หลังเหตุสลด “รถบัสเด็กนักเรียน” ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ จนเกิดเป็นกระแสสังคมเรื่องความปลอดภัย รวมถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่อนักเรียนที่ประสบเหตุ อาจเกิดอาการ "PTSD ในเด็ก" ได้
Thai PBS ชวนทุกคนมารู้จัก โรคเครียดหลังเหตุรุนแรงในเด็ก (Posttraumatic Stress Disorder (PTSD) in Children and Adolescents) หรือ “PTSD ในเด็ก” หากเด็กต้องเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของเด็ก อาการเป็นอย่างไร ? เกิดจากเหตุการณ์รุนแรงต่อความรู้สึกในลักษณะใดบ้าง ? และครอบครัวต้องรับมืออย่างไร ?
โรคเครียดหลังเหตุรุนแรง (PTSD) ในเด็กเกิดจากอะไร ?
เรามักได้ยินว่าโรคเครียดหลังเหตุรุนแรงสะเทือนใจ (PTSD) มักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ และโดยมากเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่ผ่านการสู้รบในสงคราม ทว่าแท้จริงแล้ว เหตุสะเทือนใจหรือเหตุรุนแรงทางกาย สามารถเกิดขึ้นในเด็กได้เช่นกัน
PTSD คือโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง อาการมักจะเริ่มต้นหลังจากที่เด็กเผชิญเข้ากับเหตุการณ์ที่มีความเคลียดสูงไม่นาน ราว ๆ 6 เดือน หรือนานกว่านั้น และอาจมีโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เกิดร่วมด้วยได้ เช่น โรคซึมเศร้า (Depression Disorder) โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) รวมถึง ปัญหาพฤติกรรมก่อกวนหรือทำผิดกฎหมาย (Conduct Disorder) และการใช้สารเสพติด (Substance Used Disorder)
โดยเหตุการณ์ความเครียดที่ทำให้เกิด PTSD แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่
ความเครียดจากภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งทำให้เด็กเกิดความเครียดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับระดับของภัยพิบัติ รายละเอียดของการเผชิญกับเหตุภัยพิบัตินั้น ๆ
ความเครียดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น การทำร้ายร่างกาย สงคราม การก่อการร้าย การทำร้ายทางเพศ นอกจากนี้ยังรวมถึงการรักษาที่ก่อให้เกิดความกลัว เช่น การเปลี่ยนอวัยวะ การรักษามะเร็งและการรักษาตัวในห้องบำบัดวิกฤต
มีงานวิจัยพบว่า ความเครียดจากน้ำมือมนุษย์เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิด PTSD ได้มากกว่าความเครียดจากภัยธรรมชาติ ยกเว้นเหตุภัยพิบัติรุนแรงอย่างแผ่นดินไหว ทว่าความรุนแรงของ PTSD ในเด็กสามารถลดลงได้จากการสนับสนุนของสังคมหลังเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น
ที่มาและการแสดงออกของโรคเครียดหลังเหตุรุนแรง (PTSD) เป็นอย่างไร ?
โรคเครียดหลังเหตุรุนแรง (PTSD) ในเด็ก มีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ 4 อย่าง
1. เด็กเผชิญกับเหตุการณ์ที่รุนแรงต่อชีวิต เหตุการณ์นั้นมีลักษณะนำมาซึ่งความรู้สึกกลัว อันตราย สิ้นหวัง เด็กอาจแสดงความรู้สึกสับสน มีพฤติกรรมที่วุ่นวาย มีประสบการณ์
2. เด็กมีประสบการณ์นึกถึงเหตุการณ์นั้น เช่น มีความคิด อารมณ์ หรือมโนภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นแทรกเข้ามาในความคิด ฝันร้ายถึงเหตุการณ์ รวมถึงแสดงออกเสมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้น เช่น หูแว่ว เห็นภาพ อาจเกิดเหตุลักษณะนี้อย่างใดอย่างหนึ่งได้
3. เด็กหลีกเลี่ยงสิ่งเร้า ไม่พูดถึงเหตุการณ์หรือไม่แสดงอารมณ์ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
4. เด็กมีอาการตื่นตัวหลังเหตุรุนแรง ซึ่งสามารถสังเกตได้ อาจพบอาการอย่างน้อย 2 ข้อในนี้ ได้แก่ 1 หลับยาก 2 หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย 3 ไม่มีสมาธิ 4 ระแวดระวัง 5 สะดุ้ง ตกใจง่าย
เรื่องที่ควร / ไม่ควรทำ กับเด็กที่มีความเสี่ยง PTSD เพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตเด็ก
กรมสุขภาพจิตมีการออกข้อแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ในการดูแลเด็กและวัยรุ่น ในกรณีมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเครียดหลังเหตุรุนแรง โดยมีสิ่งที่ควรทำ และควรหลีกเลี่ยงในคราวเดียวกัน
สิ่งที่ควรทำ
1. คำนึกถึงความปลอดภัยของทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กเป็นอันดับ 1
2. รีบให้เด็กกลับเข้าสู่ชีวิตปกติ
3. ผู้ใหญ่จัดการอารมณ์ตนเองเป็นต้นแบบ
4. มีผู้ใหญ่ / ผู้ปกครอง ดูแลใกล้ชิด เป็นที่พึ่งทางจิตใจโดยเฉพาะในครอบครัวที่มีการสูญเสีย
5. พาทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ปั้นดิน เล่นทราย กิจกรรมศิลปะ ร้องเพลง เล่นกีฬา
สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. ไม่ถามเด็กให้เล่าถึงเหตุการณ์
2. งดเอาเด็กไปออกข่าว หรือเสพข่าว
3. ไม่เอาเด็กมาเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพ สร้างกระแสดรามา
ทั้งนี้ หลังผ่านพ้นเหตุการณ์ความรุนแรงไปแล้ว โดยปกติเด็กจะค่อย ๆ ดีขึ้น อาการต่าง ๆ ของ PTSD สามารถหายได้เองด้วยกระบวนการทางสมอง และจะดีขึ้นใน 3 – 6 เดือน ทว่าหากยังมีปัญหาควรรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ต่อไป
โรคเครียดหลังเหตุรุนแรง (PTSD) ในเด็กรับมืออย่างไร ?
หากสังเกตพบอาการผิดปกติและไม่หาย เป็นระยะเวลาเกิน 6 เดือน พ่อแม่ควรตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ สามารถลองค้นหา “แบบประเมินและวิเคราะห์โรคเครียด หลังเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)” เพื่อลองทดสอบประเมินดูผล หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323
หากพบว่าเด็กเป็น PTSD เด็กจะได้รับการรักษา โดยแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับพื้นที่และลักษณะของเหตุการณ์ที่พบเจอ แต่มีแนวทางที่คล้ายกันคือ เด็กจะได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ บางกรณีหากเป็นเหตุรุนแรง จะมีทีมสหวิชาชีพเข้าดูแล และมีนักจิตวิทยารวมอยู่ด้วย
พ่อแม่รวมถึงคนใกล้ชิดถือเป็นกุญแจสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเด็กที่กำลังเผชิญกับ PTSD อาจมีกระบวนการอีกมากมายที่พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมด้วย เช่น กิจกรรมการบำบัดต่าง ๆ มีข้อแนะนำในการรับมือ PTSD ในเด็ก ดังนี้
1. พยายามให้การสนับสนุนและช่วยเหลือให้คำปรึกษาเด็ก ๆ ในช่วงแรกเด็กอาจยังไม่ต้องการคำปรึกษาเหล่านั้น แต่คำปรึกษาอาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก ๆ เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน หรือเป็นปี ดังนั้นจึงควรให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเด็ก ๆ อย่างเต็มที่เสมอ
2. พยายามเก็บรายละเอียดอาการต่าง ๆ ของเด็กเพื่อไว้พูดคุยกับบุคลากรด้านสุขภาพที่ดูแลเด็ก
3. พูดคุยทำความเข้าใจกับทีมสหวิชาชีพที่ดูแลทำงานกับเด็ก อาจมีที่ปรึกษา นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ PTSD
4. พูดคุยกับคนรอบตัวเด็กเกี่ยวกับ PTSD ที่เด็กเผชิญ ทำงานร่วมกับบุคลากรที่ดูแลสุขภาพเด็กและโรงเรียนเพื่อวางแผนร่วมกันในการรักษาเด็ก
5. ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจมีกิจกรรมที่พ่อแม่ต้องให้เวลากับเด็กมากเป็นพิเศษ ด้านการรักษามีทั้งการรักษาด้วยยา และการรักษาทางจิตสังคม ซึ่งพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด มีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่ที่ปรึกษา
6. ฝึกเป็นต้นแบบและที่ปรึกษาที่ดี การเป็นต้นแบบที่ดี เมื่อเผชิญกับปัญหาแล้วแสดงพฤติกรรมที่ดีออกไป ส่งผลถึงพฤติกรรมของเด็ก รวมถึงการเป็นผู้รับฟังที่ดี เช่น ใช้เทคนิคการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) รับฟังเมื่อเด็กต้องการระบายความรู้สึกบางอย่างโดยไม่ขัดจังหวะ พยายามให้ความช่วยเหลือ เป็นกำลังใจ ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้
PTSD ในเด็กเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่หากคนรอบตัวมีความรู้ ความเข้าใจ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเยียวยา จะทำให้อาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเบาบางลง
อ้างอิง
- คู่มือการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง 2553 ถอดความจาก Workbook for the Children and Disaster Menual
- โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญในเด็กและวัยรุ่น บรรณาธิการโดย เบญจพร ปัญญายง คลังความรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต