ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รมต.คลังคาดลดค่าเงินหยวนกระทบเศรษฐกิจไทยไม่รุนแรง

เศรษฐกิจ
13 ส.ค. 58
16:09
116
Logo Thai PBS
รมต.คลังคาดลดค่าเงินหยวนกระทบเศรษฐกิจไทยไม่รุนแรง

ภายหลังจากที่ทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวน 3 วันติดต่อกัน นักเศรษฐศาสตร์ได้ออกมาเตือนรัฐบาลว่าให้เตรียมรับมือกับสงครามค่าเงินโลก แต่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่าการลดค่าเงินหยวนจะไม่กระทบเศรษฐกิจไทย

วันนี้ (13 ส.ค.2558) ดัชนีหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลงต่ำสุดกว่า 20 จุด ในช่วงเช้า หลุดกรอบ 1,400 จุด แต่กลับมาปิดตลาด ยืนเหนือระดับนี้ได้ที่ 1,404.15 จุด ลดลง 4.17 จุด คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายกว่า 49,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารประชาชนจีนออกแถลงการณ์ลดค่าเงินหยวนติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันที่ 11-13 ส.ค.2558 รวมแล้วอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 4.7 อยู่ที่ประมาณ 6.40 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า นโยบายลดค่าเงินของจีนกระทบไทยในระดับหนึ่งแต่ไม่มาก เนื่องจากสินค้าส่งออกไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทปัจจัยการผลิต อีกทั้งยังมีเงินทุนสำรองสูง จึงไม่จำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือใดๆ และควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส

 นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ตามที่ทางการจีนได้ประกาศกำหนดค่าเงินหยวนที่อ่อนลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น ธปท.ได้ติดตามพัฒนาการตลาดการเงินในประเทศอย่างใกล้ชิด ไม่พบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ ตลาดการเงินในประเทศเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาดการเงินในภูมิภาค ส่วนตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในโลก สำหรับผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงนั้น ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินได้ชัดเจน

ขณะที่ ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การลดค่าเงินของจีนเป็นเรื่องผิดปกติจากหลักปฏิบัติทั่วไป เชื่อว่าจีนใช้มาตรการนี้เพื่อรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ที่ร้อยละ 7 หลังมีเงินทุนสำรองสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเรียกได้ว่าจีนเป็นอีกประเทศที่เข้าร่วมสงครามค่าเงินโลก จากก่อนหน้านี้ที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างใช้มาตรการคิวอี เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกอาจติดลบ 4-6 เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังจีนอาจแพงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง