Thai PBS Verify พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "Siriporn Pimrat" โพสต์คลิปวิดีโอไฮยีนาถูกช้างวิ่งตามเอาหูคืน ล่าสุดถูกแชร์ไปกว่า 300 ครั้ง พบผู้ชมบางส่วนหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ด้านนักวิชาการระบุ เป็นคลิปที่ถูกตัดต่อขึ้น
แหล่งที่มา : Facebook
กระบวนการตรวจสอบ
"หูหายเอาหูคืนมา" เป็นข้อความที่ถูกระบุในคลิปวิดีโอที่ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งนำมาโพสต์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
คลิปดังกล่าวเป็นภาพของช้างแอฟริกาที่มีหูข้างเดียว กำลังวิ่งไล่ไฮยีนาซึ่งกำลังคาบหูของช้างวิ่งหนี
ทั้งนี้พบว่ามีผู้เข้ามากดถูกใจไปกว่า 21,000 คน และแสดงกล่าวคิดเห็นภายในช่องแสดงความคิดเห็นกว่า 500 คน โดยพบว่ามีผู้เข้าชมบางส่วนแสดงความคิดเห็นที่ชี้ว่า พวกเขาเชื่อว่าคลิปดังกล่าวเป็นคลิปจากเหตุการณ์จริง
มันเป็นไปได้ยังไง
มันขาดได้ไง
คืนไปเถอะไม่ใช่ของเรา
แต่..แว๊บแรกผมก็สงสารน้องไปก่อนซะแล้ว
เรายังพบว่าคลิปวิดีโอเดียวกันนี้ ยังถูกแชร์ต่อไปในหลายภาษา ได้แก่ อังกฤษ เปอร์เซีย จีน และรัสเซีย
ความจริงที่น่าเศร้า
การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยการใช้คีย์เฟรมต่าง ๆ บนกูเกิล พบวิดีโอเดียวกันถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2565 แต่วิดีโอที่พบนั้น พบว่ามีความแตกต่างกับคลิปปลอมที่โพสต์ โดยจะเห็นได้ว่า หูของช้างในคลิปยังอยู่ครบทั้งสองข้าง ไม่ได้หายไปเหมือนคลิปที่มีการทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด
สำหรับคลิปที่ถูกนำมาใช้นั้น เราพบว่าเป็นคลิปที่เกิดขึ้นจริง โดยผู้ใช้บัญชี TikTok ต่างประเทศรายหนึ่ง ได้โพสต์เรื่องราวของไฮยีนาที่กำลังคาบหูของช้างจริง โดยเป็นหูของลูกช้างที่ถูกกลุ่มของไฮยีนารุมกัด หลังจากที่ลูกช้างตัวดังกล่าวล้มป่วย ซึ่งแม้จะมีแม่ช้างคอยเฝ้าอยู่ แต่ท้ายที่สุดลูกช้างก็ถูกกลุ่มไฮยีนารุมกินร่าง (ลิงก์บันทึก)
ผู้เชี่ยวชาญระบุวิธีสังเกตวิดีโอที่ถูกทำขึ้น
ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความคิดเห็นถึงคลิปดังกล่าวว่า เป็นคลิปที่มีการตัดต่อชัดเจน พร้อมกับระบุว่า วิดีโอดังกล่าวยังไม่ใช่การ AI-generated เนื่องจากมีข้อสังเกตต่าง ๆ ดังนี้
ข้อสังเกตว่าวิดีโอนี้เป็นวิดีโอที่สร้างถูกตัดต่อ
- ความคมชัดของรูปส่วนช้างชัดกว่าพื้นหลัง
- มีการเลือกมุมของช้างให้เห็นหูข้างเดียว เพื่อทำให้เหมือนว่าช้างกำลังติดตามหูคืน