รู้จัก Aerial Refueling การเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินกลางอากาศ


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก Aerial Refueling การเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินกลางอากาศ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1306

รู้จัก Aerial Refueling การเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินกลางอากาศ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

การเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินกลางอากาศหรือที่รู้จักกันในชื่อ “Aerial Refueling” หรือ “Air-to-air Refueling” เกิดขึ้นมาจากความต้องการขยายระยะการบินของเครื่องบินโดยใช้เครื่องบินขนาดใหญ่หนึ่งลำทำหน้าที่เป็น “Tanker” หรือเครื่องบินขนน้ำมัน คล้ายกับ “ปั๊มน้ำมันลอยฟ้า” เพื่อให้เครื่องบินขนาดเล็กสามารถเติมเชื้อเพลิงกลางทางระหว่างขาไปหรือขากลับได้

การเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศให้กับเครื่องบินมีมาตั้งแต่ช่วงปี 1920

การเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินกลางอากาศนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในยุคบุกเบิกการบินแล้ว ตั้งแต่ในช่วงปี 1920 เมื่อมีการสาธิตการทดลองถ่ายน้ำมันระหว่างเครื่องบินสองลำที่บินประชิดกัน เพื่อพิสูจน์ว่าการเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินกลางอากาศนั้นเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม การเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศในยุคดังกล่าวเป็นเพียงแค่การ “ทดลองเล่น ๆ” ว่าเป็นไปได้ แต่การจะนำมาใช้งานจริงนั้นยากและซับซ้อนเกินไป จึงทำให้การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในอากาศในยุคดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญต่อวงการการบินมากนัก

การเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินนั้นทำให้เครื่องบินสามารถเพิ่มระยะการบินได้

ข้ามมาในช่วงยุคสงครามเย็นที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตนั้นกำลังดุเดือด ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเครื่องบินที่มีระยะการบินที่ไกลขึ้น นั่นเป็นเพราะว่ายิ่งเครื่องบินมีระยะบินมากเท่าใด ก็สามารถทิ้งระเบิด เช่น ระเบิดปรมาณู ลึกเข้าไปในเขตกดศัตรูได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่สามารถลดระยะประชิดระหว่างฐานทัพอากาศกับประเทศคู่อริได้เพื่อลดความเสี่ยงจากการโจมตีจากข้าศึก

แต่การเพิ่มระยะของเครื่องบินทิ้งระเบิดนั้นจำเป็นต้องเพิ่มขนาดของเครื่องบินที่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เครื่องบินจะมีขนาดใหญ่มากจนเผาผลาญเชื้อเพลิงมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงจะมีจุดหนึ่งที่การเพิ่มขนาดของเครื่องบินเพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงและระยะการบินนั้นจะไม่คุ้มค่า

จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศอย่างจริงจัง

การเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบิน Boeing B-52 Stratofortress ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดในช่วงยุคสงครามเย็น

ในการสาธิตประสิทธิภาพระบบเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศของฝั่งสหรัฐอเมริกา เครื่องบินทิ้งระเบิด Boeing B-52 Stratofortress ในภารกิจ Operation Power Flite ช่วงปี 1957 กว่า 3 ลำ บินติดต่อกันเป็นเวลากว่า 45 ชั่วโมง รอบโลก โดยมีเครื่องบิน “Tanker” หรือเครื่องบินขนเชื้อเพลิงคอยเติมเชื้อเพลิงให้กับ Boeing B-52 Stratofortress ตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้เครื่องบินบินต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องลงจอด

เครื่องบิน KC-10 Extender ขณะกำลังเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบิน F-16

ปัจจุบัน ฝั่งสหรัฐอเมริกาใช้เครื่องบิน Boeing KC-135 Stratotanker และ KC-10 Extender เป็นเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงหลัก รูปแบบของการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศนั้นมีสองแบบ คือ การให้เครื่องบินที่จะเติมเชื้อเพลิงนำท่อรับมาเสียบเข้ากับท่อของ Tanker โดยท่อจาก Tanker นั้นจะมีร่มขนาดเล็กเพื่อช่วยในการนำทางท่อจากฝั่งเครื่องบินที่จะรับเชื้อเพลิง รูปแบบนี้เรียกว่า “Probe-and-Drogue”

ในขณะที่อีกรูปแบบหนึ่งคือ “Flying Boom” ซึ่งหลักการทำงานนั้นเปรียบเสมือนแขนกลที่ฝั่ง Tanker สามารถควบคุมได้ โดยที่จะมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า “Boom Operator” มาควบคุมโดยเฉพาะเพื่อควบคุมให้ “Boom” หรือท่อส่งเชื้อเพลิงต่อเข้ากับท่อรับของผู้รับ

ดังนั้นทั้งสองวิธีนั้นแตกต่างกันตรงที่ “Probe-and-Drogue” นักบินของเครื่องบินรับจะเป็นคนพยายามต่อท่อเชื้อเพลิง ขณะที่ “Flying Boom” นักบินของเครื่องบินฝั่งรับแค่ต้องบินประชิดกับ Tanker ให้มากพอ จากนั้นก็รอให้ Boom Operator บังคับ Flying Boom ให้ต่อเข้ากับท่อรับเชื้อเพลิง

ในรูปนี้ KC-10 Extender กำลังใช้ Flying Boom ในการเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบิน F-16

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Aerial Refuelingเครื่องบินThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech InnovationนวัตกรรมInnovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด