เปิดตัว “สัตว์ทะเลมีพิษ” ที่ไม่ใช่แค่แมงกะพรุน เตือนเที่ยวทะเลระวัง-พิษถึงตายได้เหมือนกัน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงสัตว์ทะเลมีพิษและสัตว์ทะเลเป็นอันตรายว่า กลุ่มสัตว์ทะเลมีพิษแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ พิษที่เกิดจากการสัมผัสและพิษที่เกิดจากการรับประทาน ส่วนอีกกลุ่มคือสัตว์ทะเลเป็นอันตราย
กลุ่มสัตว์ทะเลมีพิษ ประเภทที่พิษเกิดจากการสัมผัสจะเป็นกลุ่มปลา เช่น ปลาหิน ปลาสิงโต ปลากระเบนขนาดเล็ก เป็นต้น พบมากในฝั่งทะเลอันดามัน เช่น “ปลาหิน” อาศัยอยู่ตามแนวหินหรือแนวปะการัง มีหัวขนาดใหญ่ ปากกว้าง มักนอนสงบนิ่งอยู่ตามพื้นทะเล เป็นปลามีพิษรุนแรง โดยพิษอยู่ที่ก้านครีบ หากสัมผัสหรือเหยียบโดนจะมีอาการปวดและบวม แต่หากรับพิษในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิต
“ปลาสิงโต” อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ว่ายน้ำเชื่องช้า หัวและลำตัวมีแถบลายสีน้ำตาลปนแดง มีครีบหลังและครีบอก ประกอบด้วยก้านครีบแข็งและมีต่อมน้ำพิษที่เป็นอันตราย หากสัมผัสหรือถูกทิ่มแทงจะทำให้เจ็บปวดรุนแรง แต่เนื่องจากปลาสิงโตเป็นปลาสวยงาม จึงทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไปจับเล่นจนทำให้ได้รับพิษ
“ปลากระเบน” อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง มีลำตัวแบน หางยาวและมีเงี่ยงแหลมคมที่อยู่โคนหาง ผู้ที่เดินในน้ำริมชายฝั่งทะเลอาจไปเหยียบบนตัวปลากระเบนที่หมกตัวอยู่ตามพื้นทะเล หากถูกเงี่ยงตำจะได้รับพิษทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง บางครั้งอาจเกิดอาการช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้
“หอยเต้าปูน” ลักษณะเปลือกเป็นรูปกรวยคล้ายถ้วยไอศกรีมโคน ประเทศไทยพบหอยเต้าปูนได้ทางฝั่งทะเลอันดามันและพบอยู่ตามพื้นทรายในแนวปะการัง โอกาสที่หอยจะทำอันตรายคนนั้นน้อยมาก นอกจากคนไปเก็บจับหอยด้วยมือเปล่าและถือเอาไว้ หอยจึงป้องกันตัวโดยใช้งวงที่มีฟันพิษแทง ซึ่งพิษจะทำให้เกิดอาการบวมแดง ตาพร่ามัว หายใจติดขัด หรือเสียชีวิตได้
“งูทะเล” ต่างจากงูบกตรงที่ลำตัวส่วนท้ายค่อนข้างแบน ปลายหางคล้ายใบพายเพื่อใช้ว่ายน้ำ งูทะเลมีพิษอยู่ตรงเขี้ยวที่ปากและมีอันตรายร้ายแรงมาก น้ำจากพิษงูทะเลมีผลโดยตรงต่อระบบกล้ามเนื้อ หายใจขัด หรือทำให้การทำงานของหัวใจล้มเหลว หากจะเดินตามแนวปะการังควรใส่รองเท้ายางหุ้มข้อ
ส่วนสัตว์ทะเลประเภทที่พิษเกิดจากการรับประทาน เช่น “ปลาปักเป้า” พบได้ตามแหล่งน้ำต่างๆและในทะเลอ่าวไทย พิษสะสมอยู่ในอวัยวะภายในของปลา หากรับประทานจะทำให้ชาที่ริมฝีปาก คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจลำบาก จนถึงขั้นเสียชีวิต พิษของปลาปักเป้าทนความร้อนได้สูง 170 องศาเซลเซียส หากสงสัยว่าได้รับพิษให้รีบขจัดพิษเบื้องต้นด้วยการหาซื้อผงถ่านจากร้านขายยามารับประทานเพื่อดูดพิษในร่างกาย แล้วรีบนำส่งแพทย์
“ปูใบ้” อาศัยอยู่ตามซอกหิน มีกระดองเป็นรูปพัด ปลายก้ามหนีบเป็นสีดำ เป็นปูมีพิษ เช่น ปูใบ้แดงและปูใบ้ลาย เป็นต้น หากบริโภคจะมีอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอและใบหน้า ท้องเสีย ช็อค หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต
อีกกลุ่มหนึ่งคือ “สัตว์ทะเลเป็นอันตราย” เช่น “เม่นทะเล” เป็นสัตว์มีหนามตามผิวลำตัว ชนิดที่พบชุกชุมในแนวปะการังของชายฝั่งทะเลไทยคือ เม่นดำหนามยาว หากเล่นน้ำหรือดำน้ำในบริเวณที่มีเม่นทะเล คลื่นอาจซัดตัวไปเหยียบย่ำหรือนั่งทับเม่นทะเลได้ เมื่อถูกหนามเม่นทะเลตำจะฝังอยู่ในเนื้อ ทำให้เกิดอาการบวมแดงและชา ให้นวดบริเวณที่ถูกหนามตำจะทำให้หนามแตกและย่อยสลายเอง หรือแช่แผลในน้ำร้อนเพื่อช่วยให้หนามย่อยสลายได้เร็วขึ้น
ส่วนอันตรายอื่นๆ เช่น การโดนปะการัง หรือหอยนางรมบาดจนได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงเล่นน้ำและสวมใส่ชุดที่ปกปิดมิดชิด
“สัตว์ทะเลมีที่ทางอยู่ในทะเล ไม่เคลื่อนย้ายที่อยู่ แต่มนุษย์มีที่ทางอยู่บนบก กลับไปบุกรุกที่อยู่อาศัยของสัตว์ จึงทำให้ได้รับอันตรายจากสัตว์ทะเล” ดร.ธรณ์กล่าว
ดร.ธรณ์ ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้สัตว์ทะเลมีพิษเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยยกตัวอย่าง “แมงกะพรุน” ซึ่งมีปัจจัยมาจากการปล่อยน้ำเสียหรือปล่อยน้ำที่มีสารเคมีลงสู่ทะเล เพราะสารเหล่านี้เป็นธาตุอาหารที่ทำให้เกิดแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์จำนวนมาก จึงทำให้แมงกะพรุนที่กินแพลงตอนสัตว์เจริญเติมโต ปัจจัยที่ 2 คือการไม่อนุรักษ์เต่าทะเล เพราะเต่าทะเลเป็นตัวควบคุมตามธรรมชาติและเป็นผู้ล่าหรือกินแมงกะพรุน ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ ภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้อุณหภูมิ กระแสน้ำและสภาพในทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลง มีผลทำให้แมงกะพรุนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากมนุษย์และท้ายที่สุดมนุษย์จะกลายเป็นผู้เดือดร้อน
สอดคล้องกับความเห็นของนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ที่เห็นว่า มนุษย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและเป็นผู้ที่ทำให้ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แมงกะพรุนเพิ่มจำนวนมากขึ้น
นายปิ่นสักก์กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้นทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจอแมงกะพรุน ซึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากอาจมีการติดตั้งตาข่ายในทะเลเพื่อป้องกันแมงกะพรุน โดยติดตั้งเป็นฤดูกาลหรือบางช่วงเวลา ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง แต่หากพื้นที่ใดพบแมงกะพรุน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะเสนอกับส่วนท้องถิ่น ทั้งหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อติดตั้งตาข่ายกั้น เนื่องจากส่วนท้องถิ่นจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
(ข้อมูลสัตว์ทะเลมีพิษและเป็นอันตราย จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก)
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl