ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หยุดยาวที่ต้องสู้! ยืนหยัดทำงาน พิชิต "โรคคิดถึงบ้าน" อย่างเข้าใจ

ไลฟ์สไตล์
9 เม.ย. 68
16:17
190
Logo Thai PBS
หยุดยาวที่ต้องสู้! ยืนหยัดทำงาน พิชิต "โรคคิดถึงบ้าน" อย่างเข้าใจ
อ่านให้ฟัง
10:21อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้วันหยุดยาวจะมาถึงพร้อมเสียงหัวเราะของผู้คนที่ได้กลับไปหาครอบครัว แต่สำหรับหลายคนที่ยังต้องทำงานหรือมีภารกิจอยู่ไกลบ้าน ความเงียบในห้องพัก กลิ่นอาหารที่ไม่ได้คุ้นเคย อาจกระตุ้นอาการ "คิดถึงบ้าน" หรือ Homesick ได้

"โรคคิดถึงบ้าน" ไม่ใช่แค่เด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็เผชิญได้

Homesickness หรือภาวะคิดถึงบ้าน มักถูกมองว่าเป็นอาการของเด็กนักเรียนประจำหรือนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต้องจากบ้านครั้งแรก แต่ในความเป็นจริง ผู้ใหญ่ที่ทำงานไกลบ้านหรือใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เพียงลำพังก็สามารถเผชิญความรู้สึกนี้ได้อย่างลึกซึ้งไม่แพ้กัน

โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวอย่างสงกรานต์หรือปีใหม่ ที่เมืองเงียบสงัดจากผู้คนที่กลับบ้านเกิด ขณะที่บางคนยังคงติดอยู่กับหน้าที่การงานหรือภาระชีวิต เช่น ค่ารถที่แพงเกินเอื้อม งานด่วนที่ต้องสะสาง หรืออาการป่วยที่ทำให้เดินทางไม่ได้

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ความคิดถึงบ้านเป็นภาวะทางอารมณ์ที่เกิดจากการขาดการเชื่อมต่อกับสิ่งที่คุ้นเคย เช่น ครอบครัว บ้านเกิด หรือสภาพแวดล้อมที่เคยให้ความรู้สึกปลอดภัย อาการนี้อาจปรากฏเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว นอนไม่หลับ หรือแม้แต่น้ำตาคลอเมื่อเห็นภาพความทรงจำเก่า ๆ

พนักงานสาวคนหนึ่ง วัย 34 ปี ที่ทำงานบริษัทในกรุงเทพฯ บ้านเกิดอยู่ จ.เชียงราย สะท้อนถึงความเหงาที่ซ่อนอยู่ในใจของคนที่ต้องอยู่ไกลบ้าน แม้จะพยายามทำใจให้เข้มแข็ง แต่บางครั้งมันก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกอ่อนแอ ให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า

ทุกครั้งที่ถึงวันหยุดยาว ตนเองจะนั่งมองโทรศัพท์ เห็นเพื่อน ๆ ลงรูปกินข้าวกับครอบครัว แล้วน้ำตามันไหลเองเลย คิดถึงบ้านมาก แต่ตั๋วโดยสารแพง และงานก็ยุ่งจนกลับไม่ได้

ความรู้สึกนี้สะท้อนถึงความเหงาที่ซ่อนอยู่ในใจของคนที่ต้องอยู่ไกลบ้าน แม้จะพยายามทำใจให้เข้มแข็ง แต่บางครั้งมันก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกอ่อนแอ

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาวะนี้ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นสัญญาณของความผูกพันที่ลึกซึ้งต่อครอบครัวและรากเหง้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่า ความคิดถึงบ้านในผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มักถูกกระตุ้นในช่วงเทศกาล เนื่องจากเป็นเวลาที่ความคาดหวังของการรวมตัวถูกขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ต้องอยู่คนเดียว

ความเหงาท่ามกลางความคึกคัก

ในช่วงสงกรานต์หรือเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถนนในเมืองใหญ่อาจเงียบสงบลงจากผู้คนที่เดินทางกลับบ้าน แต่สำหรับบางคน เช่น พนักงานร้านอาหาร พนักงานโรงแรมที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเปิดร้านเพื่อหาเลี้ยงชีพ วันหยุดยาวกลับกลายเป็นวันที่หัวใจหนักอึ้ง 

"โบนัส" แอร์โฮสเตสสาวเล่าว่า วันหยุดยาวของใครหลายคน แต่คือช่วงเวลาทำงานของสายงานบริการ และงานจะหนักและเยอะมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ เพราะทุกคนก็อยากเดินทางกลับบ้านกัน แต่ก็เข้าใจได้เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหลาย ๆ คน แต่สำหรับตัวเองที่ไม่ได้กลับบ้าน ก็รู้สึกเหงาบ้าง คิดถึงครอบครัวบ้าง พอเลิกงานก็นัดเพื่อนกินข้าวบ้าง หรือ ไปหากิจกรรมอื่นทำ พอแก้เหงาได้

โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ ไม่ได้กลับไปหาพวกเขาตอนเทศกาล แต่พอหลังหยุดยาว ก็ได้กลับบ้านไปหา ถือว่าชดเชยกันไป 

กระทรวงแรงงาน ให้ข้อมูลว่า พนักงานในอาชีพบริการหรือค้าขายมักไม่มีวันหยุดในช่วงเทศกาล เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงสูง สิ่งนี้ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เผชิญความรู้สึกขาดการเชื่อมต่อกับครอบครัวมากกว่าคนทั่วไป แม้จะอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คน แต่ความรู้สึกโดดเดี่ยวก็ยังคงคืบคลานเข้ามาได้อย่างเงียบ ๆ

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อาการที่มากับความคิดถึง

ความคิดถึงบ้านไม่ใช่แค่ความรู้สึกธรรมดา แต่สามารถนำไปสู่ความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้หากไม่ได้รับการจัดการ กรมสุขภาพจิต อธิบายในข้อมูลสุขภาพจิตว่า อาการของ Homesickness อาจรวมถึงการนอนไม่หลับ ความรู้สึกว่างเปล่า หรือการขาดพลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ บางคนอาจน้ำตาคลอเมื่อได้ยินเพลงที่เคยฟังกับครอบครัว หรือรู้สึกอึดอัดเมื่อเพื่อนถามว่า "ทำไมไม่กลับบ้าน ?"

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกนี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องอาย เพราะเป็นอารมณ์ปกติที่เกิดจากความผูกพัน และสามารถเยียวยาได้ด้วยการยอมรับและหาทางจัดการ สสส. ยังระบุว่า การรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตัวเองเป็นขั้นตอนแรกที่ช่วยป้องกันไม่ให้ความคิดถึงกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น

รับมือ Homesick แบบอบอุ่นและมีวุฒิภาวะ

การรับมือกับความคิดถึงบ้านในช่วงวันหยุดยาวไม่จำเป็นต้องซับซ้อน แต่ต้องเริ่มจากการเข้าใจในบริบทตัวเอง ณ ขณะนั้น ในยุคดิจิทัล วิธีหนึ่งที่ได้ผลคือการเชื่อมต่อกับครอบครัวแม้จะอยู่ไกล การโทรหาครอบครัว วิดีโอคอล หรือส่งข้อความทักทายผ่านกลุ่มไลน์ เป็นวิธีที่ช่วยลดความรู้สึกขาดหาย

แค่ได้ยินเสียงแม่ถามว่า กินข้าวหรือยัง ? หรือเห็นรอยยิ้มของพ่อผ่านหน้าจอ ก็ช่วยให้หายเหงาในช่วงที่ต้องอยู่คนเดียวได้แล้ว

โบนัสบอกวิธีจัดการความรู้สึกคิดถึงบ้าน หลังจากทำงานเสร็จ

นอกจากนี้ การสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ในที่ที่เราอยู่ก็สำคัญ สสส. เสนอว่าการจัดมุมพักผ่อนในห้องเช่าให้อบอุ่น เช่น วางผ้าห่มกลิ่นแดดที่เหมือนบ้าน ใช้กลิ่นน้ำยาซักผ้าที่แม่เคยใช้ หรือปลูกต้นไม้เล็ก ๆ ที่ระลึกถึงสวนหน้าบ้าน สามารถสร้างความรู้สึกคุ้นเคยได้ เสมือนพกบ้านติดตัวมาด้วย หรือการทำอาหารสูตรครอบครัว เช่น ข้าวต้มที่ยายเคยต้ม หรือน้ำพริกที่พ่อชอบ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยเยียวยาใจได้ดีเหมือนกัน

คุณป้าสุภาพร อายุ 50 ปี แม่ค้าร้านอาหารตามสั่งในตลาดนัดที่กรุงเทพฯ เล่าให้ฟังเวลาคิดถึงลูกที่อุดรธานีว่า มักจะทำอาหารที่ลูกชอบกิน แล้วถ่ายรูปส่งไปให้ดู และพิมพ์ไลน์บอกว่า "แม่ทำเผื่อหนูนะ" แม้จะไม่ได้กินด้วยกัน แต่ก็รู้สึกเหมือนได้อยู่ใกล้กัน

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

5 วิธีคลายเหงา บรรเทาอาการ "คิดถึงบ้าน"

1. สร้าง "บ้านน้อย" ในที่อยู่ใหม่ ลองตกแต่งห้องพักหรือพื้นที่ส่วนตัวให้มีความคล้ายคลึงกับบ้านที่คุ้นเคย ช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและคุ้นเคย จะช่วยลดความรู้สึกแปลกแยก ทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้น

2. เชื่อมต่อโลกดิจิทัล สร้างความใกล้ชิด วิดีโอคอลเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเห็นหน้าและพูดคุยกันแบบเรียลไทม์ การส่งข้อความเสียง รูปภาพ หรือวิดีโอสั้นๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ช่วยรักษาความรู้สึกใกล้ชิดและทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

3. สร้างเครือข่ายสังคมใหม่ ออกไปทำความรู้จักกับผู้คนในสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเดียวกัน ช่วยเติมเต็มความรู้สึกโดดเดี่ยว เบี่ยงเบนความสนใจจากความคิดถึงบ้านได้

4. สร้างกิจวัตรและเป้าหมายในชีวิตประจำวัน การมีตารางเวลาที่ชัดเจนและการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในแต่ละวัน จะช่วยให้รู้สึกมีสิ่งต่างๆ ให้ทำและมีจุดมุ่งหมาย การทำกิจกรรมที่สนใจ จะช่วยลดความคิดถึงบ้าน และสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง

5. สำรวจและเปิดใจให้กับสภาพแวดล้อมใหม่ ลองออกไปสำรวจสถานที่ต่างๆ ในบริเวณที่คุณอยู่ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร สวนสาธารณะ จะช่วยให้คุณเริ่มรู้สึกผูกพันและปรับตัวเข้ากับสถานที่นั้นได้มากขึ้น การมีสถานที่โปรดปรานหรือกิจกรรมที่ชอบทำในที่อยู่ใหม่ จะช่วยลดความรู้สึกแปลกแยก และทำให้รู้สึกเหมือนมี "บ้าน" อีกแห่ง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ยังไงก็ต้องกลับ เพราะบ้านคือพลังงานชีวิต 

แม้จะมีวิธีรับมือมากมาย แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือ บ้านและครอบครัวคือแหล่งพลังงานที่แท้จริง การได้กลับบ้านช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว

หลายคนอาจมีความคิดที่ว่า "ทำงานหนักเพื่อครอบครัว การอยู่ไกลบ้านมีเป้าหมายเพื่อความสบายของคนที่บ้าน" คำตอบเหล่านี้ กลายเป็นแรงผลักดันให้ "เราต้องทนต่อไป" แต่ในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้กลับบ้าน สามารถจดลิสต์ "สิ่งที่อยากทำเมื่อได้กลับบ้าน" เอาไว้ได้ เพื่อเป็นเป้าหมาย สร้างพลังใจให้ชีวิต 

กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ความผูกพันกับครอบครัวช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต และเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง บ้านไม่ใช่แค่สถานที่ แต่เป็นที่พักใจที่ทำให้รู้สึกว่า ไม่เคยอยู่ตัวคนเดียว ดังนั้น แม้จะต้องอยู่ไกลบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ ควรหาทางกลับไปเติมพลังจากครอบครัว เพราะบ้านคือพลังงานชีวิตที่ทำให้เราก้าวต่อไปได้อย่างมีความสุข

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ที่มา : สสส., กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน 

อ่านข่าวอื่น :

คืนชีพหมาป่าสีขาวไดร์วูล์ฟ ครั้งแรกของโลกหลังสูญพันธุ์ 12,500 ปี

วิธีเอาตัวรอด เซฟชีวิต เมื่อต้องอยู่ใน "ฝูงชนเบียดเสียด"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง