การทิ้งเชื้อเพลิง (Fuel Dumping) เป็นหนึ่งในมาตรการฉุกเฉินสำหรับเครื่องบินในการลงจอดฉุกเฉิน เนื่องจากเหตุผลทางด้านน้ำหนักของเครื่องบินซึ่งมักจะมากเกินไปสำหรับการลงจอดฉุกเฉินหลังขึ้นบินได้ไม่นาน หรือการที่ท่าอากาศยานที่จะลงจอดฉุกเฉินมีความยาวของทางวิ่งไม่พอในการชะลอความเร็วหลังลงจอด จึงจำเป็นต้องทิ้งเชื้อเพลิงเพื่อให้สามารถหยุดเครื่องบินได้ทันเวลานั่นเอง
ในด้านการบิน มีอยู่สองสถานการณ์หลัก ๆ ที่เครื่องบินจะจำเป็นต้องทิ้งเชื้อเพลิงเพื่อลงจอดฉุกเฉิน สถานการณ์แรกคือการที่เครื่องบินเพิ่งขึ้นบินได้ไม่นาน แต่ต้องวนเครื่องกลับท่าอากาศยานเนื่องจากเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น มีผู้ป่วยบนเครื่องบิน หรือ เกิดปัญหาทางเทคนิคขึ้น สถานการณ์ที่สองคือเมื่อเครื่องบินจำเป็นต้องลงจอดฉุกเฉินระหว่างทาง แต่ท่าอากาศยานที่จะลงจอดฉุกเฉินนั้นมีทางวิ่งที่สั้นกว่าปกติ ทั้งสองสถานการณ์นั้นมีปัญหาเดียวกัน คือ น้ำหนักเกิน
เครื่องบินมีข้อจำกัดทางด้านน้ำหนักอยู่หลัก ๆ สองข้อจำกัด คือ น้ำหนักขึ้นบินสูงสุด (Maximum Takeoff Weight: MTOW) และน้ำหนักลงจอดสูงสุด (Maximum Landing Weight: MLW)
MTOW นั้นรวมน้ำหนักเปล่าของเครื่องบิน น้ำหนักของผู้โดยสารเฉลี่ย น้ำหนักของสัมภาระใต้เครื่อง น้ำหนักของเชื้อเพลิงหลักและเชื้อเพลิงสำรอง ซึ่ง MTOW เป็นน้ำหนักสูงสุดที่เครื่องบินจะสามารถบินขึ้นได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานการบิน
MLW นั้นรวมน้ำหนักทุกอย่างของเครื่องบินคล้ายกับ MTOW แต่ MLW เป็นน้ำหนักที่เครื่องบินจะสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย
เนื่องจากการลงจอดนั้นมักสร้างความเครียดให้กับโครงสร้างของเครื่องบินมากกว่าตอนขึ้นบิน ค่า MLW จึงจะต่ำกว่าค่า MTOW เกือบเสมอ ดังนั้นหากเครื่องบินบินขึ้นที่น้ำหนัก MTOW จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ น้ำหนักรวมของเครื่องบินจะสูงกว่าน้ำหนัก MLW ซึ่งจุดนี่เองเป็นจุดที่เครื่องบินจะไม่สามารถลงจอดได้ทันทีและจะต้องรอให้เครื่องบินใช้เชื้อเพลิงไปจำนวนหนึ่งก่อน ซึ่งจะทำให้น้ำหนักรวมของเครื่องบินลดลง มากพอที่น้ำหนักรวมของเครื่องบินจะต่ำกว่าค่า MLW ได้ และลงจอดได้อย่างปลอดภัย
ระบบทิ้งเชื้อเพลิงถูกออกแบบมาเพื่อให้เครื่องบินสามารถทิ้งเชื้อเพลิงเพื่อลดน้ำหนักของเครื่องบินให้มากพอสำหรับการลงจอดฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในเครื่องบินขนาดใหญ่ที่อัตราส่วนระหว่าง MLW และ MTOW นั้นห่างกันมาก ซึ่งหมายความว่า หากไม่มีระบบทิ้งเชื้อเพลิงแล้ว เครื่องบินจะต้องใช้เวลาในการบินวนเพื่อลดน้ำหนักจากเชื้อเพลิงเป็นเวลานาน นอกจากนี้ หากระหว่างลงจอด เครื่องบินจำเป็นต้อง “Go Around” หรือยกเลิกการลงจอดฉุกเฉินและบินกลับขึ้นสู่ความสูง การที่เครื่องบินน้ำหนักเกินอาจหมายถึงการที่เครื่องบินไม่สามารถเพิ่มความสูงกลับได้ทัน และตกกระแทกพื้น
เครื่องบินขนาดเล็กสมัยใหม่อย่าง Airbus A320 หรือ Boeing 737 ซึ่งเป็นเครื่องบินเจ็ตขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบันไม่มีระบบสำหรับทิ้งเชื้อเพลิงติดตั้งอยู่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าอัตราส่วน MLW ต่อ MTOW นั้นต่ำมากพอที่เครื่องบินสามารถบินวนเพื่อลดน้ำหนักและลงจอดฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว หรือหากจำเป็น ก็สามารถลงจอดทั้งที่น้ำหนักเกินได้ เนื่องจากโครงสร้างถูกออกแบบมาให้สามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น (Safety Margin) สำหรับใช้งานในกรณีฉุกเฉิน
ส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่อย่าง Boeing 747 หรือ Airbus A340 มักมี MTOW และ MLW ที่ห่างกัน รวมถึงมีอัตราการไต่ระดับที่ไม่มากพอสำหรับการ Go Around เมื่อน้ำหนักเกิน จึงจำเป็นต้องมีระบบทิ้งเชื้อเพลิง
การทิ้งเชื้อเพลิงกลางอากาศนั้นจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศและทิ้งเชื้อเพลิงที่ความสูงเหนือ 6,000 ฟุต ซึ่งจะทำให้เชื้อเพลิงนั้นระเหยไปก่อนที่จะตกถึงพื้น
เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech