วันนี้ (7 เม.ย.2568) CNN รายงาน จุดเริ่มต้นของความโกลาหลในตลาดหุ้น ที่ทุกอย่างเริ่มต้นจากนโยบายภาษีสุดโต่งของ ปธน.สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนร้อยละ 34 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.ผ่านมา ตามมาด้วยภาษีเพิ่มเติมที่จะเริ่มอีกในวันที่ 9 เม.ย.
ไม่ใช่แค่จีนที่เจอ เพราะทรัมป์ยังตั้งภาษีญี่ปุ่นร้อยละ 24 และจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ อีก จีนไม่รอช้า สวนกลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ร้อยละ 34 เช่นกัน กลายเป็นสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่เขย่าตลาดการเงินทั่วโลก
วันนี้ ตลาดหุ้นเอเชียเปิดทำการ หุ้นร่วงทันที ที่ญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei ลดลงกว่าร้อยละ 8 ตั้งแต่เปิดตลาด แม้จะดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังปิดต่ำกว่าเดิมร้อยละ 6.5 ดัชนี Topix ซึ่งครอบคลุมหุ้นหลากหลายก็ร่วงไปร้อยละ 6.5 ในจีนที่เพิ่งเปิดตลาดหลังหยุดยาว ดัชนี Shanghai Composite ลดลงร้อยละ 6.7 และ CSI300 ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นชั้นนำ ตกลงร้อยละ 7.5 ฝั่งฮ่องกงหนักสุด ดัชนี Hang Seng ร่วงไปกว่าร้อยละ 12 หุ้นเทคยักษ์อย่าง Alibaba และ Tencent ดิ่งลงร้อยละ 14 และ ร้อยละ 10 ตามลำดับ

ไต้หวันก็เจอหนักไม่แพ้กัน ดัชนี Taiex ร่วงร้อยะ 9.7 หุ้นของ TSMC และ Foxconn บริษัทผลิตชิปและอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดัง ตกลงร้อยละ 10 จนต้องหยุดซื้อขายชั่วคราวด้วยระบบ Circuit breaker ออสเตรเลีย ดัชนี ASX 200 ลดลง ร้อยละ 6.3 ส่วนนิวซีแลนด์ NZX 50 ปิดวันนี้ที่ร้อยละ -3.7 เกาหลีใต้ Kospi ร่วงร้อยละ 4.8 และต้องหยุดซื้อขาย 5 นาทีเพื่อลดความตื่นตระหนก
พายุหมุนภาษีของ "ทรัมป์"
นโยบายภาษีของทรัมป์ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะกระทบสินค้าสำคัญของเอเชีย เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจของการส่งออก นักวิเคราะห์จาก Pepperstone บอกว่าการขึ้นภาษีร้อยละ 34 กับจีนคือการตีตรงจุดอ่อนของเอเชีย เพราะสินค้าส่งออกหลัก ๆ อย่างเซมิคอนดักเตอร์และ EV จะเจอผลเต็ม ๆ
และการที่จีนตอบโต้กลับด้วยภาษีเท่ากัน ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะ 2 ประเทศนี้คือยักษ์ใหญ่ด้านการค้าของโลก
ที่ฮ่องกง การซื้อขายหุ้นพุ่งสูงผิดปกติ แสดงว่านักลงทุนกำลังเทขายหุ้นแบบไม่สนราคา เป็นสัญญาณของความตื่นตระหนกเต็มขั้น สื่อจีนอย่าง People’s Daily ออกมาประกาศว่า จีนพร้อมรับมือ ไม่กลัวการข่มขู่ด้วยภาษีจากสหรัฐฯ เพราะเรามีประสบการณ์จากสงครามการค้ามา 8 ปีแล้ว และมีวิธีรับมือเพียบ
ไม่ใช่แค่เอเชียที่เจ็บ สหรัฐฯ เองก็ได้รับผลกระทบ หุ้น Wall Street ร่วงหนักเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อวาน (6 เม.ย.) หุ้นล่วงหน้าของสหรัฐฯ ดิ่งลงอีก แค่ 2 วันมูลค่าหุ้นหายไปกว่า 5.4 ล้านล้านดอลลาร์ ถ้าวันนี้ (7 เม.ย.) หุ้นสหรัฐฯ เปิดตลาดแล้วยังร่วงต่อ ดัชนี S&P 500 อาจเข้าสู่ภาวะ "ตลาดหมี" ซึ่งหมายถึงการตกจากจุดสูงสุดร้อยละ 20 เป็นสัญญาณว่านักลงทุนกลัวว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง

นักวิเคราะห์จาก Lazard เตือนว่าถ้าประเทศอื่น ๆ ตอบโต้ด้วยภาษีเพิ่ม ผลกระทบจะหนักกว่าที่ค่อย ๆ ทะเลาะกันแบบเมื่อก่อน สินทรัพย์ที่คนมักวิ่งไปหาตอนวิกฤตอย่างทองคำ ครั้งนี้กลับร่วงลงร้อยละ 4 เหลือ 3,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แสดงว่านักลงทุนกำลังเทขายทุกอย่างเพื่อหาเงินสด
น้ำมันก็ไม่รอด Brent ลดลงร้อยละ 2.4 และ WTI ลดร้อยละ 2.5 เพราะกลัวว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะลดความต้องการน้ำมัน
ไม่ได้ตั้งใจทำตลาดพัง ?
ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เมื่อคืนวันมรา 6 เม.ย. บนเครื่องบิน Air Force One ว่า "ไม่ได้ตั้งใจทำตลาดพัง แต่ผมบอกไม่ได้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป" และยังย้ำว่านโยบายนี้จะทำให้ประเทศเราแข็งแกร่งขึ้น และสุดท้ายจะเจ๋งกว่าใคร ๆ ทรัมป์บอกว่าเขาพร้อมเจรจากับจีน แต่จีนต้องแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า ซึ่งปีที่แล้วสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีน 438,900 ล้านดอลลาร์ แต่ส่งออกไปแค่ 143,500 ล้านดอลลาร์
ทรัมป์ยังบอกว่าได้คุยโทรศัพท์กับผู้นำโลกและผู้บริหารเทคโนโลยีหลายคนในช่วงสุดสัปดาห์ แต่เขายังยืนยันเดินหน้าภาษีต่อ โดยวันที่ 9 เม.ย.นี้จะมีภาษีใหม่เพิ่ม รวมถึงภาษีญี่ปุ่นร้อยละ 24 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันของสหรัฐฯ ด้วย

นายกฯ ญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ พูดในสภาว่า เขาจะพยายามขอให้สหรัฐฯ ลดภาษี และวางแผนไปเยือนสหรัฐฯ เร็ว ๆ นี้ เพื่อย้ำว่า "ญี่ปุ่นไม่ได้ทำอะไรไม่เป็นธรรม" รัฐบาลญี่ปุ่นจะหาทางช่วยเหลือบริษัทในประเทศที่ได้รับผลกระทบ
ปธน.ไต้หวัน ไล่ ชิง-เต๋อ บอกเมื่อวานว่า ไต้หวันจะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อยกเลิกภาษีทั้ง 2 ฝ่าย และจะซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่ม เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อลดการขาดดุลการค้า พร้อมย้ำว่า อยากให้สหรัฐฯ เห็นว่าไต้หวันช่วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้มากแค่ไหน
แต่นักวิเคราะห์จาก Barclays มองว่า การเจรจาของประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้หรือสิงคโปร์ อาจไม่สำเร็จง่าย ๆ และตอนนี้เริ่มปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคแล้ว
ผลกระทบต่อไทยและสิ่งที่ต้องจับตา
ไทยก็ต้องระวัง เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนเยอะ ถ้าสงครามการค้ายืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจกระทบการส่งออกของไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสินค้าเกษตร ราคาสินค้าอาจแพงขึ้นจากภาษี และบริษัทที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ หรือจีนอาจเจอปัญหา รัฐบาลไทย อาจต้องเร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อลดผลกระทบ รวมถึงออกมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่เจอปัญหา
ถ้าญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือยุโรป ขึ้นภาษีสวนสหรัฐฯ อาจยิ่งวุ่นวาย สำหรับคนทั่วไป ช่วงนี้อาจต้องระวังการลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะบริษัทที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ หรือจีนเยอะ ๆ ถ้ามีเงินลงทุน ลองมองสินทรัพย์ปลอดภัยอื่น ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือกระจายความเสี่ยงไปยังสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

นโยบายภาษีของทรัมป์ครั้งนี้ทำเอาโลกการค้าสั่นสะเทือน ตลาดหุ้นเอเชียร่วงหนัก นักลงทุนตื่นตระหนก และสินทรัพย์ทุกอย่างเจอแรงขาย ทรัมป์ยืนยันเดินหน้าต่อ แม้หลายประเทศจะขอเจรจา ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกอาจเจอปัญหาใหญ่ ไทยก็ต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะลูกหลงจาก 2 ยักษ์ใหญ่นี้ ไม่ใช่เรื่องเล็ก
อ่านข่าวอื่น :
คต.เข้มเฝ้าระวัง 49 สินค้า หวั่นถูกอ้างถิ่นกำเนิดไทยส่งออกสหรัฐฯ
สหรัฐฯ เผย 50 ชาติขอเจรจา "ทรัมป์" ประเด็นภาษีนำเข้า