“เรือเหาะ” หรือ Airship เป็นหนึ่งในยานพาหนะทางอากาศขนาดใหญ่ที่นิยมที่สุดในช่วงก่อนปี 1940 มันเป็นยานพาหนะทางอากาศหนึ่งเดียวที่สามารถรองรับผู้โดยสารเป็นจำนวนมากได้ แตกต่างจากเครื่องบินในสมัยนั้นที่มักจะมีได้เพียงนักบินหนึ่งถึงสองคนเท่านั้น และมักไม่มีผู้โดยสารเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านขนาดของเครื่องบิน กำลังเครื่องยนต์ และโครงสร้างเครื่องบิน
เรือเหาะเองนั้นก็มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน แล้วเหตุใดเรือเหาะจึงเสื่อมความนิยมในปัจจุบัน
เรือเหาะนั้นถือเป็นอากาศยานแบบเบากว่าอากาศ (Lighter-than-air Aircraft) ซึ่งหมายความว่าตัวเรือเหาะนั้นสามารถลอยอยู่บนท้องฟ้าได้เนื่องจากมีน้ำหนักที่เบากว่าอากาศ ต่างจากเครื่องบินแบบมีปีกที่อาศัยแรงยกจากปีกในการลอยอยู่บนอากาศและถือเป็นอากาศยานแบบหนักกว่าอากาศ (Heavier-than-air Aircraft)
เพราะว่าเรือเหาะเป็นอากาศยานแบบเบากว่าอากาศ การลอยอยู่ในอากาศจึงง่ายมากเนื่องจากไม่จำเป็นต้องอาศัยกำลังเครื่องยนต์ในการรักษาความเร็วเพื่อรักษาแรงยกจากปีก ประกอบกับในอดีตนั้น เครื่องยนต์มักมีกำลังไม่มากพอในการสร้างแรงขับที่มากพอสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ เรือเหาะจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีความนิยมในขณะนั้น
เรือเหาะลอยในอากาศได้จากแรงพยุงจากก๊าซที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ (Lighter-than-air gas) ซึ่งก๊าซเหล่านี้เองจะลอยตัวอยู่เหนืออากาศเนื่องจากมีความหนาแน่นน้อยกว่า ตัวอย่างของก๊าซดังกล่าว ได้แก่ ไฮโดรเจนและฮีเลียม ด้วยปริมาณของก๊าซที่มากพอภายใน “Envelope” หรือโครงสร้างห่อหุ้มของเรือเหาะ แรงพยุงของก๊าซจะมากพอที่จะยกเรือเหาะขึ้น
เรือเหาะมักมีเครื่องยนต์ติดไว้บริเวณสะพานเรือของเรือเหาะ เครื่องยนต์เหล่านี้ใช้ในการควบคุมทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนที่ของเรือเหาะ เมื่อเครื่องยนต์เผาผลาญเชื้อเพลิง น้ำหนักของเรือเหาะก็จะลดน้อยลงทำให้เรือเหาะจะค่อย ๆ บินสูงขึ้น การควบคุมเพดานบินจึงสามารถทำได้โดยการปล่อยก๊าซออกจากเรือเหาะเพื่อลดแรงพยุง
เรือเหาะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
- เรือเหาะแบบ Non-rigid หรือ Blimps ซึ่งการรักษารูปร่างและโครงสร้างนั้นมาจากแรงดันภายในของก๊าซเท่านั้น เปรียบเสมือนลูกโป่งลอยได้
- เรือเหาะแบบ Semi-rigid ซึ่งมักมีโครงสร้างภายในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอาศัยแรงดันภายในในการรักษารูปร่างของเรือเหาะอยู่
- เรือเหาะแบบ Rigid หรือที่รู้จักกันในชื่อ Zeppelin ซึ่งมีโครงสร้างของเรือเหาะแบบแข็ง และภายในของเรือเหาะนั้นมักจะเป็นถุงก๊าซขนาดใหญ่หลายถุงสำหรับบรรจุก๊าซ
ในยุคก่อนปี 1940 นั้น เรือเหาะเกือบทั้งหมดใช้ก๊าซไฮโดรเจนสำหรับการลอยตัวซึ่งมีราคาถูกและหาได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ก๊าซไฮโดรเจนนั้นมีความไวไฟสูงมาก และได้ทำให้เกิดการเผาไหม้ของเรือเหาะมาแล้วหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของเรือเหาะ Hindenburg ในช่วงยุคนาซีเยอรมนีซึ่งเกิดเพลิงไหม้ขึ้นกลางอากาศระหว่างการเทียบท่า โดยที่สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้นั้นยังไม่เป็นที่ประจักษ์
ทำให้ในยุคต่อมาและตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นไป เรือเหาะเกือบทั้งหมดเปลี่ยนไปใช้ฮีเลียมที่แม้จะมีราคาที่แพงกว่าและหายากกว่า แต่มีความปลอดภัยสูงกว่า
ความนิยมของเรือเหาะเริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ เมื่อมีการพัฒนาเครื่องยนต์ไอพ่นขึ้นมา เช่น เครื่องยนต์ Turbofan ซึ่งมีประสิทธิภาพและกำลังขับสูง ทำให้ผู้พัฒนาเครื่องบินสามารถพัฒนาเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นได้ และนำไปสู่ปริมาณผู้โดยสารที่มากขึ้น จนอัตราส่วนขนาดของอากาศยานต่อผู้โดยสารของเครื่องบินนั้นแซงหน้าเรือเหาะที่มักมีขนาดใหญ่มาก ๆ ไป
ในปัจจุบันเรือเหาะส่วนใหญ่จึงเป็นเพื่อการโฆษณาหรือเพื่อกรณีพิเศษและไม่ได้มีไว้สำหรับการขนส่งมวลชนอีกต่อไป
เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech