ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มะเร็ง-ปอดพัง มรดกฝุ่นพิษ 9/11 บทเรียน สตง. ถล่ม คนป่วยระยะยาว

ภัยพิบัติ
1 เม.ย. 68
16:16
2,836
Logo Thai PBS
มะเร็ง-ปอดพัง มรดกฝุ่นพิษ 9/11 บทเรียน สตง. ถล่ม คนป่วยระยะยาว
อ่านให้ฟัง
10:38อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตึก สตง. ถล่มจากแผ่นดินไหว 28 มี.ค. คล้ายกับเหตุการณ์ 9/11 ตรงฝุ่นพิษที่อาจทิ้งผลกระทบสุขภาพระยะยาว จากบทเรียน 9/11 ฝุ่นคร่าชีวิตกว่า 6,781 คนใน 23 ปี ซึ่งมากกว่าวันเกิดเหตุ 2 เท่า คำถามคือกรณีฝุ่นจาก สตง. คนไทยจะเผชิญชะตากรรมเดียวกันหรือไม่ ?

เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 จากเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ส่งผลให้อาคาร สตง.แห่งใหม่ ย่านจตุจักร กรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วยงบประมาณ 2,560 ล้านบาท ถล่มลงมาทั้งหลัง แม้ความเสียหายจะไม่เทียบเท่ากับเหตุโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center) หรือที่รู้จักกันในชื่อ 9/11 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2544 ที่คร่าชีวิตผู้คนทันที 2,977 คน

แต่สิ่งที่ทั้ง 2 เหตุการณ์มีร่วมกันคือ ฝุ่นและควันพิษ อันเกิดจากการพังทลายของอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งจากเหตุการณ์ 9/11 ได้พิสูจน์แล้วว่า ฝุ่นเหล่านี้ไม่เพียงเป็นภัยร้ายในวันเกิดเหตุ แต่ยังทิ้งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวที่คร่าชีวิตและสร้างความเจ็บป่วยให้ผู้คนนับหมื่น

มรดกอันโหดร้าย 9/11 ฝุ่นคร่าคนมากกว่าวันโจมตี

เหตุการณ์ 9/11 เริ่มต้นจากเครื่องบิน 2 ลำที่ถูกจี้โดยผู้ก่อการร้ายพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ทำให้ตึกถล่มลงมาภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง เหตุการณ์นี้คร่าชีวิตผู้คนไปทันที 2,977 คน

แต่ 23 ปีต่อมา ผลกระทบจากฝุ่นและควันพิษที่เกิดจากการถล่มได้กลายเป็นฆาตกรเงียบที่ร้ายแรงยิ่งกว่า ตามข้อมูลจาก โปรแกรมสุขภาพเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (WTC Health Program) ซึ่งจัดตั้งโดยรัฐบาลสหรัฐเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุ 9/11 ระบุว่า ณ เดือน ธ.ค.2566 มีผู้เสียชีวิตจากโรคและมะเร็งที่เชื่อมโยงกับการสัมผัสฝุ่นพิษที่ Ground Zero ถึง 6,781 คน มากกว่าถึง 2 เท่าของผู้เสียชีวิตในวันเกิดเหตุ และตัวเลขนี้ยังไม่นิ่ง เพราะยังมีผู้ป่วยใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เอลิซาเบธ คาสซิโอ อดีตเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินของกรมดับเพลิงนิวยอร์ก (FDNY) เป็น 1 ในผู้ที่เผชิญฝุ่นพิษจาก 9/11 โดยตรง เธอเล่าถึงวันที่ลงจากรถบัสไปถึงจุดเกิดเหตุว่า รู้สึกเหมือนต้องกลั้นหายใจ อากาศเต็มไปด้วยอนุภาคที่สัมผัสได้ในจมูกและปาก เธอรู้ทันทีว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ ๆ

คาสซิโอใช้เวลาเกือบ 2 เดือนทำงานที่ "The Pile" หรือกองซากตึกที่เจ้าหน้าที่เรียกขานกัน เริ่มแรกเธอตั้งใจไปตั้งศูนย์พยาบาลเพื่อช่วยผู้รอดชีวิต แต่กลับพบว่าแทบไม่มีใครรอด ต่อมา เธอเริ่มมีอาการไอเรื้อรังหลังทำงานได้ 1 เดือน ตามด้วยปัญหาไซนัสอักเสบและปวดหัว กระทั่งในปี 2562 เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม ซึ่งแพทย์เชื่อว่าเกิดจากการสัมผัสฝุ่นพิษ

เธอเกษียณในปี 2566 หลังรับตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ FDNY และปัจจุบันอายุ 61 ปี ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของ WTC Health Program 

ฝุ่นพิษจาก 9/11 ส่วนผสมแห่งความหายนะ

เมื่อตึกแฝดถล่ม ฝุ่นและควันมหาศาลพวยพุ่งออกมาปกคลุมแมนฮัตตันตอนล่าง ข้ามแม่น้ำอีสต์ไปถึงบรูกลิน ฝุ่นหนากว่า 10 เซนติเมตรเกาะตามพื้นผิว ถนน และพัดเข้าอาคาร แม้ฝนตกหนักจะชะล้างฝุ่นกลางแจ้งบางส่วน แต่คุณภาพอากาศยังคงแย่นานหลายเดือน

งานวิจัยเผยว่า ฝุ่นนี้ประกอบด้วย แร่ใยหินที่ก่อมะเร็ง, โลหะหนัก เช่น ตะกั่วและปรอท, และ สารเคมีพิษ เช่น โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ นอกจากนี้ยังมี ยิปซัม และ แคลไซต์ จากวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์และแผ่นยิปซัมบอร์ด ที่ระคายเคืองตาและปอด ควันจากไฟไหม้ที่ลุกโชนนานหลายสัปดาห์ปล่อย เขม่าละเอียด, น้ำมันเครื่องบินที่ไม่เผาไหม้ และ ควันจากพลาสติกและไม้ที่ไหม้ สร้าง "ซุปพิษ" ที่ไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์

ในช่วงแรก สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ และ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก รูดี จูเลียนี พยายามปลอบประชาชนว่าอากาศปลอดภัย แม้จะแนะนำให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากและชุดป้องกัน แต่หลายคนทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ หรือใช้หน้ากากกระดาษธรรมดา ชาวเมืองที่อาศัยและทำงานใกล้เคียงก็ดำเนินชีวิตท่ามกลางมลพิษนี้ ต่อมาพิสูจน์ได้ว่าคำปลอบใจนั้นผิดพลาดอย่างมหันต์

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) มีผู้ลงทะเบียนใน WTC Health Program 127,567 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 82,000 คน ที่ช่วยเหลือหรือกวาดล้างซากตึก และอีก 44,000 คน เป็นผู้ที่อยู่ในเขตภัยพิบัติขณะเกิดเหตุ

โรคที่พบรวมถึงมะเร็ง 37,500 คน และยังมี โรคทางเดินหายใจ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง และ โรคจิตเวช โรคหายากอย่าง ซาร์คอยโดซิส (ก้อนอักเสบในอวัยวะ) พบสูงผิดปกติในนักดับเพลิง FDNY รายงานว่า เจ้าหน้าที่เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับ 9/11 มากกว่า 360 ราย เกินกว่าจำนวน 343 รายที่เสียชีวิตในวันเกิดเหตุ

ตึก สตง. ถล่ม ฝุ่นพิษซ้ำรอย 9/11 ?

เหตุตึก สตง. ถล่มสร้างความโกลาหลในกรุงเทพฯ ฝุ่นจากคอนกรีต เหล็ก และวัสดุก่อสร้างพวยพุ่งปกคลุมย่านจตุจักรเป็นวงกว้าง คล้ายฝุ่นพิษจาก 9/11 แม้จะไม่มีไฟไหม้เหมือนกรณีนิวยอร์ก แต่ฝุ่นจากโครงสร้างตึกอาจมี ตะกั่ว, แร่ใยหิน, และ อนุภาคละเอียด ที่เป็นอันตรายต่อปอดและระบบร่างกาย

นายจอห์น ฟีล อดีตเจ้าหน้าที่รื้อถอนที่ Ground Zero ซึ่งบาดเจ็บจากเหล็กทับเท้าในวันที่ 6 หลังเหตุ 9/11 เตือนว่า บางคนป่วยใน 2 ปี บางคน 12 ปี บางคนไม่ป่วยเลย ขึ้นอยู่กับการสัมผัส เช่นเดียวกับตึก สตง. ที่คนงานและประชาชนใกล้เคียงที่สัมผัสฝุ่นโดยตรง อาจเผชิญความเสี่ยงระยะยาว เช่น โรคปอด มะเร็ง หรืออาการทางจิตเวช

ไมเคิล โอคอนเนลล์ อดีตนักดับเพลิง FDNY วัย 48 ปี ซึ่งทำงานที่ Ground Zero เล่าถึงอาการป่วยที่ตามมาว่า เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ซาร์คอยโดซิส ในปี 2550 ตอนอายุ 31 ปี "ความรู้สึกมันเหมือนถูกตีด้วยไม้เบสบอลทุกวัน" เขากล่าว เราหายใจเอาอากาศพิษเข้าไป 8 เดือน ตอนนี้คนยังป่วยและตายจากมัน

งานวิจัยของ นายแพทย์เดวิด เพรซานต์ หัวหน้าแพทย์ FDNY พบว่านักดับเพลิงเกือบ 100 รายป่วยด้วยโรคนี้หลัง 9/11
ลีลา นอร์ดสตรอม วัย 40 ปี อดีตนักเรียนโรงเรียนสตายเวสันต์ ห่างจากตึกแฝด 3 บล็อก เล่าถึงฝุ่นที่พุ่งเข้าห้องเรียนวันนั้น "อาการหอบหืดของฉันแย่ลงเพราะฝุ่น"

ถอดบทเรียน 9/11 สำหรับ ฝุ่น สตง. ไทย

ศาสตราจารย์ไอริส อูดาซิน จากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ผู้ศึกษาโรคจาก 9/11 ระบุว่า มะเร็งบางชนิดใช้เวลา 20-25 ปีกว่าจะปรากฏ ตอนนี้คือช่วงที่ต้องคัดกรอง WTC Health Program ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ด้วยการรักษาฟรีและติดตามต่อเนื่อง

มาร์ก วิลเคนเฟลด์ แพทย์ที่เริ่มศึกษา 9/11 ตั้งแต่แรก กล่าวว่า เรายังเจอคนป่วยใหม่ ๆ ล่าสุด เขาพบอาการ เส้นประสาทเสียหาย เช่น ชาและเข็มทิ่ม และ โรคหัวใจ ที่อาจเชื่อมโยงกับฝุ่นพิษ ซึ่งควรเป็นบทเรียนให้ไทยพิจารณาเฝ้าระวัง และยังมีงานวิจัยล่าสุดยังพบว่า ผู้สัมผัสฝุ่น 9/11 จะมีความเสื่อมของสมองจากสารพิษทางระบบประสาท และ การแก่ก่อนวัย ในทหารผ่านศึกที่ปฏิบัติหน้าที่หลังเหตุการณ์ และยังมีข้อมูลเสริมว่า "ทุกเดือนกันยายน ใกล้วันครบรอบ 9/11 ผู้ป่วยจิตเวชจะเพิ่มขึ้น" ซึ่งแสดงถึงผลกระทบทั้งกายและใจของผู้เผชิญเหตุหรือญาติของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9/11 เมื่อ 23 ปีที่แล้ว

ฝุ่นจากตึก สตง. อาจมีสารพิษคล้าย 9/11 เช่น ตะกั่วหรือแร่ใยหิน ซึ่งไทยยังไม่มีระบบตรวจสุขภาพระยะยาวเหมือน WTC Health Program ผู้ที่อยู่ในรัศมีเหตุการณ์ รวมถึงคนงานและประชาชนใกล้เคียง อาจเผชิญอาการเรื้อรังในอนาคต

บริจิต กอร์มลีย์ ผู้สูญเสียพ่อจากมะเร็ง 9/11 เตือนว่าบางคนไม่เชื่อมโยงอาการป่วยกับเหตุการณ์ ต้องสื่อสารให้ชัด เธอยังชี้ว่าเจ้าหน้าที่จาก 9/11 กระจายไปทั่วโลก และหลายคนไม่ได้รับการดูแล

อ่านข่าวเพิ่ม : 

150 ปี สตง. ผู้พิทักษ์เงินแผ่นดิน เผชิญวิกฤตโปร่งใสตึกใหม่พังถล่ม

สพฐ.เคาะวันสอบเข้า ม.1 ม.4 ใหม่ 5-6 เม.ย.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง