ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กรอยร้าว อาคาร-บ้าน-คอนโด หลังแผ่นดินไหว แบบไหนอันตราย

ภัยพิบัติ
31 มี.ค. 68
12:32
3,787
Logo Thai PBS
เช็กรอยร้าว อาคาร-บ้าน-คอนโด หลังแผ่นดินไหว แบบไหนอันตราย
อ่านให้ฟัง
09:26อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังแผ่นดินไหวรุนแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะรอยร้าวที่ทำให้หลายคนกังวลใจ พาไปเช็กรอยร้าวที่ควรเฝ้าระวัง พร้อมแนวทางประเมินเบื้องต้นก่อนเรียกผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 8.2 ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา หรือ 7.7 ตามข้อมูลของ USGS ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองมันดาเลย์ ประเทศเมียนมา ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 และตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกหลายระลอก แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร

เพียงไม่กี่นาทีหลังเหตุการณ์สร้างความเสียหายเกิดขึ้น หลายคนเร่งตรวจสอบบ้านและอาคาร หนึ่งในปัญหาที่เจ้าของบ้าน คอนโด และอาคารต่าง ๆ ต้องเผชิญ คือ "รอยร้าว" และ "รอยแตก" บนโครงสร้าง ผนัง ทำให้เกิดความกังวลใจถึงความปลอดภัย รวมถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาทีหลัง 

เฉพาะในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม มีคนแจ้งปัญหาดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue มีการแจ้งเข้ามากว่า 2,100 เคส และในวันที่ 29 มีนาคม เพียงครึ่งวัน ยอดแจ้งเตือนพุ่งขึ้นเกิน 5,000 เคส เนื่องจากบางคนเพิ่งมีโอกาสเข้าตรวจสอบ บ้าน คอนโดฯ และ อาคาร 

สำหรับคนที่แจ้งปัญหาเข้ามา นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รอง ผู้ว่าฯ กทม. ได้อธิบายถึงแนวทางในการตอบปัญหาให้ผู้ที่เข้ามาแจ้งเรื่องประเมินความเสียหาย ว่า สำหรับอาคาร 8 ชั้นขึ้นไปจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

กรณีที่ 1 หากเป็นผนังร้าวหรือสิ่งที่เห็นแล้วว่าไม่กระทบโครงสร้าง

  • วิศวกรจะตรวจสอบและยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง
  • เจ้าของสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ตามปกติ
  • ปิดเคส แต่ยังคงให้นิติบุคคลตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้ง 

กรณีที่ 2 กรณีที่ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด

  • จะส่งเรื่องให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบ

กรณีที่ 3 หากพบว่ามีผลกระทบต่อโครงสร้างอย่างชัดเจน

  • จะตอบว่าอาศัยไม่ได้
  • ทีมวิศวกรจะเร่งเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด
  • แจ้งให้นิติบุคคลอาคารทราบเพื่อดำเนินมาตรการต่อไป

หากเป็นกรณี บ้านที่ต่ำกว่า 8 ชั้น ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้มีผลกระทบมาก หากประเมินแล้วว่าไม่มีอันตราย วิศวกรจะตอบว่าไม่ได้กระทบโครงสร้าง ปิดเรื่องได้ แต่หากดูแล้วว่าอาจเป็นอันตราย วิศวกรอาสาในพื้นที่ไปตรวจสอบ

รอง ผู้ว่าฯ กทม. ระบุด้วยว่า เนื่องจากมีประชาชนส่งเคสเพิ่มมากขึ้น จึงเสริมทีมวิศวกรอาสาและแบ่งงานให้เป็นระบบมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ทีม คือ ทีมที่มีใบ วย. หรือวุฒิวิศวกรโยธา จะเข้ามาดูเคสยาก ส่วนอีกทีมจะดูเคสไม่ยาก ขณะนี้ต้องเร่งปิดเคสที่ส่งเรื่องเข้ามามากกว่า 5,500 เคสแล้ว และได้ตั้งทีมกลางจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) คอยรับข้อมูลจากวิศวกรอาสาที่ลงพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้มี 2,000 กว่าเคสที่ส่งเข้ามา พิจารณาแล้วว่ามีประมาณ 700 เคส ที่ต้องลงไปดูอาคาร

อ่านข่าว : กทม.จัดทีมวิศวกรอาสา ประเมินความเสียหายอาคาร

แจ้งปัญหา รอยร้าวผ่าน Traffy Fondue ทำอย่างไร

การประเมินความเสียหายของอาคารจากรอยร้าว จำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายประกอบเพื่อวิเคราะห์อย่างละเอียด ภาพที่ชัดเจนและครบถ้วน จะช่วยให้วิศวกรและเจ้าหน้าที่สามารถประเมินสภาพอาคารได้แม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น กทม. ขอความร่วมมือในการส่งภาพผ่าน Traffy Fondue เพื่อประเมินจำนวน 2 ภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. มุมกว้างเห็นตำแหน่งที่เกิด - เพื่อให้เห็นบริบทของรอยร้าว เช่น อยู่ตรงผนัง เสา หรือจุดใดของอาคาร รวมถึงลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง

2. มุมแคบเฉพาะจุดรอยร้าว - แสดงรายละเอียดของรอยร้าวให้ชัดเจน เช่น ขนาด ความลึก หรือรูปแบบของรอยแตก

ในขั้นตอนการระบุอาคาร ควรใส่ชื่ออาคาร หอพัก หรือคอนโด และระบุชั้นที่เกิดรอยร้าวว่าเป็นชั้นที่เท่าไหร่ เมื่อได้ภาพที่ชัดเจน และเห็นรายละเอียดครบแล้ว ภาพทั้งสองมุมนี้จะช่วยให้ทีมวิศวกรอาสาประเมินได้ว่า จุดนั้นอันตรายหรือไม่ ต้องมีการซ่อมแซมด่วนหรือไม่ ส่งผลต่อโครงสร้างโดยรวมของอาคารแค่ไหน

เพียงแค่ส่งรูปให้ถูกต้องครบทุกมุม ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดภัยยิ่งขึ้น หากพบรอยร้าวที่น่าสงสัย สามารถแจ้งเข้ามาได้ทันทีผ่าน LINE @traffyfondue หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านช่องแชทของ กทม. ทุกแพลตฟอร์ม

เช็กรอยร้าว อาคาร-บ้าน-คอนโด แบบไหนอันตราย

แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างได้ ฉะนั้นจึงควรตรวจสอบรอยร้าวต่างๆ เพื่อประเมินความปลอดภัย  กรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ประเภทของรอยแตกตามลำดับความอันตราย เพื่อให้ประชาชนประเมินเบื้องต้นก่อนเรียกผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ

ตรวจด้วยตัวเองก่อนแจ้งเพื่อช่วยเร่งตรวจจุดเสี่ยงจริงเว้นรอยร้าวเล็ก ๆ ที่ไม่กระทบ โครงสร้างหลัก เช่น เสา-คานเพื่อให้ทีมวิศวกรอาสาเข้าตรวจอาคารที่อาจเป็นอันตรายได้ รวดเร็วและแม่นยำ ประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ

รอยร้าวที่ไม่อันตราย (รอตรวจภายหลังได้)

  • ผนังร้าวแต่ยังมั่นคง ผลักแล้วไม่โยก
  • กระเบื้องพื้นร่อน สีหลุด
  • คานร้าวขนานใต้คาน
  • เสาร้าวเล็ก ๆ แต่ไม่โก่ง
  • ผ้าเพดานหลุดหรือเสียหาย

รอยร้าวที่ควรแจ้งทันที (เสี่ยงอันตราย)

  • กำแพงเอน มีแนวโน้มพังล้ม
  • พื้นแอ่น เห็นเหล็กเสริม
  • คานร้าวเฉียง หรือปริจนเห็นเหล็ก
  • เสาโก่ง หรือคอนกรีตระเบิดจนเห็นเหล็ก

พื้น /ฝ้า บริเวณที่ตรวจสอบ 

ผิวพื้นด้านบน/ล่าง

ผิวพื้นรอบ ๆ เสา

รอยต่อระหว่างพื้นและคาน

คาน บริเวณที่ตรวจสอบ 

ช่วงกลางคาน รอยต่อระหว่างคานและเสา

เสา บริเวณที่ตรวจสอบ

ช่วงเสา จุดต่อ เสา-คาน 

กำแพง คสล. (คอนกรีตเหล็ก) บริเวณทั่วไป

ขอความร่วมมือนิติบุคคล ประเมินความเสียหายของอาคารจากรอยร้าว

กรุงเทพมหานคร ยังขอความร่วมมือนิติบุคคลเร่งการประเมินความเสียหายของอาคารจากรอยร้าว จำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายประกอบเพื่อวิเคราะห์อย่างละเอียด ให้วิศวกรและเจ้าหน้าที่สามารถประเมินสภาพอาคารได้แม่นยำและรวดเร็ว ส่งภาพผ่าน Traffy Fondue เพื่อประเมินจำนวน 2 ภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. มุมกว้างเห็นตำแหน่งที่เกิด เพื่อให้เห็นบริบทของรอยร้าว เช่น อยู่ตรงผนัง เสา หรือจุดใดของอาคาร รวมถึงลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง


2. มุมแคบเฉพาะจุดรอยร้าว แสดงรายละเอียดของรอยร้าวให้ชัดเจน เช่น ขนาด ความลึก หรือรูปแบบของรอยแตก

ในขั้นตอนการระบุอาคาร ควรใส่ชื่ออาคาร หอพัก หรือคอนโด และระบุชั้นที่เกิดรอยร้าวว่าเป็นชั้นที่เท่าไหร่ เมื่อได้ภาพที่ชัดเจน และเห็นรายละเอียด ภาพทั้งสองมุมนี้จะช่วยให้ทีมวิศวกรอาสาประเมินได้ว่า

  • จุดนั้นอันตรายหรือไม่
  • ต้องมีการซ่อมแซมด่วนหรือไม่
  • ส่งผลต่อโครงสร้างโดยรวมของอาคารแค่ไหน

การเช็กรอยร้าวหลังแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น การสังเกตลักษณะของรอยร้าวและความรุนแรงของความเสียหาย สามารถช่วยให้ประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง และหากพบรอยร้าวที่น่าสงสัย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและอาคารโดยรวม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง