ระดับน้ำเจ้าพระยาใน กทม.ทำสถิติขึ้นสูงสุด 2.13 ม.
วันนี้เป็นวันแรกที่มีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2.13 เมตร โดยกรุงเทพมหานครยังมั่นใจว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้ ขณะเดียวกันยังเฝ้าระวังพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก ที่ขณะนี้มีน้ำเหนือไหลมาจ่อเข้าพื้นที่
ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้สุดสุดในรอบปีทำลายสถิติจากปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 2.13 เมตร แต่ก็ยังไม่เท่ากับปี 2538 ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำทะเลหนุนสูง ตั้งแต่วันนี้ (14 ต.ค.) ถึงวันที่ 17 ต.ค. โดยวันที่ 16 ต.ค.จะมีน้ำทะเลหนุนสูงสุด ซึ่งกรุงเทพมหานครก็มั่นใจว่าแนวคันกั้นน้ำที่สูงถึง 2.50 เมตร และบางพื้นที่ที่เป็นจุดอ่อนไหวก็เสริมกระสอบทรายเพิ่มแล้ว 30-50 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่นอกคั้นกั้นน้ำใน 27 ชุมชน กรุงเทพมหานครยอมรับว่าเป็นจุดเสี่ยงแต่สั่งการให้สำนักงานทั้ง 13 เขตไปทำความเข้าใจและอพยพประชาชนไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 23 แห่งที่ได้จัดเตรียมไว้
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจแนวคันกันน้ำพระราชดำริฝั่งตะวันออกในเขตสายไหม เช่น ประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ และประตูระบายน้ำคลองสามวา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน หลังจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) แถลงข่าวให้ประชาชนในหลายพื้นที่ รวมถึงในเขตสายไหม อพยพไปอยู่ชั้น 2 ซึ่งพบว่าขณะนี้ประตูระบายน้ำทั้ง 3 แห่งของเขตสายไหม ยังมีระดับน้ำในภาวะปกติที่สามารถควบคุมได้ โดยยืนยันว่า หากพื้นที่ใดของกรุงเทพมหานครเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม ตนจะเป็นคนออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน และในช่วงวันที่ 15-16 ต.ค. จะประชุมผู้บริหารเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานครทุกๆ 6 ชั่วโมง
ในช่วงเช้ามีฝนตกร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักในบางแห่ง ทำให้น้ำท่วมขังเพราะระบายไม่ทัน ซึ่งนายณรงค์ จิรสรรพคุณากร ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า วัดปริมาณน้ำฝนได้สูงสุดที่ย่านบางลำพู 56 มิลลิเมตร และมากกว่า 30 มิลลิเมตรที่อุทยานเบญจสิริ ซึ่งได้รับรายงานว่ามี 2 พื้นที่คือ ตลาดประเจจีน สามาารถสูบน้ำออกได้ภายใน 1 ชั่วโมง และหน้าโพธิ์ ใช้เวลาสูบน้ำให้แห้งภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งน้ำที่ท่วมขังเกิดจากปริมาณน้ำฝน ไม่ใช่น้ำเหนือแต่อย่างใด