บาดแผลไร้โลหิต พิษสงครามที่ชาวยูเครนต้องเผชิญ


รอบโลก

10 ต.ค. 67

เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์

Logo Thai PBS
แชร์

บาดแผลไร้โลหิต พิษสงครามที่ชาวยูเครนต้องเผชิญ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1704

บาดแผลไร้โลหิต พิษสงครามที่ชาวยูเครนต้องเผชิญ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยืดเยื้อมานาน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนชาวยูเครน 10 ล้านคน จาก 44 ล้านคน ที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย ส่วนที่เหลือต้องอยู่ท่ามกลางเสียงระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน พิษจากสงคราม นอกจากการบาดเจ็บล้มตายแล้ว การเผชิญหน้ากับความรุนแรงและความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งอาการ PTSD หรือความเครียดหลังประสบเหตุร้ายในชีวิต ที่กลายเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ยูเครนกำลังเผชิญ

บาดแผลที่ไร้โลหิต

ในสงครามนี้ กองทัพยูเครนอยู่ในสภาวะขาดแคลนกําลังพล เพราะเมื่อเปรียบเทียบกําลังกันแล้ว ยูเครนมีกำลังน้อยกว่ารัสเซียทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และกําลังพล ทำให้รัฐบาลยูเครนประกาศใช้กฎอัยการศึก ที่กําหนดให้ผู้ชายที่อายุระหว่าง 18 - 60 ปี ทุกคน มีหน้าที่ต้องรับราชการในกองทัพทันทียกเว้นว่าจะได้รับสิทธิ์ผ่อนผัน ชาวบ้านพลเรือนจำนวนมาก ต้องละจากชีวิตปกติของตน หันหน้าเข้าสู่การต่อสู้ กลายเป็นทหารเพื่อปกป้องประเทศชาติ แต่พวกเขาไม่ได้ถูกเคี่ยวกรําหรือฝึกมาเพื่อรับมือกับการทําสงครามที่โหดร้าย พวกเขาต้องเผชิญความยากลําบากในการเอาชีวิตให้รอด รวมทั้งภาพการการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมรบ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องโหดร้ายที่ค่อย ๆ กัดกร่อนจิตใจพวกเขา  คนที่ไม่เข้มแข็งพอจะเกิดอาการช็อกในใจ ประสาทหลอน ฝันร้าย นอนไม่หลับ เหนื่อยจัด ซึมเศร้าหนัก กลายเป็นอาการ  PTSD หรือความเครียดหลังประสบเหตุร้ายในชีวิต เป็นบาดแผลที่ไร้โลหิต ที่ต้องได้รับการเยียวยาในระดับจิตใต้สํานึก

 

ศูนย์บําบัดจิตใจ

อาการ PTSD หรือความเครียดหลังประสบเหตุร้ายในชีวิต เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ยูเครนกําลังเผชิญ เพื่อช่วยเหลือทหารที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตจากสงคราม ศูนย์บำบัดจิตใจได้ถูกตั้งขึ้นหลายจุดในบริเวณใกล้เคียงแนวหน้า ทหารที่มีอาการบาดเจ็บทางด้านจิตใจขั้นรุนแรงจะได้รับการดูแลจากจิตแพทย์ และมีการนำเวชศาสตร์บำบัดหลายอย่างมาใช้ เช่น การบำบัดด้วยกลิ่น และการเข้าถ้ำเกลือ ซึ่งเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมในยุโรปตะวันออก แต่ในหลายกรณี
พวกเขามีเวลาและทรัพยากรไม่มากพอในการรับการบำบัดที่จำเป็น แม้จะยังไม่หายขาดจากอาการ แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะกลับไปรบในแนวหน้าอีกครั้ง

อย่างเช่นทหารหนุ่มนายหนึ่ง ที่ได้เข้ารับการบำบัดที่ศูนย์นี้ เขามีปัญหาเรื่องการนอนและการปวดหัว ซึ่งหลังจากได้รับการบำบัด อาการเหล่านั้นก็ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามแม้อาการของเขากำลังค่อย ๆ ดีขึ้นแล้ว แต่เขาก็ต้องกลับไปประจำการที่แนวหน้าอีกครั้งอยู่ดี เขาเผยว่า สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเขา คือการเผชิญความรู้สึก เมื่อต้องเห็นคนรู้จักเสียชีวิตไป

 

สงครามที่ยืดเยื้อในยูเครนส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของผู้คนที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงและความสูญเสีย จนต้องมีการตั้งศูนย์บำบัดจิตใจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาทหารที่บอบช้ำ แม้ว่าศูนย์บำบัดนี้จะสามารถฟื้นฟูจิตใจพวกเขาได้ แต่หากสงครามยังไม่ยุติ ผู้คนก็ต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียต่อไป ไม่มีใครรู้ว่า จิตใจของทหารแนวหน้าผู้ปกป้องประเทศ จะทนพิษบาดแผลที่ไร้โลหิตได้อีกนานแค่ไหน

หลุมบังเกอร์มีแสงส่องสว่างรําไร บรรดาทหารที่เหนื่อยล้าเอนกายลงบนเตียงสนามสองชั้นในห้องแคบ ๆ หลังกลับจากลาดตระเวน พวกเขาแทบจําวันคืนไม่ได้แล้ว รู้เพียงแต่ว่าสงครามครั้งนี้ "ช่างยาวนานเหลือเกิน"

ชมเรื่องราวที่มาของความขัดแย้งในยูเครน โดยคุณกรุณา บัวคำศรี ในรายการ FLASHPOINTจุดร้อนโลก ในตอน ยูเครน จุดร้อนแห่งศตวรรษ 

 


 

เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์
ผู้เขียน: เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์ สายสุ่มกาชา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด