จากกระแส “แกงไตปลา” ถูกจัดอันดับเป็นอาหารยอดแย่ อันดับ 1 ของโลก ทำเอาเกิดกระแส #SAVEแกงไตปลา แพร่กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ กลายเป็นว่า #แกงไตปลา เป็นของ “ที่ถูกกล่าวถึง” ขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำตลาด มีผลต่อทิศทางของสินค้า ไม่ว่าการตลาดนั้นจะเป็นไปในภาพบวก หรือว่าภาพลบ กับกรณี แกงไตปลา แม้ไม่อาจเรียกเป็นการทำการตลาดได้เต็มปากเต็มคำ แต่การจัดอันดับที่ออกมา มีผลในทางใดทางหนึ่งเช่นกัน
Thai PBS ชวนสำรวจ เส้นทางกระแส #SAVEแกงไตปลา ก่อนพาไปดูโลกแห่งการตลาดด้านอาหารนั้น มีความสำคัญอย่างไร
จุดกระแส #SAVEแกงไตปลา
เริ่มต้นจาก TasteAtlas เว็บไซต์ด้านอาหารชื่อดัง เผยแพร่การจัดอันดับ “อาหารยอดแย่” ของโลก โดยในรายละเอียดของการจัดอันดับครั้งนี้ เป็นการเปิดให้ผู้เข้าเว็บไซต์ มาลงคะแนนโหวต "100 อาหารยอดแย่ของโลก" เก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 16 มี.ค. 2567
ผลสรุปมีการลงคะแนนทั้งหมด 433,877 ครั้ง ซึ่งเป็นการลงคะแนนที่เข้าเกณฑ์ของเว็บไซต์ 301,750 ครั้ง ปรากฏว่า เมนู “แกงไตปลา” ถูกโหวตมาเป็นอันดับ 1 ของอาหารที่แย่ที่สุด
ทั้งนี้หากเข้าไปดูในเว็บไซต์ดังกล่าว แกงไตปลา ได้เรตติ้งการโหวตที่ 1.3 หรือแสดงเป็นสัญลักษณ์คือ 1 ดาวครึ่ง ซึ่งเป็นเรตติ้ง “ต่ำที่สุด” แม้ว่าจะต่ำกว่าอันดับสอง คือเมนูที่ชื่อ ฮาคาร์ล (Hákarl) จากประเทศไอซ์แลนด์ เพียงแค่ 0.5 หรือ ครึ่งดาวเท่านั้น
กระทั่งสื่อหลายสำนัก นำการจัดอันดับนี้เผยแพร่ออกไป กลายเป็นการจุดกระแสความคิดเห็นไปต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะข้อโต้แย้ง ว่าแท้ที่จริงแล้ว แกงไตปลาไม่ได้มีรสชาติแย่ อย่างที่ถูกจัดอันดับนั่นเอง
กระแส #SAVEแกงไตปลา แรงจนถึงนายกฯ
ไม่เกิน 24 ชม. หลังข่าวการโหวตจัดอันดับแกงไตปลาของเว็บไซต์ด้านอาหารชื่อดังเผยแพร่ออกไป กระแสการ “โต้แย้ง” ถึงคุณสมบัติของแกงไตปลาก็รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งตอกย้ำกระแสรุนแรงนี้ เมื่อนักข่าวนำประเด็นดังกล่าวไปถาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเห็นว่า เรื่องแบบนี้ อยู่ที่ลิ้นใครลิ้นมัน
“แล้วแต่ลิ้นใครลิ้นมัน เขาก็มีสิทธิจะวิจารณ์หรืออะไรได้ และก็ต้องให้ความเป็นธรรมว่า จริง ๆ แล้วมีอาหารไทยหลายชนิดที่ติดอันดับท็อปเทนของโลก แกงไตปลาอาจจะมีรสชาติเผ็ด มีความเข้มข้น แต่ส่วนตัวชอบมาก”
นายกฯ เศรษฐา ยังจุดประกายประเด็นนี้ ให้ไปสู่เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลพยายามให้ความสำคัญอยู่เช่นกัน
“เราต้องยอมรับว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิของเขาเหมือนกัน รสชาติของแกงไตปลา ก็อาจจะแรงเกินไปสักนิด เขาอาจจะไม่ค่อยคุ้นชิน เพราะว่าแกงไตปลาทำไม่เผ็ดก็ไม่ใช่แกงไตปลา แต่รัฐบาลนี้และคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ มีการส่งเสริมเรื่องอาหารอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว”
จากข่าวลบ สู่กระแสบวก “แกงไตปลา” ขายดีในไทย
อย่างที่ นายกฯ เศรษฐา ให้ความเห็น “ลิ้นใครก็ลิ้นมัน” และสำหรับ “ลิ้นคนไทย” แกงไตปลาคือ หนึ่งในที่สุดของเมนูอันถูกปาก ยิ่งมาเจอการโหวตที่ “สวนความรู้สึก” เช่นนี้ จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ “แกงไตปลาฟีเวอร์” ร้านค้าที่เสิร์ฟเมนูแกงไตปลาขาย มียอดจำหน่ายดีขึ้นผิดหูผิดตา
ยกตังอย่าง ร้านข้าวแกงในพื้นที่ จ.สตูล พบว่า กระแสตอบรับการซื้อแกงไตปลาไปรับประทานของลูกค้า ดีขึ้นกว่าเดิม เจ้าของร้านโอปอล์แกงถุงราดแกง บอกว่า มีลูกค้ามาเลือกซื้อเมนูแกงไตปลากันอย่างคึกคัก และเยอะกว่าปกติ เชื่อว่าอาจเป็นผลพวงจากกระแส ที่มีการจัดอันดับให้แกงไตปลาของประเทศไทยเป็นเมนูยอดแย่อันดับโลกนั่นเอง
เปิดกลยุทธการตลาดกับอาหาร และความหวังของแบรนด์ร้านค้า
“การตลาดกับอาหาร” เป็นของคู่กันมายาวนาน ยิ่งในปัจจุบัน การแข่งขันทวีความรุนแรง การใช้กลยุทธการตลาดเข้ามาช่วยผลักดันให้สินค้าขายได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ
หนึ่งในกิจกรรมทางการตลาดที่มาแรง และมีผลต่อยอดขายอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นคือ กิจกรรมการมอบรางวัลให้กับร้านอาหาร รวมถึงการยกระดับเมนูอาหาร ด้วยผลการโหวต หรือตัดสินจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งสองส่วนนี้ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับร้านอาหาร และเมนูอาหารพื้นถิ่นอย่างมาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลจากการมอบรางวัลเหล่านี้ สร้าง “มูลค่า” ให้กับทั้งร้านอาหาร และกับเมนูอาหาร ทว่าในมุมกลับกัน ด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น มีผลทำให้ราคาของเมนูอาหารบางอย่าง ดีดตัวสูงขึ้นจากเดิมอย่างมาก เช่น เมนูไข่เจียวบางชนิด สามารถทำราคาไปถึงหลักพันได้เลยทีเดียว
กิจกรรมการมอบ “รางวัล” เหล่านี้ จึงเป็นทั้งความน่าสนใจของผู้คน ตลอดจนเป็นความหวังของร้านค้า ที่สามารถนำอาหารก้าวขึ้นไปทำราคาให้สูงขึ้นอีกระดับ
รู้จัก Cooking Vacation การนำพาอาหารสู่กลยุทธดึงการท่องเที่ยว
อย่างที่กล่าวไป กิจกรรมการมอบรางวัลด้านอาหาร เสมือนการการันตีถึงความอร่อย ในคราวเดียวกัน รางวัลดังกล่าวนี้ ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Cooking Vacation อีกทางหนึ่ง
การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อศึกษา เรียนรู้ถึงวิธีการทำอาหารของแต่ละท้องที่ ที่ผ่านมา เคยมีงานวิจัยรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอาหารแบบ Cooking Vacation ทั้งในประเทศญี่ปุ่น สเปน และไทย โดยพบปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ผู้คนเลือกท่องเที่ยวเชิงอาหาร นั่นคือ ส่วนใหญ่เลือกจากความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่นนั้น ๆ
ดังนั้น ปัจจัยการเลือกชิมอาหาร จึงมีอะไรมากกว่ารสชาติ หากแต่คือประสบการณ์บางอย่าง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกดี การท่องเที่ยวเชิงอาหาร จึงถือเป็นเครื่องมือของการพัฒนาระบบอาหารท้องถิ่นของภูมิภาคและโลกอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และยังเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีไปในตัว
บทสรุป
“อาหาร” เป็นเรื่องความสนใจ และเรื่อง “รสชาติอาหาร” เป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัว แต่เหนือไปจากความชื่นชอบที่เป็นเรื่องปัจเจกแล้ว การตั้งราคาอย่างมีดุลยภาพ ถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้การทำตลาดกับอาหาร จะช่วยสร้างให้เกิดการรับรู้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ก็จริง แต่สมดุลแห่งราคา ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล
เพราะสุดท้ายแล้ว “อาหารดี” ควรมีผู้คน (มากมาย) ได้ชิม อาหารไม่ควรอยู่บนหอคอย เพียงเพื่อได้รับการการันตีถึงคุณงามความดีเท่านั้น
และในมุมกลับกัน อาหารที่ผู้คนไม่นิยม ไม่ได้หมายความว่า เป็นอาหารแย่ เพราะ “อาหารแย่” คือ อาหารที่ไร้ซึ่งคุณภาพ และไม่ควรรับประทานต่างหาก…
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-"แกงไตปลา" อันดับ 1 เมนูยอดแย่ TasteAtlas แต่คนใต้หรอยแรง
-นายกฯ ชี้ลิ้นใครลิ้นมัน "แกงไตปลา" อาจไม่ถูกปากต่างชาติ แต่ส่วนตัวชอบมาก
ดูวิดีโอที่เกี่ยวข้อง
-ชาว จ.ตรัง แห่กิน "แกงไตปลา" เมินผลจัดอันดับ | วันใหม่ไทยพีบีเอส | 5 เม.ย. 67