ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แหงนมองฟ้าดู “จื่อจินซาน-แอตลัส” ดาวหางคาบยาวที่จะวกกลับมาในอีก 80,660 ปี


Logo Thai PBS
แชร์

แหงนมองฟ้าดู “จื่อจินซาน-แอตลัส” ดาวหางคาบยาวที่จะวกกลับมาในอีก 80,660 ปี

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1661

แหงนมองฟ้าดู “จื่อจินซาน-แอตลัส” ดาวหางคาบยาวที่จะวกกลับมาในอีก 80,660 ปี
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

นับว่าเป็นปรากฏการณ์ดาวหางที่สามารถสังเกตเห็นบนท้องฟ้าได้ด้วยตาเปล่ากับดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ในบทความนี้จะชวนทำความรู้จักดาวหางดวงนี้และชวนออกไปรับชมบนท้องฟ้า

ภาพถ่ายดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2024 เหนือท้องฟ้าเกาะครีต ภาพถ่ายโดย C messier

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส (Tsuchinshan-ATLAS) หรือ C/2023 A3 เป็นดาวหางที่ถูกค้นพบโดยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) หอดูดาวที่ตรวจพบคือหอดูดาวในเครือข่ายที่ติดตั้งอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งดาวหางดวงนี้ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2023 ก่อนที่จะมาพบในภายหลังว่าดาวหางดวงนี้ถูกค้นพบและรายงานก่อนหน้าโดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน ในประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2023 นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อดาวหางดวงนี้

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสเป็นดาวหางคาบยาว มีลักษณะวงโคจรแบบยาวรี (Elongated Orbit) คาดว่าน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มเมฆออร์ต กลุ่มเทหวัตถุขนาดใหญ่ชายขอบของระบบสุริยะที่อาจอยู่ห่างออกไปได้มากถึง 3 ปีแสง

ภาพถ่ายดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส จากบริเวณอ่าว Murrays ประเทศนิวซีแลนด์ ภาพถ่ายโดย AlexL1024

ดาวหางดวงนี้เริ่มสังเกตเห็นหางก๊าซที่ยาวออกมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2024 ในช่วงแรกยังมีค่าความสว่างที่น้อย (Magnitude 10) ก่อนที่จะมาปรากฏและเห็นได้ชัดในช่วงปลายเดือนกันยายน 2024 ที่ค่าความสว่างของดาวหางสูงมากพอที่จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มันได้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 กันยายน 2024 ที่ระยะห่างประมาณ 58.6 ล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะห่างวงโคจรของดาวพุธ) คาดว่าดาวหางจะมีความสว่างสูงสุดปรากฏที่แมกนิจูด -6.9 ในวันที่ 9 ตุลาคม 2024 ซึ่งมันจะมีความสว่างมากกว่าดาวศุกร์บนท้องฟ้าเสียอีก และคาดการณ์ว่าจะใกล้โลกที่สุดในวันที่ 13 ตุลาคม 2024 ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งอาจจะมีความสว่างที่แตกต่างจากวันที่ 9 ตุลาคมเล็กน้อยแต่โดยรวมแล้วยังสามารถสังเกตดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า เพียงแค่อาจจะลำบากเล็กน้อยเมื่อสังเกตจากในเมืองที่มีแสงไฟรบกวน

ภาพถ่ายดาวหางขณะที่กำลังเคลื่อนที่อยู่บนท้องฟ้าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2024 ภาพถ่ายโดย Cpayoub

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสจะสังเกตได้ง่ายในทางซีกโลกใต้ โดยในช่วงนี้ไปจนถึง 6 ตุลาคม ดาวหางดวงนี้จะปรากฏในทางทิศตะวันออกในช่วงก่อนรุ่งสาง ช่วงเวลาประมาณตี 5 ใกล้กับดวงอาทิตย์ ก่อนที่วันที่ 11 ตุลาคมเป็นต้นไปดาวหางจะปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงเวลาพลบค่ำก่อนพระอาทิตย์ตก ซึ่งจุดที่ยากของการสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้จากพื้นที่ประเทศไทยคือ ดาวหางดวงนี้จะปรากฏใกล้กับขอบฟ้าค่อนข้างมาก ทำให้มักถูกบดบังจากอาคารหรือยอดไม้ ภาคใต้จะสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ได้ง่ายกว่าภาคอื่น ๆ เนื่องจากตัวดาวหางนี้อยู่ทางซีกฟ้าใต้

ดาวหางดวงนี้จะค่อย ๆ มีความสว่างที่ลดลงหลังจากวันที่ 9 ตุลาคม ซึ่งหากพลาดการชมดาวหางดวงนี้ไปอาจจะต้องรออีก 80,660 ปี ถึงจะโคจรกลับมาให้เราได้เห็นกัน ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ทุก ๆ ท่านออกไปสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้กันก่อนที่มันจะเดินทางจากเราไปกลับสู่ห้วงอวกาศลึกที่มันจากมา

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสจื่อจินซาน-แอตลัสดาวหางดาวหางคาบยาวดาราศาสตร์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด