น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มองว่าหลักการการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติและสำรวจสภาพภูมิอากาศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหลักการที่ดี โดยสั่งให้ตั้งคณะทำงานที่ตั้งขึ้นศึกษารายละเอียดก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหากจำเป็นต้องขอความเห็นจากรัฐสภาก็ต้องทำตามขั้นตอน โดยเชื่อว่าทางสหรัฐฯจะเข้าใจ
แต่การแถลงข่าวในวันนี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันที่จะเร่งผลักดันให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยไม่ต้องผ่านการประชุมร่วมรัฐสภาตามมาตรา 190(2) โดยอ้างถึงการที่สหรัฐฯแจ้งว่าหากรัฐบาลไทยไม่สามารถหาข้อยุติในโครงการดังกล่าวได้ภายในวันที่ 26 มิ.ย. ได้ทันเพราะปัญหาในประเทศ จะขอถอนตัวจากโครงการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องน่าเสียดาย ในด้านผลประโยชน์และความรู้ที่ประเทศจะได้รับ รวมถึงงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการนี้ กว่า 900 ล้านบาท
ขณะที่ข้อกังวลของกรรมาธิการการต่างประเทศ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา ทั้ง 2 คณะ เห็นตรงกันว่ารัฐบาลจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนการอนุมัติ โดยเฉพาะกรรมาธิการวุฒิสภา ที่เห็นว่าควรนำกรณีนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาตามกรอบรัฐธรรมนูญ แม้ว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงรวมถึงกระทรวงกลาโหม จะยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับกิจการทหาร หรือ มีผลกระทบต่อความมั่นคง
สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามามีบทบาทกับสนามบินอู่ตะเภาตั้งแต่ปี 2508 โดยร่วมกับรัฐบาลไทย ปรับปรุงสนามบินเพื่อเป็นการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ภายในประเทศ
ในสงครามอินโดจีนปี 2510 สหรัฐฯ ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานปฏิบัติการทางทหาร โดยย้ายฐานบินทิ้งระเบิด บี 52 จากเกาะกวมมาอยู่ที่อู่ตะเภา เป็นฐานปฏิบัติการทิ้งระเบิดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา
กองทัพสหรัฐอยู่ในไทยนานกว่า 10 ปี ก่อนจะถอนกำลังทหารออกทั้งหมดในปี 2519 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ไทยต้องใช้เวลาปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่นาน จากความหวาดระแวงที่สหรัฐมีบทบาทในภูมิภาคนี้