ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Blue Period โมงยามสีน้ำเงิน ชั่วขณะแห่งความสับสนของเยาว์วัย


Lifestyle

7 เม.ย. 66

พิชญา ใจสุยะ

Logo Thai PBS
แชร์

Blue Period โมงยามสีน้ำเงิน ชั่วขณะแห่งความสับสนของเยาว์วัย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/107

Blue Period โมงยามสีน้ำเงิน ชั่วขณะแห่งความสับสนของเยาว์วัย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เวลาเราเดินเข้าไปชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ หรือ Art Gallery เคยรู้สึกไหมว่าภาพ ๆ หนึ่งที่กำลังมองอยู่ "ไม่เห็นสวย" หรือ "ไม่เข้าใจ" ในสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อ แล้วถ้าศิลปินคนนั้นคือคนที่ทั่วโลกต่างยกย่องในผลงานศิลปะ หรือจะผิดที่มุมมองของเราเองหรือเปล่า ?

"ยางุจิ ยาโทระ" (Yaguchi Yatora) เด็กหนุ่มวัยมัธยมปลาย ตัวละครในการ์ตูนเรื่อง Blue Period โดย สึบาสะ ยามางุจิ ก็คือหนึ่งในนั้น เขาสงสัยว่าภาพวาดของปิกัสโซที่ทั่วทั้งโลกยกย่องกันหนักหนามีดีอะไร

"เราไม่เข้าใจว่ารูปของปิกัสโซมีดีที่ตรงไหน ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงพากันกล่าวว่านั่นคือจุดสุดยอดของศิลปะ มองภาพไม่ออก อย่างเราก็น่าจะวาดได้ไม่ใช่รึไง" - ยางุจิ ยาโทระ จากหนังสือ Blue Period เล่มที่ 1

#วันนี้ในอดีต 8 เม.ย. 2516 คือวันที่ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Ruiz Picasso) ศิลปินเอกของโลกชาวสเปน ถึงแก่กรรม ในวัย 91 ปี เขาได้ฝากผลงานศิลปะไว้ให้โลกชื่นชมมากกว่า 100,000 ชิ้น

ช่วงเวลาสีน้ำเงิน (Blue Period) คือหนึ่งในช่วงงานศิลปะของปิกัสโซ ที่ใช้สีน้ำเงินเป็นสีหลัก สื่อถึงความเคร่งขรึมและมืดมน หลังเพื่อนคู่ใจอย่าง Carlos Casagemas ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง ทำให้ปิกัสโซที่กำลังดิ้นรนกับหน้าที่การงานและการเงิน เสียศูนย์อย่างหนัก ทำให้ส่งผลถึงแนวทางผลงานศิลปะของเขา

ส่วน ยาโทระ ในการ์ตูนเรื่อง Blue Period เป็นเด็กหนุ่ม ม.5 ผมทอง เจาะหู กินเหล้า สูบบุหรี่ ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนทุกคืน แต่ก็กลับบ้านมาอ่านหนังสือ และยังมีผลการเรียนในระดับดีมาก เรียกได้ว่าใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ทั้งเรียนและเล่น แต่เขากลับรู้สึกว่างเปล่า ไร้แรงขับเคลื่อน แค่ตั้งใจเรียน ตั้งใจเล่น เข้าคณะและมหาวิทยาลัยที่ดี เลือกอาชีพที่มั่นคง และใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดหมาย จนเมื่อเขาได้เห็นภาพวาดของรุ่นพี่คนหนึ่งในชมรมศิลปะ อารมณ์ความรู้สึกบางอย่างก็เริ่มเติบโตขึ้นภายในใจโดยที่เขาไม่รู้ตัว

ช่วงเช้าวันหนึ่ง ขณะยาโทระกำลังเดินกลับบ้านพร้อมเพื่อนหลังจากสังสรรค์กันมาทั้งคืน เขารู้สึกว่าชิบุยะในวันนี้ช่างแตกต่างจากวันอื่น เป็นชิบุยะช่วงเช้าตรู่ ที่เงียบ...และเป็นสีน้ำเงิน

“ถ้าเรารู้สึกว่ามันเป็นสีน้ำเงิน จะแอปเปิลหรือว่ากระต่าย ก็เป็นสีน้ำเงินได้โดยไม่ผิด” รุ่นพี่เจ้าของภาพคนนั้นบอกกับยาโทระ หลังเขาเล่าความรู้สึกที่ชิบุยะในวันนั้นให้ฟัง บรรยากาศที่รู้สึกง่วงนอน ฟ้าในตอนเช้าที่สว่างน้อย ๆ ทว่าก็เงียบเชียบเหมือนไม่ใช่ชิบุยะ ความรู้สึกว่าวันใหม่กำลังเริ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เหมือนกำลังจะหลับไป โลกสีน้ำเงินใบนั้น

เมื่อปลายพู่กันจุ่มสีน้ำเงิน ตวัดลงบนกระดาษที่มีรอยดินสอขีดเป็นเส้นตึก ปริมาณน้ำที่อยู่ในสี น้ำหนักมือกดลงไม่เท่ากัน ปรากฏออกมาเป็นชิบุยะในวันนั้นอย่างที่เขามองเห็น และรู้สึก ตอนนั้นเองยาโทระรู้สึกว่า ศิลปะน่าสนใจ เพราะมันคือภาษาที่ไร้ตัวอักษร เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดมา ที่เขารู้สึกว่าได้พูดคุยกับคนอื่นจริง ๆ แล้วเส้นทางในโลกศิลปะของยางุจิก็ได้เริ่มต้นขึ้น

แต่ก็ไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายนัก ด้วยความเป็นมือใหม่ในโลกศิลปะของยาโทระ เขาต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อตามคนอื่นให้ทันหากจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยศิลปะของรัฐ ที่มีค่าเล่าเรียนถูกที่สุดให้ได้ เพราะครอบครัวของเขาก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยขนาดนั้น เขาต้องเรียนทั้งเทคนิคการวาด การจัดองค์ประกอบศิลป์ ทัศนมิติ และอื่น ๆ อีกมากมาย ยาโทระใช้ความพยายามที่เป็นสิ่งเดียวที่ติดตัวมาด้วยเข้าสู้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาก็ค้นพบว่าความสามารถในการวาดภาพของเขา “ธรรมดา” ทำให้เขายิ่งต้องวาด วาด วาด และวาดให้มากกว่าคนอื่นหลายเท่า

ในโลกศิลปะยาโทระก็ได้เรียนรู้ว่าการมองศิลปะคือเรื่องปัจเจก และกว่าจะสร้างงานงานหนึ่งออกมาได้ ศิลปินต้องผ่านกระบวนการคิด ตกผลึก ฝึกฝน และลงมือหลายต่อหลายครั้ง แม้ภาพนั้นจะดูธรรมดาขนาดไหน หรือจะมองแล้วไม่เข้าใจก็ตาม แต่การได้เรียนรู้ขั้นตอนก่อนหน้านั้น ก็อาจทำให้การมองภาพสนุกขึ้นมาได้

ระหว่างทางก็มีตัวละครมากมายที่มีความฝันเดียวกันผ่านมาให้เรียนรู้มุมชีวิต อย่างความสับสนในเรื่องความสัมพันธ์ เส้นทางชีวิต และการรับมือกับความเจ็บปวด ของ อายุคาวะ ริวจิ หรือ ยูกะจัง คนที่มีเพศกำเนิดชาย แล้วชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง การรับมือในความผิดหวังของคนที่สอบไม่ติด และการปลอบประโลมของคนรอบข้าง

เมื่อนึกถึงช่วงเวลาสีน้ำเงิน (Blue Period) ของ “ปิกัสโซ” เราจะนึกถึงความเคร่งขรึมและมืดมน แต่ช่วงเวลาสีน้ำเงินของยาโทระ แตกต่างออกไป ไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาแห่งการจุดประกายแบบที่ชิบุยะเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสน การตามหาคำตอบ การสงสัยในทางเลือก การผิดหวังในตัวเอง การได้รับการปลอบประโลม และการปลอบประโลมคนอื่นด้วยเช่นกัน

แล้วช่วงเวลาในตอนนี้ของคุณเป็นสีอะไร ?

 

เกร็ดความรู้

โดยในหนังสือการ์ตูนเรื่อง Blue Period ยังมีการนำภาพวาดที่มีชื่อเสียงหลายภาพ มาปรับเป็นลายเส้นของ สึบาสะ ยามางุจิ ผู้วาดการ์ตูนเรื่องนี้อีกด้วย ชวนให้ผู้อ่านและผู้ชมตามหาว่ามีภาพไหนบ้างที่เป็นต้นแบบ  ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผลงานของปิกัสโซ ที่มีชื่อว่า “ห้องสีฟ้า (The Blue Room)”

  • The Blue Room, Picasso, Oil on Canvas, 1901 | หนังสือ Blue Period เล่มที่ 1 ตอนที่ 1
  • The Tapestry Weavers, Diego Velázquez, Oil on Canvas, 1655-1660 | หนังสือ Blue Period เล่มที่ 2 ตอนที่ 5
  • The Desperate Man, Gustave Courbet, Oil on Canvas, 1843-1845 | หนังสือ Blue Period เล่มที่ 3 ตอนที่ 12

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Blue Periodบลูพีเรียด
พิชญา ใจสุยะ
ผู้เขียน: พิชญา ใจสุยะ

อยากเกิดเป็นก้อนหิน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด