แม้แต่สสารที่พุ่งทะยานออกมาจากหลุมดำก็ยังพุ่งชนวัตถุปริศนาและหายไปในความมืดได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ยากและเต็มไปด้วยข้อสงสัย เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราพบกระแสอนุภาคพลังงานสูงจากหลุมดำพุ่งชนวัตถุปริศนาที่ขวางทางและหายไปอย่างลึกลับ
การค้นพบนี้เกิดขึ้นในกาแล็กซีชื่อเซนทอรัส เอ (Cen A) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 12 ล้านปีแสง นักดาราศาสตร์ศึกษากาแล็กซีเซนเอมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากมีหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่ตรงกลางซึ่งส่งเจ็ตอันน่าทึ่งออกมาทอดยาวไปทั่วทั้งกาแล็กซี (กระแสเจ็ตเหล่านี้แผ่ขยายไปไกลถึง 30,000 ปีแสง) หลุมดำปล่อยเจ็ตอนุภาคพลังงานสูงนี้ออกมาไม่ใช่จากภายในหลุมดำ แต่จากสนามแรงโน้มถ่วงและสนามแม่เหล็กที่รุนแรงรอบ ๆ หลุมดำสร้างขึ้น
ปรากฏว่าจากการสังเกตการณ์โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา กระแสเจ็ตที่พุ่งทะยานออกมาจากหลุมดำแห่งนี้หายเข้าไปในแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ที่มีรูปร่างเป็นตัววี (V) ปริศนาที่จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีใครตอบได้ว่ามันคือเทห์ฟ้าอะไร ซึ่งในตอนนี้นักดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อมันไว้ว่าตำแหน่ง C4 ซึ่งเป็นจุดที่ลำเจ็ตชนกับวัตถุปริศนานี้
จนถึงขณะนี้นักดาราศาสตร์ไม่อาจทราบได้ว่าตำแหน่ง C4 มีวัตถุมีอะไรอยู่ข้างในเนื่องจากไกลเกินกว่าที่จะมองเห็นรายละเอียดของวัตถุที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้ ลักษณะที่โดดเด่นของวัตถุในพื้นที่ C4 นี้คือ มีแขนสองข้างยาวข้างละ 700 ปีแสง ซึ่งบ่งบอกถึงความปั่นป่วนของระบบที่อยู่ภายในนั้น คาดว่าอาจเป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ ซึ่งรังสีเอกซ์เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดจากการปะทะระหว่างกระแสเจ็ตกับลมจากดาว และความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นอาจเกิดเพิ่มความหนาแน่นของก๊าซที่อยู่ภายในระบบของดาวฤกษ์นี้ก่อให้เกิดรูปทรงตัววีที่เราพบเห็นผ่านทางกล้องโทรทรรศน์นี้
สิ่งที่ทำให้ C4 นั้นพิเศษไปมากกว่าเหตุการณ์อื่นคือ นี่เป็นครั้งแรกที่พบรูปร่างของกลุ่มก๊าซที่อยู่ในรูปร่างของตัววี เพราะเนื่องจากอดีตมีการค้นพบลำเจ็ตที่พุ่งชนกับเทหวัตถุหรือดาวฤกษ์มาก่อน แต่รูปร่างของวัตถุที่เปร่งรังสีเอกซ์ออกมานั้นจะอยู่รูปร่างของวงรี ไม่เคยมีการพบวัตถุที่มีรูปร่างวีที่เกิดจากการชนในลักษณะนี้มาก่อน อีกทั้ง มุมของแขนข้างหนึ่ง ที่เอียงไปจากแนวเจ็ตมาก เป็นเรื่องที่ยังอธิบายไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับรูปแบบการปั่นป่วนทั่วไป นักดาราศาสตร์คาดว่า รูปทรงพิเศษนี้อาจเกี่ยวข้องกับประเภทของวัตถุที่ถูกชนหรือมุมปะทะของลำเจ็ตและวัตถุชนิดนั้นที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้
เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบการชนของลำแสงเจ็ตกับวัตถุและก่อให้เกิดการปั่นป่วนจนรูปร่างของลำแสงออกมาเป็นตัววีที่มีมุมปะทะที่แปลกประหลาด เป็นปรากฏการณ์ที่พบในเอกภพ ทำให้การศึกษาวัตถุนี้ช่วยเพิ่มพูนความรู้ของเราเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างลำเจ็ตจากหลุมดำกับเทหวัตถุต่าง ๆ ในเอกภพ และเสริมสร้างความเข้าใจในด้านของบทบาทของลำเจ็ตพลังงานสูงในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของจักรวาล
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech