ระวัง! หลงเชื่อโจรทำเพจสอนวิธีเอาเงินคืน


Verify

11 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ระวัง! หลงเชื่อโจรทำเพจสอนวิธีเอาเงินคืน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1709

ระวัง! หลงเชื่อโจรทำเพจสอนวิธีเอาเงินคืน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ไม่ว่าจะมีการปราบปรามมากเท่าใดก็ตาม แต่เหล่ามิจฉาชีพก็ยังคงหาเหยื่อจากผู้เสียหายคดีออนไลน์ เพื่อหวังหลอกลวงซ้ำ ทั้งการขอข้อมูลส่วนตัว การหลอกให้กดลิงก์ หรือหลอกให้โอนเงินเป็นค่ากระบวนการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือทางคดี ล่าสุด Thai PBS Verify ตรวจสอบพบเพจเฟสบุ๊คซึ่งใช้ชื่อว่า "ศูนยประสาร-ช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยือทางออนไลน" ซึ่งระบุรายละเอียดว่า “ติดต่อให้การปรึกษาข้อควรดำเนินการหลังถูกหลอก เท่านั้น”

สำหรับรายละเอียดของเนื้อหาที่เพจดังกล่าวใช้โฆษณาระบุไว้ว่า ถูกหลอกให้โอนเงิน เอาเงินคืน 6 วิธีการเอาเงินคืนจากมิจฉาชีพได้ผลชัวร์ ถ้าเราโดนหลอกโอนเงิน ต้องทำอย่างไรบ้าง แล้วจะได้เงินคืนไหม ปัจจุบันมีมิจฉาชีพแอบอ้างมากมายทำให้ประชาชน โดนหลอกโอนเงิน จะได้เงินคืนไหม เราจะมาแนะนำ แนวทางปฎิบัติกรณีโดนมิจฉาชีพหลอก ติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเท่านั้น โดยมีผู้กดไลค์ไปถึง 2,000 คน แชร์เพจดังกล่าวไปถึง 340 ครั้งด้วยกัน

จากการตรวจสอบรายละเอียดในเพจดังกล่าวพบว่า มีการแอบอ้างข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเบอร์โทรจริง รวมถึงนำอีเมล์ info@police.go.th ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นอีเมล์ของกลุ่มงานอินเทอร์เน็ต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาใส่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรับแจ้งความออนไลน์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ในรายละเอียดส่วนของเว็บไซต์และลิงก์ทางโซเชียลพบว่า มีการใส่ข้อความ https://www.thaipbs.or.th/news/content/342252
ซึ่งพบว่าเป็นการแอบอ้างนำข่าวของเว็บไซต์ Thai PBS มาใส่ไว้ในรายละเอียดของเพจ ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่า ลิงก์ดังกล่าวเป็นเนื้อหาให้ความรู้ถึงขั้นตอนแจ้งความคดีออนไลน์ เมื่อเสียรู้ให้แก๊งคอลเซนเตอร์ ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 22 ก.ค.67 ซี่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะที่ภาพหน้าปกเฟซบุ๊กที่ใช้ในเพจดังกล่าว มีการนำโลโก้ของหลายหน่วยงานมาใส่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี , กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์


ทั้งนี้ Thai PBS Verify ได้รับการยืนยันจาก นาย สมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งยืนยันว่า ปัจจุบันสภาทนายความ มีการรับให้คำปรึกษาสำหรับผู้เสียหายในคดีออนไลน์ หรือคดีอื่น ๆ ที่สภาทนายความ เขตหลักสี่ เพียงที่เดียวเท่านั้น ยืนยันว่าไม่มีหน่วยงานอื่นที่จะสามารถใช้โลโก้ของสภาทนายความได้

สมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์

สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือในคดีออนไลน์นั้น สภาทนายความจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หรือผู้เสียหายที่ถูกหลอกจากคดีออนไลน์ แต่จะไม่ให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่เป็นผู้ต้องหา ซึ่งผู้เสียหายทุกคดีสามารถติดต่อปรึกษาคดีความฟรีไม่มีค่าใช้ใช้จ่าย ได้ที่สภาทนายความโดยตรง หรือโทรสอบถามได้ที่สายด่วน 1167 และที่เบอร์ 02-522-7124 - 27 ต่อ 131 , 133 และ 134 เพียงเท่านั้น ไม่มีการเปิดให้คำปรึกษาผ่านเพจเฟซบุ๊ก หรือเพจออนไลน์ต่าง ๆ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เสียหายที่ยากจน ยากไร้ และไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสภาทนายความ สภาทนายความจะจัดทนายความเฉพาะด้าน ให้การช่วยเหลือทางคดีฟรี ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อกำหนดข้างต้น ยืนยันว่า จะไม่มีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวแต่อย่างใด

ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดช่องทางให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ สามารถแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ (เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th เท่านั้น และหากมีข้อสงสัย สามารถโทร.ปรึกษาสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับเพจ ไลน์ หรือเว็บไซต์อื่นที่อ้างรับแจ้งความออนไลน์ หรือให้ความช่วยเหลือในคดีออนไลน์ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ระวังมิจฉาชีพสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่ ทำทีขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านคดี ซึ่งอาจล่อลวงให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ หรืออ้างเป็นค่าธรรมเนียม หรือเงินล่อซื้อ ให้ระวังและจำไว้เสมอว่า “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เด็ดขาด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมเพจปลอมหลอกกดลิงก์กลโกงออนไลน์คดีออนไลน์เพจรับแจ้งความออนไลน์หลอกผู้สูงอายุหลอกลวงเว็บไซต์สำนักข่าวปลอมลิงก์ปลอมแจ้งความออนไลน์ปลอม
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด