ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การนำ “ยานอวกาศเปล่า” ไปรับ “นักบินอวกาศ” ไม่ใช่เรื่องแปลก


Logo Thai PBS
แชร์

การนำ “ยานอวกาศเปล่า” ไปรับ “นักบินอวกาศ” ไม่ใช่เรื่องแปลก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1640

การนำ “ยานอวกาศเปล่า” ไปรับ “นักบินอวกาศ” ไม่ใช่เรื่องแปลก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

จากข่าวปัญหาของยาน Boeing Starliner ที่ไม่สามารถพา “นักบินอวกาศ” ที่อยู่บน “สถานีอวกาศ” กลับโลกได้จนต้องเปลี่ยนแผนการให้ยาน Dragon ของ SpaceX ขึ้นไปรับแทน ทำให้ใครหลาย ๆ คนถามถึงมาตรการความปลอดภัยของ NASA และองค์กรอวกาศนานาชาติเกี่ยวกับปัญหานักบินอวกาศติดในอวกาศ ในบทความนี้จะเล่าถึงภารกิจยานอวกาศโซยุส MS-23 ที่ส่งยานเปล่าขึ้นไปรับนักบินอวกาศที่ติดบนอวกาศ

อุบัติเหตุในอวกาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อรับประกันความปลอดภัยของนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจในอวกาศ องค์กรบริหารการบินและอวกาศของทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียจึงมีแผนการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้และมั่นใจได้ว่านักบินอวกาศของพวกเขาจะเดินทางกลับมาได้อย่างปลอดภัย

ภาพถ่ายยาน Soyuz MS-23 ขณะเข้าเทียบท่าของสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อมารับนักบินอวกาศทั้งสาม

ในปี 2022 เกิดอุบัติเหตุกับยานโซยุสในภารกิจ Soyuz MS-22 ที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในภารกิจ Expedition 67/68 ภารกิจนี้มีนักบินอวกาศสามรายขึ้นไปกับยานด้วย สองคนแรกสังกัด Roscosmos ของรัสเซีย ได้แก่ Sergey Prokopyev และ Dmitry Petelin ส่วน Francisco Rubio สังกัด NASA จากโครงการแลกเปลี่ยนนักบินอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ช่วงแรกยานโซยุสสามารถเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ตามปกติในวันที่ 21 กันยายน 2022 แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2022 นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติพบว่ามีสสารบางอย่างรั่วไหลออกจากยานอวกาศโซยุสลำนี้ ก่อนที่จะพบว่าเป็นสารทำความเย็นที่รั่วไหลออกมาจากระบบทำความเย็นของยานโซยุส ส่งผลให้ทาง NASA และ Roscosmos ได้ตั้งทีมประสานงานเพื่อตรวจสอบปัญหาการรั่วไหลของสารทำความเย็นนี้ ซึ่งพบว่าเป็นรอยรั่วขนาดเล็กเพียง 0.8 มิลลิเมตรซึ่งเกิดจากการพุ่งชนของวัตถุที่อยู่ในอวกาศขนาดเล็ก จนในที่สุดมีข้อสรุปออกมาว่ายานโซยุสลำนี้มีความเสี่ยงที่จะนำมาใช้เพื่อพานักบินอวกาศกลับโลก ซึ่งทำให้จากแผนการเดิมที่จะพาทั้งสามนักบินอวกาศกลับโลกด้วยยานลำนี้ในเดือนมีนาคม 2023 ต้องถูกเลื่อนออกไป และเลือกจะให้ยานโซยุสลำใหม่มารับนักบินอวกาศทั้งสามคนแทน

ภาพถ่ายยาน Soyuz MS-23 ขณะทำการเทียบท่าสถานีอวกาศนานาชาติ

รัสเซียได้ส่งยานโซยุสลำใหม่ในชื่อภารกิจ Soyuz MS-23 ขึ้นไปรับนักบินอวกาศทั้งสามคนแทนยาน Soyuz MS-22 ที่เสียหาย ยานลำใหม่นี้ถูกส่งขึ้นไปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2023 และเข้าเทียบสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งระหว่างนั้นยาน Soyuz MS-22 ก็ยังเชื่อมต่อกับท่าของสถานีอวกาศนานาชาติอยู่ และ Soyuz MS-22 ที่มีปัญหาก็ปลดออกจากสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 8 มีนาคม 2023 กลับสู่พื้นโลกโดยไม่มีนักบินอวกาศกลับมากับยาน ยานลงจอดในทุ่งหญ้าทะเลทรายในคาซัคสถานและถูกเก็บกู้โดยทาง Roscosmos ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ส่วนที่เสียหายอย่าง Service module ของยานโซยุสถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศจนหมดไม่ได้ตกกลับลงมาด้วยเหมือนกับส่วนของนักบินอวกาศ ทำให้ไม่สามารถนำชิ้นส่วนนั้นกลับมาวิเคราะห์ถึงปัญหาและรอยรั่วในครั้งนี้ได้

ภาพถูกบันทึกโดยนักบินอวกาศขณะที่สารทำความเย็นรั่วไหลออกจากยาน Soyuz MS-22

ที่ทาง Roscosmos ไม่ปลดยาน Soyuz MS-22 ออกก่อนที่ยาน Soyuz MS-23 จะเข้ามาเทียบท่าก็เพราะว่าอันดับแรกคือเพื่อดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยที่ต้องมียานอวกาศเทียบท่าเป็นเรือชูชีพให้เพียงพอเท่ากับจำนวนของนักบินอวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันเหตุการณ์ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่ออันตราย นักบินอวกาศจะไม่มียานอวกาศที่พาเขากลับโลกได้ และเมื่อยาน Soyuz MS-23 มาเข้าเทียบท่า จำนวนที่นั่งของยานอวกาศก็มีมากกว่าจำนวนนักบินอวกาศทั้งหมดในสถานีอวกาศนานาชาติ จึงสามารถปลดยาน Soyuz MS-22 ออกจากท่าได้

ภาพถ่ายนักบินอวกาศ Sergey Prokopyev, Dmitry Petelin, และ Francisco Rubio ถ่ายรูปร่วมกันในยาน Soyuz MS-23 ที่จะพาพวกเขากลับโลก

ความพยายามในครั้งนั้นทำให้นักบินอวกาศทั้งสามท่านได้ยืดอายุภารกิจไปอีกหนึ่งรอบการเปลี่ยนถ่ายลูกเรือของสถานีอวกาศนานาชาติไปเป็น Expedition 67/68/69 ไปโดยปริยาย ระยะเวลาที่นักบินอวกาศทั้งสามได้อยู่ในอวกาศจึงเป็น 370 วัน

ดังนั้นตามแผนดำเนินการของทั้ง NASA และ Roscosmos จะเป็นการการันตีได้ว่านักบินอวกาศทุกคนจะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม เพียงแค่อาจจะช้าบ้างไปเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสำหรับนักบินอวกาศ การได้อยู่ในอวกาศได้นานขึ้นเปรียบเสมือนโบนัสในชีวิต และเมื่อนักบินอวกาศที่ประสบเหตุต้องอยู่ในอวกาศนานขึ้น ก็มักจะได้ยินคำพูดน้อยเนื้อต่ำใจจากเพื่อนนักบินอวกาศว่าอิจฉากลุ่มผู้ประสบภัยที่ได้อยู่ในอวกาศนานขึ้นเสมอ

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : spaceth

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยานอวกาศนักบินอวกาศสถานีอวกาศสถานีอวกาศนานาชาติISSอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด