“ไฟป่าดอยสุเทพ” เป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจ ทั้งนี้เหตุไฟป่าภาคเหนือ เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงหน้าร้อน – แล้งในทุก ๆ ปี ทว่าจากหลักฐานที่ผ่านมา พบว่าเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ เหตุใดจึงยังมีการเผาป่าเกิดขึ้น ? ทั้งที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ? Thai PBS ชวนสำรวจเบื้องหลังที่มาของ “ไฟป่าดอยสุเทพ” จาก 4 เรื่องราวเหล่านี้
ไฟป่าดอยสุเทพเกิดบ่อยแค่ไหน ?
ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ข้อมูลจากงานวิจัย “แนวทางการแก้ปัญหาไฟป่าแบบผสมผสานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุยของเกษตรกรในตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่” เผยว่า ในช่วงปี 2547 – 2552 เกิดไฟป่าขึ้นมากถึง 112 ครั้ง ต่อมาในปี 2563 มีการเผยตัวเลขการเกิดไฟป่าบนพื้นที่อุทยาน เกิดขึ้น 102 ครั้ง และในปี 2564 เกิดไฟป่า 45 ครั้ง ขณะที่สถิติจุดความร้อนในปี 2566 มีการเก็บข้อมูลพบมากถึง 199 จุด
สถานการณ์ไฟป่าที่อุทยานดอยสุเทพจึงเกิดขึ้นมากบ้าง น้อยบ้างในทุกปี ถือเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะฝุ่นควันที่เป็นอันตราย โดยมีสาเหตุหลัก ๆ จากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่ามาจากการวางเพลิงเป็นต้นเหตุสำคัญ
สาเหตุของการเผาป่า คืออะไร ?
ต้นเหตุของไฟป่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ปรากฏหลักฐานว่ามาจากฝีมือมนุษย์ โดยที่ผ่านมามีการกำหนดบทลงโทษต่อผู้กระทำผิด แต่ก็ยากที่จะจับกุม เนื่องจากมีการลอบวางเชื้อเพลิงไว้ก่อนจะหลบหนีไปไกลจากจุดก่อเหตุ ด้วยเส้นทางหนีที่มีมากมายในป่า ทำให้การจับกุมเป็นไปด้วยความลำบาก โดยเอกสาร “คู่มือการรายงานการเกิดไฟป่าและผลการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า” จากส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จำแนกสาเหตุของไฟป่าจาก “การวางเพลิง” ไว้หลัก ๆ 8 สาเหตุด้วยกันดังนี้
1. เผาเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตร หรือกำจัดวัชพืช
2. เผาเพื่อหาของป่า จัดการสิ่งกีดขวาง หรือตีผึ้ง เผาต่อ
3. เผาเพื่อล่าสัตว์ ต้อนสัตว์ป่า
4. เผาเพื่อเลี้ยงสัตว์ ทำให้หญ้าระบัด (หญ้าที่แห้งถูกไฟเผาแล้วจะผลิแตกขึ้นใหม่) หรือทำเพื่อการปศุสัตว์
5. เผาจากฝีมือนักท่องเที่ยว อาจเกิดจากการทำกิจกรรมบางอย่างสำหรับการท่องเที่ยว
6. การเผาจากความขัดแย้ง เป็นการวางเพลิงที่เกิดจากความขัดแย้งบาดหมางระหว่างบุคคล กลุ่มคน องค์กรหรือหน่วยงาน ที่จงใจจุดไฟเผาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับอีกฝ่าย
7. เผาเพื่อลักลอบทำไม้ หรือค้าไม้ในเขตหวงห้าม
8. อุบัติเหตุ การเผาไหม้ที่ไม่ได้มีเจตนาให้เกิดไฟป่า อาจเกิดจากความประมาทแต่เกิดไฟไหม้ลุกลามขึ้นได้
ทั้งนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ยังมีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านเป็นฉากหลังที่เพิ่มความซับซ้อนของปัญหา ถึงตอนนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงพยายามยุติสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีหลากหลายมาตรการ ทั้งป้องกันเพื่อจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า และรับมือเมื่อเกิดเหตุ
รัฐมีมาตรการดับไฟป่าอย่างไร ?
ไฟป่า เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า จุดความร้อน (Hot spot) การดับไฟในปัจจุบัน ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อมอนิเตอร์จุดความร้อนในพื้นที่ ก่อนจะรายงานจุดดังกล่าวไปยังหน่วยงานดับเพลิงในพื้นที่ แล้วจึงมีการส่งโดรนออกไปบินตรวจหาจุดที่เกิดไฟป่า จากนั้นหน่วยงานจะเข้าดับเพลิงตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น โดยมีวิธีการดับไฟที่อาจแตกต่างกัน
แนวทางหลักมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ “การดับที่ต้นไฟโดยตรง” มักใช้กับไฟป่าขนาดเล็กที่สามารถดับโดยตรงได้ และ “การดับไฟทางอ้อม” มักใช้กับไฟป่าขนาดใหญ่ที่มีความร้อน จนไม่สามารถเข้าถึงขอบของไฟได้
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดแยกย่อย เป็นการดับด้วยแนวกันไฟ คือการสร้างแนวกีดขวางเชื้อไฟ เช่น ใช้ไม้หรือใบไม้แห้งขัดขวางหรือจำกัดการลุกลาม อาจใช้วิธีนำน้ำมารดให้เปียก หรือใช้รถขุดดินทำเป็นแนวกั้น ทั้งนี้ ยังมีวิธีการดับไฟป่าอื่น ๆ ที่ต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญในการดับไฟตามสถานการณ์ หรือตามสภาพแวดล้อมของพื้นที่ รวมถึงทิศทางลม โดยเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมในการควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามให้น้อยที่สุด
การดับไฟป่าที่แท้จริง จำเป็นต้องมีการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีมาตราการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ปี 2567 โดยชูการ “ลดจุดความร้อน และพื้นที่เผาไหม้ ร้อยละ 50” ผ่านการทำงานตั้งแต่การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง การลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อขอความร่วมมือ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิด จัดระเบียบการเผาเพื่อการเกษตร ทั้งหมดเป็นมาตรการที่พยายามลดปัญหาเหล่านี้ลงไปให้ได้มากที่สุด
เกิดไฟป่าดอยสุเทพ ทำให้สูญเสียอะไรบ้าง ?
“ดอยสุเทพ” ถือเป็นพื้นที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ได้รับการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ทั้งจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์นานาชนิด ถือเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่มีความพิเศษเฉพาะตัว และตั้งอยู่ใกล้กับที่อยู่ของชุมชน
ที่ผ่านมา ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานอย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เคยทำการศึกษา “ประมวลความรู้เรื่อง อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย” ได้ระบุถึงความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ในหลากหลายแง่มุม ซึ่งสามารถสรุปใจความหลัก ๆ ได้เป็น ความสำคัญในเชิงวัฒนธรรม และ ความสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ความสำคัญในด้านวัฒนธรรม ในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์คู่เชียงใหม่ โดยพื้นที่ดอยสุเทพถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นจิตวิญญาณเมือง เป็นบ้านของผู้คนและสรรพชีวิตมาอย่างยาวนาน เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ยังมี “สันกู่” โบราณสถานเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ยอดดอยปุย พื้นที่อุทยานแห่งนี้ยังมีความเชื่อกันว่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมืองไทยหลากหลายชาติพันธุ์ จึงมีความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรมอยู่ด้วย
ความสำคัญทางธรรมชาติ ดอยสุเทพถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ นักวิจัยด้านชีววิทยาให้ความเห็นว่า ในพื้นที่ดอยสุเทพมีความหลากหลายทางชีวภาพเทียบเท่าเกาะอังกฤษทั้งเกาะ เป็นที่อยู่ของทั้งสัตว์ป่าหายากรวมถึงพืชพรรณที่มีความหลากหลาย เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวในฐานะห้องเรียนธรรมชาติให้กับผู้คน นอกจากนี้ ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งฟอกอากาศขนาดใหญ่ รวมถึงแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญให้กับเมืองเชียงใหม่และอำเภอใกล้เคียงอีกด้วย
แนวโน้มของสถานการณ์ไฟป่าโดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย ในภาพรวมนับจากวิกฤตในช่วงปี 2563 ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามและมีมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพราะถึงตอนนี้สภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือยังคงย่ำแย่ และจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
บทความวิชาการ แนวทางการแก้ปัญหาไฟป่าแบบผสมผสานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุยของเกษตรกรในตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
คู่มือการรายงานการเกิดไฟฟ้าและผลการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า โดยส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
การศึกษา ประมวลความรู้เรื่องอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ข้อมูลสถิติจุดความร้อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2555 ถึง 2567 โดย ศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูล “ไฟป่า” ในไทยย้อนหลัง 10 ปี เผาผลาญไปมากกว่า 1 ล้านไร่
เปิด 7 ผลกระทบ “ไฟป่า” ไม่ได้มีเพียงฝุ่น-ควัน แต่สะเทือนถึงความหลากหลายทางชีวภาพ
ภารกิจป้องกันไฟป่าดอยสุเทพ ปี 65