ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อย่าเชื่อ! ภาพบ้านถล่มเหตุน้ำท่วมภาคเหนือ


Verify

8 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

อย่าเชื่อ! ภาพบ้านถล่มเหตุน้ำท่วมภาคเหนือ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1679

อย่าเชื่อ! ภาพบ้านถล่มเหตุน้ำท่วมภาคเหนือ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วิดีโอบ้านถล่มในจีนถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นเหตุน้ำท่วมในไทยปี 2567

ในช่วงที่ภาคเหนือของประเทศไทยต้องรับมือกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในเดือนกันยายน 2567 วิดีโอเก่าฉบับหนึ่งที่แสดงภาพบ้านพังถล่มระหว่างเกิดเหตุน้ำท่วม ถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ภาคเหนือของไทย อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวเป็นวิดีโอเก่าที่ถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวของประเทศจีนตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน

"เสียใจด้วยค่ะ กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ เห็นแล้วน้ำตาไหลแทนค่ะ สงสารจังค่ะ" โพสต์ติ๊กตอก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 เขียนคำบรรยายพร้อมกับติดแฮชแท็ก #น้ำท่วมเชียงราย และ #น้ำท่วมภาคเหนือ67

โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอความยาว 14 วินาทีที่แสดงให้เห็นบ้านหลังหนึ่งถูกน้ำท่วมกัดเซาะดินจนพังถล่มลงมา

โพสต์นี้มียอดผู้ชมมากกว่า 520,000 ครั้ง และได้รับการกดถูกใจมากกว่า 9,700 ครั้ง

คำกล่าวอ้างเท็จนี้ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ของไทยหลังเกิดน้ำท่วมฉับพลันในภาคเหนือจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิ ที่พัดถล่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พายุทรงพลังนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 700 ราย (ลิงก์บันทึก)

หลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายถือว่าเป็นอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี

วิดีโอดังกล่าวยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในเฟซบุ๊ก  ยูทูบ และ ติ๊กตอก

อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 และแสดงให้เห็นบ้านหลังหนึ่งที่พังถล่มลงมาหลังเกิดน้ำท่วมในภาคตะวันออกของจีน

น้ำท่วมประเทศจีน

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลและไป่ตู้ (Baidu) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลของจีน พบวิดีโอดังกล่าวปรากฏในรายงานข่าวและโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยคำบรรยายระบุว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

ในปี 2563 เกิดน้ำท่วมครั้งประวัติการณ์ในหลายพื้นที่ในภาคกลางและภาคตะวันออกของจีน โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตหรือสูญหายกว่า 140 คน (ลิงก์บันทึก)

สำนักข่าวไชน่านิวส์เซอร์วิส (China News Service) ของจีนเผยแพร่คลิปนี้ในรายงานเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 โดยชื่อคลิประบุว่า "อาคารในเทศมณฑลโปหยาง มณฑลเจียงซี พังถล่มลงมาทันทีหลังเกิดน้ำท่วม" (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายของวิดีโอระบุเพิ่มเติมว่า "เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกิดฝนตกหนักระดับน้ำสูง 710 มม. ในเทศมณฑลโปหยาง เมืองซ่างเหรา มณฑลเจียงซี ซึ่งส่งผลให้เขื่อนกั้นน้ำเหวงกุ้ยต้าวถล่ม ... น้ำท่วมปริมาณมหาศาลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน 5 แห่ง"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และรายงานของไชน่านิวส์เซอร์วิส (ขวา)

คลิปเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่ในรายงานของเดอะเปเปอร์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวออนไลน์ของจีน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ด้วย (ลิงก์บันทึก)

พาดหัวข่าวองรายงานระบุว่า "อาคาร 3 ชั้นในเทศมณฑลโปหยาง มณฑลเจียงซี พังถล่มทันทีหลังน้ำท่วม ผู้อยู่อาศัยได้อพยพออกจากอาคารก่อนเกิดเหตุ"

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์อย่างแพร่หลายในแพลตฟอร์มเผยแพร่วิดีโอของจีนชื่อ บิลิบิลิ (Bilibili) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยความคิดเห็นของผู้แชร์วิดีโอส่วนใหญ่ระบุว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นภาพจากเหตุการณ์น้ำท่วมในเทศมณฑลโปหยาง (ลิงก์บันทึก)

ทั้งนี้สำนักข่าว VnExpress ของเวียดนาม ระบุว่า ตั้งแต่ต้นฤดูฝนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 มีบ้านที่คล้ายกันอย่างน้อย 4 หลังในอำเภอถูกน้ำท่วมทำลาย น้ำท่วมยังส่งผลให้เขื่อนกั้นแม่น้ำเจืองยาง ความยาว 50 เมตร พังทลายลง ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมขนาด 1,000 เฮกตาร์ จมอยู่ใต้น้ำ จนรัฐบาลต้องอพยพประชาชน 9,000 คน (ลิงก์บันทึก)

ที่มา : AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

น้ำท่วมน้ำท่วมเชียงรายโคลนถล่ม
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด