ดอกแรกที่นายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ถูกอภิปรายอย่างหนักเป็นเรื่องแรก หลังจากนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เปิดญัตติ คือเรื่องประเด็นเลี่ยงภาษี
อันเกิดจาก การออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า กว่า 4,400 ล้านบาท ของ น.ส.แพทองธาร เพื่อใช้ชำระค่าหุ้น 9 บริษัทให้แก่มารดา พี่ชายพี่สาวและคนในตระกูล เป็นการทำนิติกรรมอำพราง “สัญญาให้หุ้น” เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่
เป็นผลจากการเปิดประเด็นของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนที่ 2 ต่อจากนายณัฐพงษ์ และในประเด็นที่ “ลุงป้อม” เปิดให้ลูกพรรค น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สส.เพชรบูรณ์ เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เขี่ยลูกเล่นต่อ คือนายกฯ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จากการทำนิติกรรมอำพราง ยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
น.ส.พิมพ์พร ซึ่งจบด้านบริหารธุรกิจ ขยายผลเรื่องการออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท ของ น.ส.แพทองธาร เพื่อชำระค่าหุ้นที่มารดาและคนในตระกูลโอนให้ดังกล่าว ถือเป็นการจงใจทำผิดหลีกเลี่ยงไม่ต้องชำระภาษี ก่อนที่คนรับหน้าที่ขยี้ซ้ำเรื่องนี้ คือ สส.ตัวตึงพรรคประชาชน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่แจกแจง รายการโอนหุ้น ตั้งแต่
น.ส.พิณทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว นายพานทองแท้ ชินวัตร พี่ชาย คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ลุง และนางบุษบา ดามาพงศ์ ป้าสะใภ้ ที่เริ่มการโอนหุ้น รวม 9 บริษัท ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2566
ด้วยลีลาการตอกย้ำระหว่างการอภิปรายที่เข้มข้นดุดันของนายวิโรจน์ ส่งผลให้องครักษ์พิทักษ์ข้อบังคับ ที่พรรคเพื่อไทยตั้งขึ้น ต้องเทคแอคชัน ลุกขึ้นทำหน้าที่ประท้วงเบรกเกมรุกของนายวิโรจน์ไม่ต่ำกว่า 3-4 คน ด้วยการประท้วงประธานในที่ประชุม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งเป็นกลาง ผู้ประท้วงอ้างว่า ผู้อภิปรายพูดจาส่อเสียดใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม จนเสียเวลาไปครู่ใหญ่
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นออกตั๋วสัญญาใช้เงินกว่า 4,400 ล้านบาทนี้ ผู้ที่เปิดประเด็นมาก่อนหน้าจะถึงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนานนับหลายเดือน คือ สำนักข่าวอิศรา ที่เกาะติดและวิพากษ์เป็นข้อสงสัย
เรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ตอบประเด็นคำถามว่า เป็นการทำ “นิติกรรมอำพราง” เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ มาแต่ต้น และตอกย้ำมาตลอดจนศึกอภิปรายไม้ไว้วางใจเริ่มต้นขึ้นว่า ยังไม่มีคำตอบจาก น.ส.แพทองธาร หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำนิติกรรมดังกล่าว
เป็นหนี้ปลอม "นิติกรรมอำพราง" หรือเป็น “แผนภาษี”?
เพราะในการนำเสนอข่าวและตรวจสอบโดยสำนักข่าวอิศรา ระบุชัดว่า กฎหมายประมวลรัษฎากรในปัจจุบัน มาตรา 42 ว่าด้วยเงินได้ที่รับยกเว้นภาษี ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 (29 กรกฎาคม 2558) ดังนี้
(27) เงินได้ที่ได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ตลอดปีภาษีนั้น
และ (28) เงินได้ที่ได้จากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนไม่เกิน 10 ล้านบาท ตลอดปีภาษีนั้น
ทั้งนี้ สาเหตุในการแก้ไขประมวลรัษฎากรในส่วนนี้ เนื่องจากมีการตรากฎหมายการจัดเก็บภาษีจากการรับมรดก แต่ประมวลรัษฎากร ยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งธรรมเนียมประเพณี
ถือเป็นการไม่สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก จึงสมควรปรับปรุงบทบัญญัติให้สอดคล้องกัน
การแก้ไขประมวลรัษฎากรดังกล่าว หมายความว่า เมื่อพ่อแม่ หรือบุตร รวมทั้งเครือญาติ ให้ทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นการอ้างอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา โดยเสน่หาฯ ทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทหรือ 20 ล้านบาท แล้วแต่กรณี ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด
เมื่อดูข้อมูลจากที่คุณพจมานและเครือญาติโอนหุ้น 9 บริษัทให้ น.ส.แพทองธาร และ น.ส.แพทองธาร ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท เพื่อชำระราคาค่าหุ้นในปี 2559 และปี 2566 แล้วล้วนเกิดขึ้นหลังจากจากมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้น ถ้าตระกูลชินวัตร ยังยึดรูปแบบการโอนหุ้นไปมาในรูปแบบเดิม ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจเป็นจำนวนหลายร้อยล้านหรือเป็นพันล้านบาท
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงปี 2559 หรือ ปี 2566 ที่มีการถ่ายโอนหุ้นระหว่างคุณหญิงพจมานและเครือญาติให้กับ น.ส.แพทองธาร ตอนนั้น ยังไม่มีใครคาดหมายว่า น.ส.แพทองธารจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.และสาธารณะ
สำนักข่าวอิศรา ระบุด้วยว่า การโอนหุ้นให้กันในหมู่ญาติพี่น้อง อาจทำแบบเงียบๆ ได้ แต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น
การที่ น.ส.แพทองธารออกตั๋วสัญญาใช้เงิน มูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท เพื่อชำระราคาค่าหุ้น อาจเป็นทางออกที่ทำให้ไม่ต้องถูกตรวจสอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเท่ากับการ “ซื้อขายหุ้น” ไม่ใช่ได้รับหุ้นมาฟรี ๆ โดย “การให้” แม้ผู้ให้ จะเป็นบุพากรีหรือญาติพี่น้องโดยอ้างอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือโดยเสน่หา แต่ก็เกินกว่าจำนวนที่จะได้รับการยกเว้นภาษี
กรณีนี้ยังมีคนที่รับเรื่องนี้ไปเคลื่อนไหวต่อ คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักร้องเรียนชั้นแถวหน้าคนหนึ่งของไทย ที่นำไปเรื่องนี้ไปร้องที่ ป.ป.ช. ต่อเนื่องจากที่เคยให้สอบเวลายื่นทรัพย์สินและยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท 20 แห่ง คลาดเคลื่อน หรือไม่
ทำให้ น.ส.แพทองธาร ต้องติดบ่วงเรื่องมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยง ที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่ อย่างไร หรือตามรอยตามนายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดาที่เคยโดนคดีซุกหุ้นภาค 1 และต่อด้วยคดีซุกหุ้นภาค 2 มาแล้ว หรือไม่ จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องรอคำตอบที่กระจ่างชัด
หาก น.ส.แพทองธาร ลุกขึ้นตอบเรื่องนี้ทันที ที่นายวิโรจน์อภิปรายจบ (หรืออาจในเวลาใกล้เคียง) ผู้คนอาจรู้สึกกระจ่าง ไม่สงสัย หากสามารถชี้แจงได้ชัดเจน เพราะหากไม่มีอะไรเคลือบแฝง คงสามารถอธิบายได้ทันควัน
แต่เมื่อนายกฯ เลือกจะยื้อเวลาตอบประเด็นนี้ออกไป ย่อมเป็นที่สงสัยของผู้คนเป็นเรื่องธรรมดาว่า อาจมีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่นก็เป็นได้
แต่แค่เรื่องแรก และยังไม่ใช่เรื่องในฐานะนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศชาติด้วยซ้ำ ก็โดนดอกแรก “จนจุก” เข้าไปแล้ว สำหรับนายกฯ มือใหม่หัดขับ
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการข่าวอาวุโส
ถ่ายทอดสดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2568 วันที่ 2
อ่านข่าว : "อิทธิพล" อภิปรายปมคดีเหมืองทองอัครา ชี้เอื้อ "พล.อ.ประยุทธ์" พ้นผิด
"อนุทิน" ยันอัลไพน์-เขากระโดงไม่มีแลกผลประโยชน์ ลั่นสู้ๆ แพทองธาร
ศาลนัดสอบคำให้การผู้ต้องหา "คดีดิไอคอนฯ" ทุกคนยังปฏิเสธ