Secret Story | เปิดโปงปริศนา 60 ปี โอลิเวอร์ สโตน กับการไขคดีลอบสังหารเคนเนดี


Lifestyle

25 ก.ย. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | เปิดโปงปริศนา 60 ปี โอลิเวอร์ สโตน กับการไขคดีลอบสังหารเคนเนดี

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1643

Secret Story | เปิดโปงปริศนา 60 ปี โอลิเวอร์ สโตน กับการไขคดีลอบสังหารเคนเนดี
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ใครจะคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว จะยังคงเป็นปริศนาที่คนทั่วโลกพูดถึง การลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดีเมื่อปี ค.ศ. 1963 มิได้เป็นเพียงโศกนาฏกรรมของสหรัฐอเมริกา แต่มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลก ... และในปี ค.ศ. 2021 โอลิเวอร์ สโตน ผู้กำกับคนดังก็กลับมาขุดคุ้ยเรื่องนี้อีกครั้งผ่านสารคดี JFK Revisited: Through the Looking Glass

สโตนไม่ใช่มือใหม่ในเรื่องของเคนเนดี ย้อนไปในปี ค.ศ. 1991 พวกเราหลายคนคงเคยผ่านตาหนังเรื่อง JFK ที่นำแสดงโดย เควิน คอสต์เนอร์ ในบท จิม แกร์ริสัน อัยการเขตลุยเซียนาผู้ไม่เชื่อว่าการตายของประธานาธิบดีจะเป็นฝีมือของชายแปลกหน้าสติไม่ดีชื่อ ลี ออสวัลด์ เพียงคนเดียวอย่างที่รัฐพยายามทำให้ประชาชนเชื่อ สโตนถ่ายทอดความคิดของแกร์ริสันและของตัวเขาเองในหนังเรื่องนี้อย่างสุดเข้มข้นจนมันได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย (หนังคว้ามาได้ 2 รางวัลคือสาขาตัดต่อและกำกับภาพ)

แต่ความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่องคราวนั้นก็ไม่ได้ทำให้สโตนพอใจ หลายคนสงสัยว่าทำไมเขายังไม่ยอมวางมือจากเรื่องนี้เสียที ...และคำตอบก็คือ เพราะเขายังเชื่ออย่างเต็มที่ว่ามีความจริงอีกมากมายเกี่ยวกับปริศนานี้ที่โลกสมควรได้รับรู้

เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "คุณลองคิดดูสิ มีคนกล้าฆ่าประธานาธิบดีอเมริกากลางวันแสก ๆ ต่อหน้าต่อตาคนทั้งโลก ใคร ๆ ก็รู้ว่าต้องมีอะไรใหญ่กว่านี้แน่ ๆ มันเป็นการวางแผนฆาตกรรมที่แยบยลมาก ตั้งแต่ลงมือไปจนถึงขั้นตอนปกปิดหลักฐาน ทุกอย่างดูราวกับหลุดออกมาจากคู่มือของซีไอเอ (CIA - Central Intelligence Agency สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา) เลยใช่ไหมล่ะ”

โอลิเวอร์ สโตน

การทำสารคดี JFK Revisited เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2018 เมื่อสโตนจับมือกับ ร็อบ วิลสัน โปรดิวเซอร์คู่หู และ เจมส์ ดียูจีนิโอ นักเขียนบทที่รู้ข้อมูลคดีสังหารเคนเนดีแบบละเอียดยิบหาตัวจับยาก พวกเขาตั้งใจจะนำเอาหลักฐานใหม่ ๆ ที่เพิ่งถูกเปิดเผย (หลังจากที่รัฐสภาอเมริกาออกกฎหมาย JFK Records Act ในปี ค.ศ. 1992) มาถ่ายทอด และพิสูจน์ว่าข้อสันนิษฐานทั้งหลายที่สโตนเคยเล่าไว้ในหนัง JFK นั้นไม่ใช่การมโนเอาเอง
แน่นอนว่างานนี้ไม่ง่าย ทีมงานต้องใช้เวลาหลายเดือนคัดกรองเอกสารสำคัญ ๆ จากกองเอกสารลับนับล้านหน้า มองหาชุดข้อมูลที่อาจเคยถูกสื่อใหญ่ทั้งหลายมองข้ามไป และยังต้องสัมภาษณ์ผู้รู้จากสารพัดสาขา ทั้งนักประวัติศาสตร์ พยาน ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระสุนปืน หมอ ไปจนถึงบุคคลทั้งหลายที่เป็นพยานในมุมต่าง ๆ ของเหตุการณ์โศกนาฏกรรมคราวนั้น

สโตนเชื่อว่าการปกปิดเรื่องการสังหารเคนเนดีนั้น “ทำกันแบบลวก ๆ” โดยเขาอธิบายว่า “ถ้าเรื่องเกิดขึ้นในสมัยนี้ที่ทุกคนมีมือถือถ่ายคลิปถ่ายรูปได้ การปกปิดแบบตอนนั้นคงทำไม่ได้แล้วล่ะ จะมีคนเห็นเยอะเกินไป คนก็จะพูดกันเยอะ แต่สมัยนั้นบรรยากาศน่าหวาดกลัว ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องคงโดนข่มขู่ หรือถูกทำให้กลัวและคิดว่าเรื่องนี้มันใหญ่เกินตัว ฉะนั้นอย่าพูดอย่าทำอะไรเลยจะดีกว่า มีคนในรัฐบาลเยอะแยะที่ทำตัวแบบนั้น ทั้งทหาร หมอ หน่วยรักษาความปลอดภัย เอฟบีไอ และพวกสื่อ ดูเหมือนจะมีแต่ซีไอเอนี่แหละที่รับมือได้อย่างสบาย"

ประเด็นสำคัญที่ถูกสโตนยกมาย้ำหลายครั้งในสารคดี JFK Revisited เพื่อจะหักล้างกับหลักฐานเก่า ๆ ของรัฐ ก็คือเรื่อง "ห่วงโซ่การครอบครองพยานหลักฐาน" อันเป็นขั้นตอนสำคัญในการจัดการหลักฐานจากที่เกิดเหตุ ซึ่งในคดีนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดน่าสงสัย ทั้งลายนิ้วมือ ปืน กระสุน ที่อยู่ของลี ออสวัลด์ตอนยิง และการชันสูตรศพที่โรงพยาบาลเบเธสดาซึ่งกระบวนการเป็นไปอย่างแปลกประหลาดมีเงื่อนงำมาก ๆ

นอกจากนั้น สโตนยังให้ความสำคัญกับการหาผู้รู้ตัวจริงมาให้ข้อมูลที่คัดง้างกับข้อมูลเก่า ๆ เช่น ดร. ซีริล เวคต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช ที่วิจารณ์การชันสูตรศพเคนเนดีอย่างดุเดือด, แบร์รี เออร์เนสต์ ผู้เขียนหนังสือ The Girl on the Stairs ที่สืบเรื่องของวิกตอเรีย อดัมส์ พนักงานสาวผู้ทำงานอยู่บนชั้น 4 ของตึกที่ออสวัลด์ถูกกล่าวหาว่าขึ้นไปลอบยิงเคนเนดีจากชั้น 6 ซึ่งเธอให้การขัดแย้งกับทฤษฎีของคณะกรรมการวอร์เรนมาก แต่เทปให้การของเธอกลับหายไปอย่างลึกลับ

ยังไม่พอ สารคดีเรื่องนี้ยังขุดคุ้ยลึกไปถึงบทบาทของซีไอเอด้วย เพราะสโตนเชื่อหมดใจว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารเคนเนดีแน่นอน เขาอธิบายเสริมว่า "เคนเนดีอยากปฏิรูปซีไอเอมาก เขาบอกคนใกล้ชิดว่าอยากทุบซีไอเอให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ และเขายังตัดงบประมาณเพื่อลดอำนาจไม่ให้หน่วยงานนี้ทำอะไรตามใจชอบได้อีกต่อไป แต่พอเคนเนดีถูกฆ่าไปสองปี ซีไอเอก็กลับมามีอำนาจเหมือนเดิม"

ความยากของการทำสารคดีเรื่องนี้อยู่ตรงที่มันไม่ใช่แค่การรวบรวมข้อมูล แต่ทีมงานยังต้องตีความและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาอย่างลึกซึ้งด้วย ผลที่ได้ทำให้หนังนำเสนอได้ชัดเจนถึงเหตุผลที่สโตนเชื่อว่าการลอบสังหารประธานาธิบดีครั้งนั้นเป็นมากกว่าแค่เหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว แต่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอเมริกาและของดุลอำนาจในโลก เขาบอกว่า "หลายคนสงสัยว่าทำไมผมถึงต้องมารื้อฟื้นเรื่องเก่า ๆ อีก แต่ผมเชื่อว่าการเข้าใจอดีตเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าใจปัจจุบันและอนาคต อเมริกาไม่เหมือนเดิมอีกเลยหลังจากนั้น เพราะในช่วงเวลานั้นพวกหน่วยข่าวกรองและทหารได้เข้ามาควบคุมรัฐบาลอเมริกาในเรื่องใหญ่ ๆ เช่น เรื่องความมั่นคงและยุทธศาสตร์ เมื่อเราสูญเสียเคนเนดีไป ก็ไม่มีประธานาธิบดีคนไหนกล้าเปลี่ยนแปลงอะไรในสิ่งเหล่านี้อีก และผลกระทบนั้นก็ยังตกอยู่กับเรามาจนถึงทุกวันนี้"

“เราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราเรียนรู้จากมันได้” คือบทสรุปจากโอลิเวอร์ สโตนและ JFK Revisited “ผมไม่ได้บอกว่าผมรู้ทุกอย่างนะ แต่ผมหวังว่าสารคดีเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเริ่มสงสัยและอยากรู้ความจริงมากขึ้น เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่เราจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้"

▶ ติดตามสารคดี JFK Revisited: Through the Looking Glass ทุกสิ่งที่เคยถูกเชื่อว่าเป็นความลับจะไม่เป็นความลับอีกต่อไป นี่คือปีที่เอกสารที่ถูกบันทึกไว้จากการตรวจหลักฐานในที่เกิดเหตุ จากการชันสูตรศพเคนเนดี้ และจากการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องทุกคน ถึงเวลาตามกำหนดในกฎหมายให้ต้องถูกเปิดเผย!

รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPADocumentary ClubJFK.Secret Storyสารคดีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสหรัฐอเมริกาสหรัฐฯสารคดี VIPA
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด