การปลอมเสียง ปลอมภาพ เพื่อหวังผลบางอย่างไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวง (scam) รวมถึงการทำลายชื่อเสียง ในโลกยุคปัจจุบันอาจเกิดได้ง่ายขึ้น ทั้งจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกล รวมถึงกลยุทธ์ใหม่ ๆ ของเหล่ามิจฉาชีพ
Thai PBS ขอนำเสนอข้อมูลเพื่อรู้เท่าทัน หากโดนปลอมเสียง ปลอมภาพ ทั้งเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เราจะสามารถจัดการอย่างไรได้บ้าง ? และผู้กระทำผิดมีโทษอย่างไร ?
ปลอมเสียง ปลอมภาพ เข้าข่ายผิดกฎหมายอะไรบ้าง ?
การปลอมเสียง ปลอมภาพ ในยุคปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นได้มากมาย ความผิดทางกฎหมายจึงมีหลายข้อด้วยกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการก่อเหตุและความเสียหายที่เกิดขึ้น
1. ปลอมเสียงเพื่อหลอกเอาเงิน การปลอมเสียงรวมถึงปลอมภาพเพื่อหลอกลวงเอาเงิน หลอกให้เสียทรัพย์สิน โดยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายคนเดียว มีความผิดฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 มีความผิดฐานฉ้อโกง โดยผู้กระทำความผิดได้แสดงตนเป็นคนอื่น กระทำความผิดต่อบุคคลหนึ่ง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากกระทำความผิดต่อผู้คนจำนวนมาก (ต่อประชาชน) จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 400,000 บาท
2. ปลอมเสียง ปลอมภาพ หรือปล่อยคลิปเสียง ภาพให้เกิดความเสียหาย หลายกรณีเหล่านี้จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 ระบุไว้ว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หากกระทำโดยผ่านสื่อไม่ว่ารูปแบบใด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังมีความผิดทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ระบุให้ ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง ผู้นั้นต้องรับผิดชอบจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้
ขณะที่ในส่วนของการตัดต่อภาพให้เสียหาย จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ที่ระบุว่าโทษต่อคนที่นำภาพตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังหรืออับอาย มีโทษไม่เกิน 3 หรือไม่ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
ในส่วนของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีโทษสูงคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ในอดีตมีการนำมาฟ้องร่วมกับกรณีหมิ่นประมาทด้วยในฐานความผิดการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งเดิมทีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วหมายถึงการแฮคคอมพิวเตอร์ ดังนั้นในปี 2560 จึงมีการแก้ไขข้อกฎหมายเพิ่มเติมไม่ให้รวมเอาการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทเข้ามาในมาตรานี้แล้ว
การดำเนินการทางกฎหมายในคดีอาญานั้น แม้การกระทำผิดจะเข้าข่ายความผิดหลายมาตรา ไม่สามารถเอาผิดหลายกระทงพร้อมกันได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ระบุว่า หากการกระทำเดียวนั้นผิดกฎหมายหลายบท ให้มีการพิจารณาโทษเพียงบทเดียวเท่านั้น
เสียงที่แอบบันทึกใช้ในชั้นศาลได้หรือไม่ ?
การนำเสียงที่แอบบันทึกมาใช้ในชั้นศาล ในทางกฎหมายถือว่าหลักฐานนั้นได้มาด้วยวิธีการที่ผิด ในบางประเทศจะไม่ยอมรับหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของกฎหมายประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 มีการระบุว่า หลักฐานที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังยกเว้นจากว่าการรับฟังหลักฐานนั้นเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียที่เกิดกับมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ขณะที่ในส่วนกฎหมายหมิ่นประมาทนั้นมีแง่มุมของการฟ้องปิดปาก (SLAPP) หากเกิดกับกรณีการเปิดโปงการทุจริต หรือเป็นไปประโยชน์ต่อสังคม จึงยังคงเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรม และยังคงมีการเรียกร้องให้ปรับแก้ข้อกฎหมายเพื่อป้องกันกรณีลักษณะนี้อยู่
โดนปลอมเสียง ปลอมภาพ จัดการอย่างไรได้บ้าง ?
การปลอมเสียง ปลอมภาพสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง ตลอด 24 ชั่วโมงที่สถานีตำรวจ ทั้งนี้ อาชญากรรมที่เกิดในโลกออนไลน์มีข้อควรระวังคือการถูกลวงแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลีกเลี่ยงการเสิร์ชแจ้งความตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เนื่องจากพบกรณีผู้เสียหายหลายราย แจ้งความกับตำรวจปลอมและถูกหลอกเอาทรัพย์สินไปอีกทอด
การแจ้งความผ่านทางออนไลน์สามารถแจ้งได้ที่ www.thaipoliceonline.com เท่านั้น และควรพิมพ์ Url ด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันลิงก์เข้าสู่เว็บไซต์ปลอม
โดยขั้นตอนการแจ้งความออนไลน์ ผู้ที่ต้องการแจ้งความต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล จากนั้นจะต้องกรอกรายละเอียดแล้วจะได้รับเลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID เพื่อใช้ในการติดตามความคืบหน้า
หากไม่แน่ใจข้อมูลเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสามารถโทรปรึกษาได้ที่ สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 หรือ 081-866-3000 ขณะที่ช่องทางไลน์มีเป็นระบบแชทบอท @police1441
ในส่วนของการแจ้งความในกรณีหมิ่นประมาท นอกจากการแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว สามารถว่าจ้างทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องโดยตรงได้ด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการแจ้งความผู้เสียหายต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เสียงที่ถูกปลอมแปลง ภาพที่ถูกนำมาไปตัดต่อ เพื่อนำมาแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย
อ้างอิง
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341-343
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
- ตามประมาลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐