ในขณะที่คนรุ่นใหม่กัมพูชาสร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยเฉพาะผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลโอนถ่ายอำนาจทางการเมืองที่ครอบครองมายาวนากว่า 30 ปี
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปที่กรุงพนมเปญเพื่อสำรวจบรรยากาศก่อนการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและได้พูดคุยกับชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่ง บางคนรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้าขั้นวิกฤตหลังจากทางการกัมพูชาออกหมายจับนายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้าน หลังจากที่เมื่อปี 2554 ศาลตัดสินว่าเขามีความผิดฐานหมิ่นประมาทและยั่วยุปลุกปั่น นายสม รังสีซึ่งถือสัญชาติกัมพูชาและฝรั่งเศส ได้ออกนอกประเทศไปเมื่อเดือนพฤศิกายน 2558
ขณะที่สมเด็นฮุน เซน นายกรัฐมนตรี เพิ่งจะประกาศว่าจะไม่กราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระราชทานอภัยโทษแก่สม รังสี เขายอมตัดมือขวาของตัวเองหากทำเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ารัฐบาลกัมพูชาเตรียมผ่านร่างกฎหมายห้ามนักการเมืองและบุคคลสำคัญถือหนังสือเดินทาง 2 สัญชาติ เพื่อไม่ให้ลี้ภัยในต่างประเทศซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการพุ่งเป้าตอบโต้สม รังสี และคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญ
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดนี้ คนรุ่นใหม่หลายกลุ่มได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์และหวังจะเห็นประเทศมีการเปลี่ยนแปลง
"ที สุวันทา" เน็ตไอดอลชื่อดังวัย 19 ปี เป็นผู้หนึ่งที่ประกาศตัวสนับสนุนนายสม รังสี เฟสบุ๊กของเธอมีผู้ติดตามมากกว่า 800,000 คน เธออยากให้มีการเปลี่ยผ่านอำนาจเช่นเดียวกับเมียนมา
"เหตุผลที่ฉันต่อต้านรัฐบาล เพราะรัฐบาลนี้ปกครองประเทศมาเกือบ 30 ปีแล้ว ฉันอยากเปลี่ยนผู้นำ เพราะอยากเปรียบเทียบผลงานการพัฒนาประเทศระหว่างผู้นำทั้งสองคน" ที สุวันทา ให้ความเห็นพร้อมกับเรียกร้องให้นายสม รังสี กลับมาและเรียนรู้การต่อสู้อย่างออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีของเมียนมา
"คูนิลา เขียว" บล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียงในแวดวงสื่อมวลชนและกำลังศึกษาต่อปริญญาโทที่สิงคโปร์ เธอเขียนบทความในบล็อกเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์มากว่า 7 ปี และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรุ่นใหม่ในกัมพูชา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นประจำ
คูนิลา เขียว บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวกัมพูชา
เธอบอกว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาตรงที่รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้น และพยายามตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น การปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการและรณรงค์ให้นักเรียนนักศึกษาไม่ทุจริตในการสอบ
กรณีที่ผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้อยู่ในประเทศ คูนิลามองว่า คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งรู้สึกกังวล ขณะที่หลายคนเชื่อมั่นว่า ตราบใดที่สม รังสี ยังเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน เขาสามารถสั่งการจากต่างประเทศได้
สำหรับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจเช่นเดียวกับเมียนมา คูนิลาคิดว่าคนกัมพูชา ยังต้องการเวลาในการพิจารณษว่า รัฐบาลใดจะบริหารประเทศให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่ากัน
ทีมข่าวได้สอบถามชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งพบว่า สิ่งที่พวกเขาอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือปัญหาคอรัปชั่น ค่าแรงขั้นต่ำเพียง 4,300 บาทต่อเดือน สวนทางกับค่าครองชีพและอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
"คาง สะหวัน" ชาวจังหวัดเสียมราฐบอกว่า ที่กัมพูชามีคนยากจนจำนวนมาก พวกเขาไม่ได้เรียนหนังสือ คนจนหลายคนขยันทำงาน ขณะที่หลายคนกลายเป็นโจร เขาหวังจะได้เห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ความหวังของคนรุ่นใหม่ในกัมพูชาฝากไว้กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2561