ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อินโดนีเซีย : "สื่อสังคมออนไลน์" ช่องทางสื่อสารของเยาวชนอาเซียน

ต่างประเทศ
2 ม.ค. 59
18:20
2,747
Logo Thai PBS
อินโดนีเซีย : "สื่อสังคมออนไลน์" ช่องทางสื่อสารของเยาวชนอาเซียน
อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่มีคนใช้สื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดในอาเซียน ตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในเวลาไม่นาน ทำให้เครือข่ายเยาวชนอาเซียนคาดว่าสื่อดังกล่าวอาจมีอีกบทบาท เป็นช่องทางการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ในอาเซียน ติดตามจากรายงาน

กลุ่มเยาวชนในอินโดนีเซียใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปก่อนโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหาร ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

อันนา เดโบรา นักศึกษาจากอินโดนีเซีย บอกว่า สื่อสังคมออนไลน์กำลังมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยค่าบริการแพ็กเกจอินเทอเน็ตโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่อยู่ที่คนละ 2 แสนรูเปียะต่อเดือน หรือประมาณ 500 บาท ทำให้หลายคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ เธอเองยอมรับว่าใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน เล่นโซเชียล มีเดีย และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มเวลาท่องอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ส่วนตัวมองว่าโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญต่อการรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสารและกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมทั้งในเวียดนามและไทย ส่วนใหญ่จะทราบข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ทั้งสิ้น” เดโบรา ระบุ

ด้าน เซนจายา มูเลีย รองประธานเครือข่ายเยาวชนอาเซียน ในฐานะผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กที่รวมเยาวชนอาเซียน ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนคน กล่าวว่า โซเชียล มีเดีย ทำให้เยาวชนอาเซียนใกล้ชิดกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ รู้จักกับเพื่อนใหม่ ไปจนถึงการนัดทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมร่วมกัน

          

มูเลีย กล่าวต่ออีกว่า ส่วนข้อมูลที่เยาวชนในอาเซียนให้ความสนใจมากที่สุด คือเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ทั้งภาษา การแต่งกาย และประเพณี ทางกลุ่มจึงขยายช่องทางสื่อสารบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งทางยูทูป ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ซึ่งส่วนใหญ่เยาวชนที่มากดไลค์มากจาก ไทย และฟิลิปปินส์

แม้โดยรวมจำนวนผู้ใช้โซเชียล มีเดีย ในอาเซียนจะเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ พบว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรแต่ละประเทศอาเซียน ยังมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย เพราะในขณะที่ชาวสิงคโปร์ร้อยละ 70 เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่มีชาวเมียนมาเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น ที่เข้าถึงโลกออนไลน์ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง