ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : คลิป "AI Deepfake" อ้างหมอชื่อดังถูกวางระเบิดเพราะแฉบริษัทยา


Verify

6 ธ.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : คลิป "AI Deepfake" อ้างหมอชื่อดังถูกวางระเบิดเพราะแฉบริษัทยา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2000

ตรวจสอบพบ : คลิป "AI Deepfake" อ้างหมอชื่อดังถูกวางระเบิดเพราะแฉบริษัทยา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กปลอม โพสต์คลิปรายการข่าวช่องดัง ออกข่าวหมอชื่อดังถูกวางระเบิด เหตุออกมาแฉบริษัทยา และเรียกร้องให้ทานยาทำความสะอาดหลอดเลือดแทน ตรวจสอบพบเป็นคลิปปลอมด้วย "AI Deepfake"

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอโฆษณาเฟซบุ๊กโพสต์คลิปปลอม

กระบวนการตรวจสอบ

Thai PBS Verify พบโฆษณาจากเพจชื่อ "Best Nurse" โพสต์คลิปวิดีโอ โดยระบุข้อความว่า 
มีวิดีโอสำคัญมากอยู่เบื้องหลังภาพนี้!
วิดีโอนี้จะทำให้คุณมีสุขภาพที่ดี!
รีบดูก่อนคลิปจะถูกลบ!

 

คลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นภาพของรายการข่าวชื่อดังช่องหนึ่ง ซึ่งมีภาพของ นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว กำลังอ่านข่าวของ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบโรคทางเดินหายใจ โดยมีเนื้อหาระบุว่า รถของ นพ.มนูญ เกิดเหตุระเบิด เนื่องจากออกมาเปิดเผยพฤติกรรมของบริษัทยา นอกจากนี้ยังมีการแอบอ้าง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในคลิปดังกล่าวอีกด้วย

ภาพบันทึกหน้าจอโฆษณาเฟซบุ๊กโพสต์คลิปปลอมแสดงภาพของผู้ที่ถูกแอบอ้าง

สำหรับเนื้อหาในคลิปดังกล่าว อ้างว่า  นพ.มนูญ เป็นผู้ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมจากการถูกบริษัทยาข่มขู่ และยังได้ทำยาสำหรับทำความสะอาดหลอดเลือดซึ่งเป็นยาสมุนไพร ออกมาจำหน่ายให้กับผู้ป่วยในราคาถูก

เราตรวจสอบไปยังเพจดังกล่าวพบว่า เพจดังกล่าวเพิ่งสร้างเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ดูแลอยู่ในสหรัฐอเมริกา สร้างเพจในหมวดหมู่ของบริการด้านการแพทย์ แต่นอกจากการลงโฆษณาแล้ว ภายในเพจกลับไม่มีการลงข้อมูลหรือเนื้อหาอื่น ๆ แต่อย่างใด ซึ่งการใช้งานของเพจล่าสุด พบว่ามีความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความเคลื่อนไหวของเพจปลอม

จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ เราพบว่าภาพของ นพ.มนูญ ในคลิปดังกล่าว ตรงกับภาพจากคลิปของช่องยูทูบ "Spring News" ที่ นพ.มนูญ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นเนื้อหาเตือนให้เฝ้าระวังเรื่องของไวรัสโควิด-19

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพจากโพสต์ปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับภาพจากคลิปของช่องยูทูบ Spring News ที่ได้โพสต์ไว้เมื่อ 2 ปีก่อน (ขวา)

นพ.มนูญ ยืนยันกับ Thai PBS Verify ระบุว่า คลิปดังกล่าวเป็นการแอบอ้าง ด้วยการนำภาพที่ตนเองเคยให้สัมภาษณ์และใช้เสียงสังเคราะห์ มาสร้างเป็นคลิปวิดีโอดังกล่าวขึ้น โดยหลังจากที่คลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้โทรศัพท์และสอบถามเข้ามาหาตนเองเป็นจำนวนมาก ว่าตนถูกระเบิดจริงหรือไม่ 

รวมถึงสอบถามว่า ยาที่ตนเองโฆษณาในคลิปดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดถือว่าสร้างความเสียหายให้กับตนเองในฐานะแพทย์เป็นอย่างมาก โดยตนได้แจ้งความเอาไว้แล้ว แต่ข่าวปลอมดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งตนอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาระงับโพสต์ดังกล่าว เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนทั่วไป

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบโรคทางเดินหายใจ

นอกจากนี้การโฆษณาว่าให้หยุดยาจากเคมีทั้งหมด และใช้ยาสมุนไพรในการรักษา หรือการทานยาสมุนไพรเพื่อทำความสะอาดหลอดเลือด ถือว่าอันตรายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันสูง หรือโรคไขมันในเส้นเลือดสูง หากหยุดยาทันทีอาจทำให้ความดันเพิ่มสูงขึ้น หรือทำให้เส้นเลือดในสมองแตก หรืออาจทำให้เส้นเลือดตีบจนหัวใจวาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และไม่ควรจะทำอย่างยิ่ง และการที่ไปให้ข้อมูลหลอกให้ไปรับประทานยาสมุนไพรที่ไม่มีการรับรอง ก็ยิ่งเป็นอันตรายด้วยเช่นเดียวกัน

เทคโนโลยี AI Deepfake คืออะไร ?

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เทคโนโลยี Deepfake เป็นหลักการในการสร้างวิดีโอโดยใช้ AI ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องดี ๆ ได้ แต่จากกรณีตัวอย่างนี้ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยี Deepfake อย่างไม่มีจริยธรรม

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ได้ระบุถึงข้อสังเกตของคลิปดังกล่าว ว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี Deepfake ซึ่งสังเกตง่าย ๆ คือ
1. การขยับริมฝีปาก ไม่ sync กับคำพูด
2.  การเคลื่อนไหวจะไม่ smooth เพราะมีการตัดต่อวิดีโอ 
3. ท่าทางเคลื่อนไหวจะซ้ำ ๆ เหมือนวนลูป
4. สำนวนที่ใช้ หรือการใช้ภาษา มักจะไม่ใช่ลักษณะที่ใช้จริง ซึ่งคลิปดังกล่าวน่าจะเป็นสำเนียงของคนต่างชาติ ที่ใช้เครื่องมือแปลภาษา แปลเป็นภาษาไทย เพราะส่วนใหญ่คนไทย จะไม่เรียกแทนตัวเองว่า "ฉัน" โดยเฉพาะผู้ชาย

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

คลิปโฆษณาดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจส่งข้อความสอบถามจำนวนมาก โดยมีผู้กดถูกใจกว่า 25,000 คน ส่งข้อความเข้าไปยังโฆษณาดังกล่าวกว่า 1,000 ครั้้ง และแชร์ข้อมูลเท็จนี้ไปถึง 2,700 ครั้ง โดยผู้ที่เข้าไปสอบถามส่วนใหญ่ล้วนต้องการสอบถามถึงข้อมูลของยาดังกล่าวว่าจะสามารถหาซื้อได้ที่ใด ขณะที่ส่วนหนึ่งแสดงความรู้สึกเป็นห่วง นพ.มนูญ

 

ภาพบันทึกแสดงผู้ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในโฆษณาดังกล่าว


 

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

หากพบโฆษณาหรือโพสต์ในลักษณะดังกล่าว

✅ พึงระวังไว้เสมอว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือมิจฉาชีพ 

✅ ถามผู้รู้ก่อนตัดสินใจเชื่อ 

✅ สังเกตการขยับริมฝีปาก ไม่ sync กับคำพูด 

✅ สังเกตการเคลื่อนไหวจะไม่ smooth เพราะมีการตัดต่อวิดีโอ 

✅ สังเกตท่าทางเคลื่อนไหวจะซ้ำ ๆ เหมือนวนลูป

✅ สังเกตการใช้สำเนียงของเสียงบรรยายในคลิป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมหลอกลวงหลอกลวงด้วย AIโฆษณาหลอกลวงAIAI Deepfakeคลิปตัดต่อคลิปปลอมหมอมนูญ
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด