4 อันตรายควรรู้บนรถไฟฟ้าเอาตัวรอดอย่างไร


How to

22 พ.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

4 อันตรายควรรู้บนรถไฟฟ้าเอาตัวรอดอย่างไร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1184

4 อันตรายควรรู้บนรถไฟฟ้าเอาตัวรอดอย่างไร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

รถไฟฟ้ากลายเป็นมาการเดินทางหลักของชีวิตคนเมือง หลายครั้งคุณอาจต้องเผชิญกับเหตุฉุกเฉิน Thai PBS รวบรวมข้อแนะนำสำหรับเหตุอันตรายที่อาจเกิดได้กับทุกคน

พลัดตกรางรถไฟ เกิดป่วยหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมกะทันหัน ถูกลวนลามคุกคามทางเพศหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย รวมถึงหากรถไฟฟ้าที่โดยสารเกิดเหตุขัดข้อง ผู้โดยสารอย่างเรา  ๆ จะรับมือกับเหตุเหล่านั้นอย่างไร
 

พลัดตกรางรถไฟฟ้ารับมืออย่างไร ?

แม้ถึงตอนนี้ชานชาลารถไฟฟ้าจะมีการติดตั้งที่กั้นระหว่างรางกับสถานีกันมากแล้ว แต่เหตุพลัดตกรางรถไฟฟ้าอาจเกิดขึ้นได้ หากตกลงไปแล้วยังไม่หมดสติ ควรออกห่างจากบริเวณรางที่จะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน เนื่องจากพื้นที่ใต้รถไฟฟ้านั้นแคบมาก จะเกิดอันตรายขึ้นได้ หากเป็นไปได้จึงควรปีนขึ้นสู่ชานชาลาให้เร็วที่สุด

กรณีปีนขึ้นมาไม่ทันผู้โดยสารสามารถเข้าหลบที่ขอบใต้ชานชาลาได้ อย่างไรก็ตาม ควรร้องขอความช่วยเหลือให้มีการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อทำการหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉินได้ทันท้วงที

สำหรับผู้โดยสารที่พบเจอเหตุพลัดตกรางรถไฟฟ้า ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ชานชาลา หรือสามารถรีบกดปุ่มหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นปุ่มในกรอบสีเหลืองบนป้ายสีเขียว มีการติดตั้งอยู่ที่ทุกชานชาลา 
อย่างไรก็ตาม กรณีผู้โดยสารที่ใช้งานระบบรางรถไฟฟ้าหรือรถไฟที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุหรือเด็ก อาจมีอาการป่วยหรือมีเหตุให้พลัดตกรางได้ จึงควรอยู่ในระยะห่างจากรางเพื่อความปลอดภัย
 

ถูกลวนลาม คุกคามจะแจ้งเหตุอย่างไร ?

เมื่อผู้โดยสารรู้สึกถูกคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)วมถึงรู้สึกไม่ปลอดภัย สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้หลายช่องทางด้วยกัน หากเกิดในชานชาลาสามารถติดต่อแจ้งเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง

แต่กรณีเกิดในขบวนรถหรือไม่พบเจ้าหน้าที่อยู่ใกล้ สามารถแจ้งผ่าน “ปุ่มแจ้งเหตุ” ที่ติดตั้งอยู่ข้างประตูขึ้น-ลงรถไฟฟ้า เป็นปุ่มกลมมีสัญลักษณ์กระดิ่งอยู่ในปุ่ม และมีขอบสีเหลือง (กรณีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์จะใช้การโยกคันโยกฉุกเฉินเพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่พ) ปุ่มแจ้งเหตุจะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าขบวนนั้นได้

ผู้โดยสารสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าถึงเหตุที่เกิดขึ้น และจะมีการประสานงานให้เจ้าหน้าที่ในสถานีถัดไปเข้าแก้ไขสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากเผชิญเหตุคุกคามมีข้อแนะนำให้เดินหนีหรือออกห่างจากผู้ก่อเหตุ ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง และแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและจับกุมผู้กระทำผิด สถานที่ก่อเหตุคุกคามทางเพศเกิดได้มากที่สุดคือบันไดเลื่อน เป็นลักษณะของการแอบถ่าย ผู้โดยสารจึงต้องหมั่นสังเกตรอบข้างและระมัดระวังคนที่เข้ามาใกล้ตัว

ทั้งนี้ กรณีผู้โดยสารที่พบเหตุคุกคามทางเพศ มีข้อแนะนำถึงแนวทางให้ความร่วมมือได้หลายทาง อาทิ ใช้เสียงตะโกนให้คนรอบข้างร่วมช่วยเหลือ รวมถึงตั้งคำถามกับพฤติกรรมนั้น ช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่ เอาตัวเข้าแทรกระหว่างผู้ก่อเหตุกับผู้ถูกคุกคาม หรือพูดคุยกับผู้ถูกคุกคามเหมือนเป็นคนรู้จักเพื่อให้คนร้ายถอยห่าง หรือถ่ายคลิปเพื่อใช้เป็นหลักฐาน
TSNBg3wSBdng7ijM75Xj43f4y5ehlY8MFcQmwcP15mo.jpg

หน้ามืด วิงเวียน ป่วยกะทันหันต้องทำอย่างไร ?

ระหว่างการเดินทางผู้โดยสารรถไฟฟ้าอาจเกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด หรือรู้สึกไม่สบายขึ้นได้ ทุกคนสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เพื่อขอรับความช่วยเหลือ หรือกรณีอยู่บนขบวนรถไฟให้กดปุ่มแจ้งเหตุได้เช่นกัน

โดยในทุกสถานีรถไฟฟ้าจะมีห้องปฐมพยาบาลและมีเจ้าหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือดูแลอาการเบื้องต้น มีเตียงสำหรับนอนพักและรถเข็นสำหรับอำนวยความสะดวกไว้ให้บริการ
 

เหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ต้องทำอย่างไร ?

กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ อาทิ พบไฟไหม้บนรถไฟฟ้า หรือมีการทำงานขัดข้องอื่น ๆ หากเหตุเกิดภายในขบวนรถสามารถใช้ปุ่มกระดิ่งแจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมรถเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ ทั้งนี้ หากเหตุฉุกเฉินเป็นกรณีเพลิงไหม้ ผู้โดยสารสามารถใช้ถังดับเพลิงจะอยู่ที่ใต้ที่นั่งโดยสาร สามารถอ่านคู่มือเพื่อใช้งานดับเพลิงได้

ในส่วนของคันโยกฉุกเฉินสีแดง (PER – Passenger Emergency Release) นั้น สามารถใช้ได้ในกรณีเพื่อเปิดประตูขบวนรถฉุกเฉินเมื่อรถหยุดอยู่ที่สถานีเท่านั้น (กรณีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์จะเป็นคันโยกสีเขียว)

คันโยกดังกล่าวจะกระทบต่อการเดินรถอื่น ๆ จึงมีการกำหนดให้ใช้เฉพาะเหตุจำเป็น หากใช้ด้วยเหตุไม่สมควร เช่น ขึ้นรถผิดฝั่ง ใช้เปิดประตูรถไฟฟ้าเพื่อรอเพื่อน เหล่านี้จะมีโทษปรับ ส่วนเหตุจำเป็นจะได้แก่ กรณีมีผู้โดยสารตกไปที่ช่องระหว่างเป็นตู้โดยสาร เป็นต้น

ในส่วนของเหตุฉุกเฉินที่ชานลาชา กรณีต้องการให้หยุดรถจะมีปุ่มสีเหลือง และหากเกิดเหตุเพลิงไหม้จะเป็นปุ่มที่สีแดงเพื่อแจ้งเหตุที่บริเวณชานชาลา อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นกรณีฉุกเฉินใด ๆ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็วที่สุด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
"บีทีเอส" ชี้แจงผู้โดยสารดึงคันโยกฉุกเฉิน กระทบเดินรถ
ชายวัย 25 ปีตก BTS เสียชีวิต พยานเห็นวิ่งลงรางรถไฟฟ้า

อ้างอิง
ความปลอดภัยในการใช้ระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการ ใช้ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส
เมื่อเป็นลมบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทำไงดี?

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รถไฟฟ้าเป็นลมบนรถไฟฟ้าBTSบีทีเอสMRTรถไฟฟ้าขัดข้องตกราง
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด