เหตุใด “เฮลิคอปเตอร์” มักไม่สามารถใช้ในการ “กู้ภัยภูเขาสูง” ได้


Logo Thai PBS
แชร์

เหตุใด “เฮลิคอปเตอร์” มักไม่สามารถใช้ในการ “กู้ภัยภูเขาสูง” ได้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1665

เหตุใด “เฮลิคอปเตอร์” มักไม่สามารถใช้ในการ “กู้ภัยภูเขาสูง” ได้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เคยสงสัยหรือไม่ว่าเพราะเหตุใดการกู้ภัยผู้ประสบภัยติดเขาสูงนั้นมักไม่มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการบินขึ้นไปรับโดยตรง ทั้งที่การกู้ภัยด้วยเฮลิคอปเตอร์นั้นน่าจะง่ายที่สุดเนื่องจากเฮลิคอปเตอร์สามารถบินขึ้นลงในแนวดิ่งได้ ทำให้สามารถทำงานในพื้นที่ทุรกันดารได้

เหตุผลเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านเพดานบินของเฮลิคอปเตอร์ซึ่งไม่สามารถบินได้สูงเท่าเครื่องบิน

Angle of Attack หรือมุมปะทะของปีก ซึ่งในที่นี้คือใบพัดของเฮลิคอปเตอร์และกระแสอากาศ

หลักการในการบินของเฮลิคอปเตอร์นั้นคือการใช้ใบพัดยกน้ำหนักตัวถังของตัวเฮลิคอปเตอร์ขึ้นโดยตรงในแนวดิ่ง แทนที่จะใช้เครื่องยนต์เพื่อสร้างแรงขับในแนวราบ นอกจากนี้ตัวใบพัดของเฮลิคอปเตอร์นั้นยังสามารถปรับมุมกระทบอากาศเพื่อเปลี่ยนแปลงแรงยกของใบพัดได้อีกด้วย ทำให้นักบินสามารถปรับความสูงของเฮลิคอปเตอร์ได้ด้วยการปรับมุมใบพัดเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องปรับความเร็วของใบพัด

ภาพแสดงผังแท่นควบคุมหลักของเฮลิคอปเตอร์

เฮลิคอปเตอร์มีแท่นควบคุมหลัก ๆ ทั้งหมด 3 แท่นควบคุม ซึ่งก็คือ Cyclic, Collective และ Pedal แท่นควบคุม Cyclic คือการปรับมุมปะทะ (Angle of Attack) ของใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแรงยกของใบพัดสำหรับการเพิ่มหรือลดระดับเพดานบิน ส่วน Collective นั้นใช้ในการหมุนแกนของใบพัดซึ่งจะทำให้นักบินสามารถเอนเอียงเฮลิคอปเตอร์ไปข้างหน้าและข้าง ๆ ได้ ส่วน Pedal นั้นใช้ในการควบคุมใบพัดชุดเล็กข้างหลัง ซึ่งใช้ในการหันหน้าของเฮลิคอปเตอร์

ภาพแสดงหลักการทำงานของระบบใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมักจะประกอบไปด้วยใบพัดสองชุด

ความเร็วในการหมุนของใบพัดของเฮลิคอปเตอร์นั้นมักจะสม่ำเสมออยู่ตลอดเวลา หมายความว่ารอบหมุนหรือ RPM (Revolutions per Minute) ของใบพัดนั้นจะคงเดิมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นที่รอบหมุนเท่าเดิม แต่มุมปะทะที่เพิ่มขึ้นโดย Collective Pitch จะทำให้เฮลิคอปเตอร์สามารถสร้างแรงยกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นข้อจำกัดของเฮลิคอปเตอร์เพราะว่ายิ่งบินสูงเท่าใด อากาศยิ่งเบาบางขึ้น ทำให้ใบพัดของเฮลิคอปเตอร์นั้นจะสร้างแรงยกได้น้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์สามารถปรับ Angle of Attack ได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น ทำให้เมื่อบินสูงมากพอ ใบพัดของเฮลิคอปเตอร์จะไม่สามารถสร้างแรงยกได้มากพอและไม่สามารถเพิ่มความสูงได้ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้เองทำให้เฮลิคอปเตอร์มักไม่สามารถบินขึ้นไปกู้ภัยบนภูเขาที่สูงมาก ๆ อย่างเทือกเขาเอเวอเรสต์ได้

เฮลิคอปเตอร์ขณะบินอยู่ในเขตภูเขาสูง

ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเทือกเขาเอเวอเรสต์ปี 1996 ซึ่งมีนักปีนเขาเอเวอเรสต์เสียชีวิตจากพายุหิมะ 8 ราย มีการอพยพผู้ประสบภัยด้วยเฮลิคอปเตอร์จาก Camp 2 ของเทือกเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งมีความสูงกว่า 6,400 เมตร เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวนั้นมีการดัดแปลงอย่างหนักเพื่อลดน้ำหนักของเฮลิคอปเตอร์ เช่น การถอดที่นั่งออกเกือบทั้งหมดและการบินด้วยเทคนิคพิเศษ เช่น การอาศัยกระแสลมพัดขึ้น (Updraft) บริเวณเหวของเขาเพื่อช่วยให้เฮลิคอปเตอร์สามารถบินขึ้นไปที่ความสูงระดับนี้ได้ เนื่องจากด้วยตัวเฮลิคอปเตอร์เองนั้นมีกำลังไม่พอในการรักษาเพดานบิน

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กู้ภัยกู้ภัยภูเขาสูงเฮลิคอปเตอร์เทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด