซีนเข็ม 5 ต้องบูสต์เข็ม 6 หรือไม่?

นพ.นคร กล่าวว่า หากประชาชนฉีดเข็มที่ 5 มานานมากกว่า 6 เดือนแล้ว ก็ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ ควรเว้นระยะห่างจากการฉีดเข็มล่าสุดประมาณ 4-6 เดือน จึงจะสามารถเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ อนาคตหากมีข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ระยะห่างของการฉีดอาจจะห่างได้มากกว่านี้

หากอนาคตเชื้อมีการกลายพันธุ์ไปอีก และมีแนวโน้มว่าจะเกิดการระบาดได้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นระยะเวลาก็อาจจะยังเท่าเดิมอยู่ เนื่องจากวิชาการ ความรู้ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ยังไม่นิ่ง เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงต้องติดตามดูข้อมูลทางวิชาการไปเรื่อย ๆ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะมีพฤติกรรมต่างออกไปอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป

3.) สรุปแล้ว ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดกี่เข็ม?

นพ.นคร อธิบายว่า หากได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มานานกว่า 4-6 เดือนแล้ว ก็ควรไปรับเข็มที่ 4 ถ้าใครที่รับเข็มที่ 4 มานานกว่า 6 เดือน ก็ควรไปรับเข็มที่ 5

"เราไม่ได้บอกว่า เท่านั้นพอ เท่านี้พอ เพราะถ้านับอย่างวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เราฉีดทุกปี ถ้าฉีดกันมา 10 กว่าปี ก็ 10 กว่าเข็ม ดังนั้น เราไม่ได้มานั่งนับจำนวนเข็ม ว่าเราต้องฉีดทุกเท่าไร แต่นับตามระยะเวลา เพราะว่าเวลาเราฉีดไปนานพอสมควร ระดับภูมิคุ้มกันก็จะลดลง" ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าว

4.) ฉีดวัคซีนเยอะแล้ว ไม่ฉีดจะเป็นอะไรไหม?

นพ.นคร เผยว่า มีความเสี่ยงที่จะป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งการป่วยนั้น จะมีอาการรุนแรงหรือไม่รุนแรง ขึ้นอยู่กับคนซึ่งตอบได้ยากเหมือนกัน แต่เมื่อเทียบกันระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีน กับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน นั้น พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีโอกาสเกิดโรคที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่ามาก หลายเท่า

"ผมถึงพยายามเรียนว่า กลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วม ซึ่งคนกลุ่มนี้คาดการณ์ได้ยากว่า เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว จะมีอาการรุนแรงน้อย ก็ไม่ได้เสมอไป เพราะเมื่อเกิดป่วยขึ้นมา โอกาสที่จะมีอาการป่วยรุนแรงมีมากกว่าประชาชนทั่วไป

5.) วัคซีนรุ่นเก่า ยังป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?

นพ.นคร กล่าวว่า แม้ว่าจะเจอกับเชื้อที่เป็นโอมิครอนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึง ณ วันนี้ วัคซีนที่ใช้กันยังคงเป็นวัคซีนดั้งเดิม สูตรเดิม สายพันธุ์ตั้งต้น ยังคงใช้การได้ดีเหมือนเดิม ถูกพิสูจน์ด้วยสถานการณ์ว่า การที่ได้ใช้วัคซีนที่มีอยู่ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องไปเร่ง หรือไม่ไล่ตามเชื้อไวรัส ซึ่งโดยความเป็นจริง การพัฒนาวัคซีนอาจไล่ตามไวรัสได้ยาก

ขณะที่ ณ วันนี้ ต่างประเทศได้พัฒนาวัคซีนโอมิครอนได้สำเร็จ โลกก็พบกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ใช่โอมิครอน นั่นคือ ตัวอย่างที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนรุ่นที่ 2 หรือวัคซีน 2 สายพันธุ์ใด ๆ ณ เวลานี้ วัคซีนที่มีอยู่ ยังใช้การได้ดี แม้ว่าจะเป็นโอมิครอน เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม ก็จะมีอาการน้อยมาก

"เราเห็นคนใกล้ชิดเราตั้งหลายคน ที่ป่วยเป็นโควิด-19 แล้วอาการไม่รุนแรง ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์เมื่อตอนที่สายพันธุ์เดลต้าระบาดเมื่อตอนปี 2564 ต่างกันมากเลย จำนวนคนป่วยก็เยอะ คนป่วยที่มีอาการรุนแรงก็เยอะ นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าวัคซีนยังคงใช้การได้" ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มล่าสุดมานานเกินกว่า 6 เดือนแล้ว ขอให้เข้ามารับเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอเพื่อลดโอกาสเกิดความรุนแรงของโรค อีกข้อหนึ่งคือ หากไวรัสกลายพันธุ์ไป อาจจะทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ ย้ำว่า "วัคซีนเข็มกระตุ้น" มีความจำเป็น มารับวัคซีนกันได้

"ฉีดวัคซีนไม่ต้องรอ คือ รอวัคซีนรุ่นต่อ ๆ ไป หากปีหน้ามีวัคซีนรุ่นที่สองมา และมีข้อมูลด้านวิชาการเพียงพอ จะฉีดเพิ่มอีกหรือไม่ก็ค่อยไปดูกันอีกครั้ง ณ เวลานี้ควรฉีดเท่าที่มีไปก่อน พร้อมกับช่วยกันดูแลผู้สูงอายุครับ" ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ฝากทิ้งท้าย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนเข็มกระตุ้นโควิด-19วัคซีนโควิด-19
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด