มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้พัฒนากล้อง PrivacyLens ที่สามารถเปลี่ยนภาพคนในวิดีโอให้เป็นภาพคนลักษณะรูปแท่งเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว
การรักษาความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่สังคมให้การตระหนักมากขึ้นในปัจจุบัน เห็นได้จากการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) การขอความยินยอมจากผู้ใช้งานในการเก็บข้อมูลการเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ แต่การรักษาความเป็นส่วนตัวในที่สาธารณะยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะกล้องวงจรปิดมีอยู่ทั่วทุกมุมถนนคอยเก็บภาพเวลาที่เดินผ่าน หรือแม้กระทั่งกล้องที่อยู่ในหุ่นยนต์ทำความสะอาดภายในบ้านก็เก็บภาพเราไว้เช่นกัน
กล้อง PrivacyLens จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว โดยการปกปิดตัวตนของบุคคลก่อนส่งข้อมูลต่อไปที่อื่น
กล้องตัวนี้ใช้ทั้งกล้องวิดีโอและกล้องตรวจจับความร้อนเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหว และสามารถประมวลผลข้อมูลบนตัวกล้องเองเพื่อลดความเสี่ยงในการส่งข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนได้ไปยังระบบคลาวด์
นอกจากนี้ ยังมีการปรับระดับการเซนเซอร์เพื่อให้ผู้ใช้สามารถควบคุมความเป็นส่วนตัวได้ ซึ่งจากแบบสำรวจแสดงให้เห็นว่าบางคนอาจรู้สึกสบายใจที่จะเบลอใบหน้าเฉพาะเวลาอยู่ในห้องครัว แต่ในส่วนอื่น ๆ ของบ้านอาจต้องการให้ปกปิดร่างกายทั้งหมด อุปกรณ์นี้จึงสามารถให้ผู้ใช้ควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตนเองได้ และควบคุมได้ว่าใครบ้างที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลนี้
เมื่อกล้องจับภาพบุคคลได้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องจะทำการถอดบุคคลนั้นออกจากวิดีโอ และแทนที่ด้วยภาพคนเคลื่อนไหวในลักษณะเลียนแบบท่าทางการเคลื่อนไหวจริงของบุคคลนั้น ทำให้ข้อมูลที่ส่งออกไปยังระบบคลาวด์ไม่เปิดเผยให้เห็นว่าเป็นภาพบุคคลจริง ๆ
ทีมงานของมหาวิทยาลัยมิชิแกนไม่เพียงแต่ใช้อุปกรณ์นี้เพื่อป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัวเท่านั้นแต่ยังระบุว่าสามารถใช้เพื่อตรวจสุขภาพ หรือติดตามอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรังได้ด้วย โดยกล้องจะช่วยติดตามนิสัยการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือขอความช่วยเหลือเมื่อผู้สูงอายุหกล้ม ซึ่งอุปกรณ์นี้จะช่วยลดปัญหาด้านจริยธรรมในการติดตามบุคคลโดยการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ อุปกรณ์นี้จะช่วยให้ทีมแพทย์สามารถรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาในขณะที่ยังรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยเอาไว้ได้ด้วย
ที่มาข้อมูล: newatlas, umich, futurity
ที่มาภาพ: umich 1, umich 2, umich 3
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech