“ก้อนอิฐ” ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ทำจากเศษดินและหินที่อยู่บริเวณผิวชั้นบนของ “ดวงจันทร์” หรือ “เรโกลิธ” (Regolith) อาจเป็นวิธีในการสร้างโครงสร้างที่จำเป็นบนดวงจันทร์ในอนาคต
นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ร่วมมือกับเลโก้เพื่อขึ้นรูปก้อนอิฐ 3 มิติจาก “ฝุ่นอวกาศ” วัสดุดังกล่าวและวิธีการเชื่อมต่อกันของ “อิฐเลโก้” อาจช่วยแก้ปัญหาการสร้างสิ่งต่าง ๆ บนดวงจันทร์ เช่น ที่พักสำหรับนักบินอวกาศในอนาคต
“ยังไม่มีใครเคยสร้างโครงสร้างบนดวงจันทร์มาก่อน ดังนั้นเราจำเป็นต้องหาวิธีว่าจะสร้างอย่างไร และใช้วัสดุอะไรในการสร้าง เนื่องจากเราไม่สามารถนำวัสดุใด ๆ ไปกับเราได้” Aiden Cowley เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ ESA กล่าว
วิธีการเปลี่ยนฝุ่นดวงจันทร์ให้เป็น “เลโก้”
เนื่องจากเศษหินและเรโกลิธที่รวบรวมโดยนักบินอวกาศโครงการ Apollo และภารกิจหุ่นยนต์สำรวจที่นำตัวอย่างกลับมายังโลก มีอยู่เพียง 382 กิโลกรัมเท่านั้น ดังนั้น ทีมงานจึงทดลองใช้ชิ้นส่วนจากอุกกาบาตหินชนิดคอนไดร์ท (Chondrite) อายุ 4.5 พันล้านปี ที่พบบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาในปี ค.ศ. 2000 ชื่อว่า “NWA 869” อุกกาบาตชนิดนี้มีเม็ดโลหะ “คอนดรูล” (Chondrule) กระจายอยู่ทั่วทั้งก้อนของอุกกาบาต
คอนดรูลเหล่านี้อุดมไปด้วยแร่ซิลิเกต (Silicate) โอลิวีน (Olivine) และไพรอกซีน (Pyroxene) พวกเขาบดชิ้นส่วนอุกกาบาตให้กลายเป็นฝุ่นแล้วผสมเข้ากับเรโกลิธจำลอง (Regolith simulant) จากนั้นใช้วัสดุเหล่านี้มาขึ้นรูปเป็นก้อนอิฐเลโก้ 3 มิติ ถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์สามารถผลิตก้อนอิฐที่ต่อกันได้จากเรโกลิธบนดวงจันทร์เพื่อใช้ในการสร้างฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์ได้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : astronomy, lego, ธนกฤต สันติคุณาภรต์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร.
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech