ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลตัดสินเอกฉันท์ 8-0 ถอดถอน "ยุน ซอก-ยอล" จาก ปธน.เกาหลีใต้

ต่างประเทศ
4 เม.ย. 68
11:00
484
Logo Thai PBS
ศาลตัดสินเอกฉันท์ 8-0 ถอดถอน "ยุน ซอก-ยอล" จาก ปธน.เกาหลีใต้
มติเอกฉันท์ 8-0 ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ถอดถอน "ปธน.ยุน ซอก-ยอล" จากตำแหน่ง หลังประกาศกฎอัยการศึก ระบุการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิทางการเมือง เตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน ฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านยุนแสดงปฏิกิริยารุนแรงนอกศาลทันที

วันนี้ (4 เม.ย.2568) เวลา 09.01 น. ตามเวลาท้องถิ่นเกาหลีใต้ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ เริ่มการอ่านคำตัดสินในคดีถอดถอน ปธน.ยุน ซอก-ยอล โดยผู้พิพากษาทั้ง 8 คน นำโดยผู้พิพากษา มุน ฮยอง-แบ รักษาการประธานศาล ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนยุนออกจากตำแหน่ง หลังการไต่สวนที่ยืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่รัฐสภาลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2567 ด้วยคะแนน 204 ต่อ 85 เสียง

การตัดสินครั้งนี้ยุติการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของยุนอย่างสิ้นเชิง และถือเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ ปธน.เกาหลีใต้ ถูกถอดถอนโดยศาล โดยมีรายงานว่าฝ่ายกฎหมายของยุน แจ้งตั้งแต่วานนี้ (3 เม.ย.) ว่ายุนจะไม่เดินทางมาฟังคำตัดสินที่ศาลด้วยตัวเอง

ผู้พิพากษา มุน ระบุว่า การที่ยุนประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 โดยส่งทหารไปยังรัฐสภาเพื่อขัดขวางการทำงานของสภา "ไม่มีความชอบธรรม" และ "ไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ" ที่จะสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว เขายังชี้ว่ายุนละเมิดขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้การประกาศกฎอัยการศึกต้องเกิดในภาวะสงครามหรือภัยคุกคามร้ายแรงเท่านั้น และต้องปรึกษาคณะรัฐมนตรีและให้รัฐสภามีส่วนร่วม แต่ยุนกลับดำเนินการเพียงลำพังโดยไม่ปฏิบัติตามกระบวนการ

ผู้พิพากษา มุน ฮยอง-แบ

ผู้พิพากษา มุน ฮยอง-แบ

ผู้พิพากษา มุน ฮยอง-แบ

คำตัดสินยังระบุว่า การกระทำของยุน "ละเมิดสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของประชาชน" และ "ทำลายหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย" โดยเฉพาะการสั่งการให้กองทัพเข้าแทรกแซงรัฐสภา ซึ่งผู้พิพากษาเห็นว่าเป็นการกระทำที่ "ขัดต่อหน้าที่ของประธานาธิบดีที่ต้องปกป้องประชาชน"

ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงตัดสินให้ยุนพ้นจากตำแหน่งทันที โดยไม่เปิดช่องให้เขากลับคืนสู่อำนาจได้อีก

หลังคำตัดสิน ฝ่ายกฎหมายของยุน ออกมาแถลงว่าพวกเขา "ไม่เข้าใจคำตัดสินจากมุมมองทางกฎหมาย" และมองว่าเป็น "การตัดสินใจทางการเมืองที่ไม่ยุติธรรม" ขณะที่พรรคพลังประชาชน หรือพรรค PPP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของยุน ออกแถลงการณ์ยอมรับผลคำตัดสินและขอโทษประชาชนชาวเกาหลีใต้ ส่วนพรรคประชาธิปไตยฝ่ายค้าน ยกย่องคำตัดสินว่าเป็น "ชัยชนะของประชาชน"

อ่านข่าว : เกาหลีใต้ฟ้อง "ยุน" ฐานนำก่อกบฏปมประกาศกฎอัยการศึก

หลังศาลอ่านคำตัดสิน "ฮัน ดอกซู" รักษาการ ปธน.เกาหลีใต้ ได้ออกคำสั่งฉุกเฉินเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะทันที สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รักษาการ ปธน.ฮัน กล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะรักษามาตรการด้านความมั่นคงที่แข็งแกร่งและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดช่องว่างในความมั่นคงและการทูตของประเทศ ทั้งนี้ ฮันจะทำหน้าที่ผู้นำชั่วคราวของประเทศต่อไปก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไป

ฮัน ดอกซู รักษาการ ปธน.เกาหลีใต้ ได้ออกคำสั่งฉุกเฉินเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ

ฮัน ดอกซู รักษาการ ปธน.เกาหลีใต้ ได้ออกคำสั่งฉุกเฉินเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ

ฮัน ดอกซู รักษาการ ปธน.เกาหลีใต้ ได้ออกคำสั่งฉุกเฉินเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ

ฝ่ายต่อต้านลุกเฮ ฝ่ายสนับสนุนลุกฮือ

นอกศาลรัฐธรรมนูญในกรุงโซล บรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียดและอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ฝ่ายที่ต่อต้านยุน รวมตัวกันตั้งแต่คืนวันที่ 3 เม.ย. ด้วยถุงนอนและผ้าห่มกันหนาว ต่างระเบิดความดีใจออกมา เมื่อคำตัดสินถูกอ่านออกมา ผู้คนโห่ร้องด้วยความยินดี กอดกัน และโบกธงอย่างคึกคัก บางกลุ่มถึงขั้นเต้นรำเป็นวงกลมและเปิดเครื่องเป่าฟองสบู่ราวกับฉลองชัยชนะครั้งใหญ่ ผู้สื่อข่าว BBC เปรียบเทียบว่าเหมือนทีมฟุตบอลเกาหลีใต้คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก

ฮยอน จี คิม วัย 25 ปี ซึ่งปักหลักใกล้สถานีอันกุกตั้งแต่เวลา 23:00 น. ของคืนก่อนหน้า กล่าวว่าเขาสนับสนุนการถอดถอนเพราะอยากยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย และให้ความหวังแก่คนรุ่นใหม่ เอจอง ฮา ศิลปินวัย 61 ปี ร้องเพลงและโบกธงพร้อมเพื่อน ๆ โดยกล่าวว่ายุนต้องถูกปลด เขาอยากปกป้องประเทศนี้เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ผู้ต่อต้าน ยุน ร้องไห้ดีใจเมื่อได้ยินคำตัดสิน

ผู้ต่อต้าน ยุน ร้องไห้ดีใจเมื่อได้ยินคำตัดสิน

ผู้ต่อต้าน ยุน ร้องไห้ดีใจเมื่อได้ยินคำตัดสิน

ในทางกลับกัน ฝ่ายสนับสนุนยุน ซึ่งรวมตัวกันนอกทำเนียบประธานาธิบดีและใกล้ศาล แสดงความโกรธแค้นและผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อทราบผล ผู้คนส่งเสียงโห่และร้องไห้ บางคนตะโกนว่า "เกาหลีจบสิ้นแล้ว" หรือ "คำตัดสินไม่สมเหตุสมผล" ลี จางยุน วัย 58 ปี กล่าวว่า "ศาลจะต้องยกเลิกการถอดถอน ไม่มีทางเลือกอื่น เขาไม่ยอมรับคำตัดสินนี้ และกลัวว่าลี แจ-มยอง (ผู้นำฝ่ายค้าน) จะเข้ามาครองอำนาจ" ส่วน คิม ดง-ฮยอน วัย 30 ปี ระบุว่าเขาเปลี่ยนใจมาสนับสนุนยุนหลังศึกษาสาเหตุของกฎอัยการศึก และกังวลว่าการถอดถอนจะทำให้ฝ่ายค้านครองทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

ผู้สนับสนุน ยุน ร้องไห้เสียใจเมื่อได้ยินคำตัดสิน

ผู้สนับสนุน ยุน ร้องไห้เสียใจเมื่อได้ยินคำตัดสิน

ผู้สนับสนุน ยุน ร้องไห้เสียใจเมื่อได้ยินคำตัดสิน

เปิดขั้นตอน ถอดถอน ยุน ซอก-ยอล 

การถอดถอนประธานาธิบดีในเกาหลีใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นในปี 2559 กับ ปธน.ปาร์ก กึน-ฮเย และ ยุน ซอก-ยอล ก็อยู่ในฐานะอัยการในขณะนั้น และเป็นผู้นำการสอบสวนที่นำไปสู่การถอดถอนของอดีต ปธน.ปาร์ก

กระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ เริ่มต้นด้วยการที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เสนอร่างถอดถอน ซึ่งในกรณีของยุน พรรคประชาธิปไตยฝ่ายค้านเป็นผู้ผลักดัน ร่างดังกล่าวต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 300 คน

อ่านข่าว : ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ? กฎอัยการศึกฉีกหน้าประชาธิปไตยเกาหลีใต้

14 ธ.ค.2567 รัฐสภาลงมติด้วยคะแนน 204 เสียงเห็นชอบ ทำให้ยุนถูกระงับจากตำแหน่งชั่วคราว หลังจากนั้น คดีถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผู้พิพากษา 8 คน เพื่อไต่สวนและตัดสินขั้นสุดท้าย การถอดถอนจะสำเร็จได้ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 6 คนเห็นชอบ ซึ่งในกรณีนี้ทั้ง 8 คนลงมติเป็นเอกฉันท์

ระหว่างการไต่สวน นักกฎหมายถกเถียงกันว่า การประกาศกฎอัยการศึกของยุน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยฝ่ายต่อต้านยืนยันว่าเขาไม่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่ากฎอัยการศึกใช้ได้เฉพาะในภาวะสงครามหรือวิกฤตฉุกเฉินเท่านั้น และต้องผ่านการปรึกษาคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนยุนอ้างว่า เขากำลังปกป้องชาติจาก ผู้ที่เห็นอกเห็นใจเกาหลีเหนือ แต่ศาลเห็นว่าการกระทำของยุนร้ายแรงเกินกว่าจะยกโทษให้

อดีต ปธน.ยุน ซอก-ยอล

อดีต ปธน.ยุน ซอก-ยอล

อดีต ปธน.ยุน ซอก-ยอล

ถอดถอย "ยุน" แต่เกาหลีใต้ยังเผชิญความท้าทายใหม่

การถอดถอนยุนทำให้เกาหลีใต้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน หรือไม่เกินวันที่ 3 มิ.ย.2568 ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากประเทศยังแตกแยกอย่างหนัก ฝ่ายสนับสนุนยุนบางส่วนไม่ยอมรับคำตัดสิน และกล่าวหาว่าศาลมีอคติ ขณะที่ทนายของยุนระบุว่าพวกเขาอาจต่อสู้ทางกฎหมายต่อไป แม้ว่าจะไม่มีช่องทางให้ยุนกลับคืนตำแหน่งได้อีก

วิกฤตนี้ยังเผยให้เห็นจุดอ่อนในระบบการเมืองเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอำนาจของประธานาธิบดีที่มีมากเกินไป ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจำกัดอำนาจและป้องกันการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก การประกาศกฎอัยการศึกของยุนเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 ทำให้หลายฝ่ายตระหนักว่าเครื่องมือนี้ไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่งของอดีตเผด็จการ แต่ยังเป็นภัยคุกคามที่จับต้องได้ในปัจจุบัน

อ่านข่าว : จะเกิดอะไรขึ้นหาก "ยุน ซอก-ยอล" ถูกถอดถอนตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้

ในระดับนานาชาติ การเปลี่ยนผ่านผู้นำของเกาหลีใต้ เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ ซึ่งอาจกระทบความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ในฐานะพันธมิตรหลัก

ขณะที่ประชาชนบางส่วนมองว่าคำตัดสินนี้เป็นชัยชนะของประชาธิปไตย แต่คนอื่น ๆ กังวลว่าความแตกแยกและความไม่ไว้วางใจในระบบเลือกตั้งอาจทำให้วิกฤตยืดเยื้อต่อไป

การเลือกตั้งเกาหลีใต้

การเลือกตั้งเกาหลีใต้

การเลือกตั้งเกาหลีใต้

อ่านข่าวเพิ่ม :

ประกาศสิ้นสุดสาธารณภัยใน กทม. ยกเว้นพื้นที่ตึก สตง.ถล่ม

"ทรัมป์" รีดภาษีทำผู้ผลิตรถยนต์ปลดคน-ระงับการผลิตบางส่วน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง