วันนี้ (25 ก.พ.2568) การประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดที่ 14 ครั้งที่ 4/2568 โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม เป็นประธาน ทั้งนี้มีวาระการพิจารณาการปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 รวมถึงเรื่องการบริหารอื่นๆ
โดยขณะการประชุมนายบุญสงค์ ได้ขอออกจากห้องประชุมก่อน เนื่องจากติดภารกิจสำคัญในช่วงบ่าย และหลังการประชุม รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ออกมาแถลงข่าวด้วยใบหน้าที่ผิดหวัง
โดยเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม มีมติให้ยกการพิจารณาปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ออกไปครั้งหน้า เพื่อให้ทบทวนเข้ามาใหม่ เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารเรื่องสูตรให้เข้าใจโดยรวมได้ พร้อมกล่าวขอโทษไปถึงผู้ประกันตนที่ไม่สามารถผลักดันมตินี้ให้สำเร็จในวันนี้ได้
ผลการประชุมในวันนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนมาตรา 39 กว่า 300,000 คนที่เราเคยคำนวณไว้ว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้เพิ่มโดยตรง ส่วนนี้ผมขออภัยผู้ประกันตนที่ติดตามทีมประกันสังคมก้าวหน้า
ซึ่งสูตรคำนวณใหม่ที่เสนอในวันนี้ ปรับตามอัตราเงินเฟ้อของค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการเสนออนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์และเงินสมทบ ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา และผ่านการศึกษาวิจัยว่าการปรับเพิ่มเงินบำนาญดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม ซึ่งเฉลี่ย 10 ปี มีงบประมาณเพิ่มเพียง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนควรจะได้รับ
สำหรับการปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพใหม่นี้ จากเดิมที่เคยคำนวณจากเงินสมทบที่จ่ายในช่วง 60 เดือน หรือ 5 ปีสุดท้าย เปลี่ยนเป็น คำนวณจากเงินสมทบที่จ่ายจริงทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 กว่า 3 แสนคน จะได้รับเงินบำนาญเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่ได้เพียงเดือนละกว่า 1,000 บาท
ส่วนผู้ประกันตนที่ได้เงินลดลงจากเดิม จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่น้อยกว่าสูตรเดิมที่ได้รับจากเดิม เป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้น จ่ายตามสูตรคำนวณจริง โดยหากวาระนี้ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกันตน โดยเฉพาะมาตรา 39

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม
“การคำนวณสูตรนี้ได้นำเสนอผ่านอนุกรรมการฯตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นสูตรคำนวณที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ และไม่ได้มีความซับซ้อนมากขนาดนั้น คุณเคยได้รับเงิน 5,000 บาทเมื่อ 20 ปีก่อน สูตรตัวนี้จะถูกเอามาคำนวณใหม่ว่า เทียบเท่ากับได้เงินเดือน 7,000 บาทในปีปัจจุบัน เพราะค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป และจะใช้การคำนวณเงินเดือนตลอดอายุทำงาน แน่นอนว่าประกันสังคมจะต้องใช้เงินเยอะขึ้น แต่ทางฝ่ายวิจัยได้คำนวณมาว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของกองทุนฯ ซึ่งในระยะ 10 ปีจะใช้เงินราว 6 หมื่นล้านบาทจากสถานะกองทุนฯ ที่มีเงินจำนวน 2.6 ล้านล้านบาท แต่จะช่วยผู้ประกันตนได้มากกว่า 3 แสนคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง พร้อมกับการชดเชยผู้ที่ได้รับเงินบำนาญน้อยลงภายใต้เงื่อนไขสูตรบำนาญใหม่” รศ.ษัษฐรัมย์ กล่าว
รศ.ษัษฐรัมย์ ยังกล่าวอีกว่า หากเราไม่สามารถทำให้เรื่องนี้ผ่านได้ จะเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ได้เป็นปัญหาของความซับซ้อนของสูตร แต่เป็นปัญหาที่เรามาจากจักรวาลคนละชุด จักรวาลความเชื่อที่ว่าคนต้องมีคุณภาพชีวิตกับความเชื่อที่ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อที่จะมีชีวิตธรรมดา ซึ่งมติในที่ประชุมคือให้กลับไปศึกษาและนำเสนอมาอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่อยากสื่อสารคือวิกฤตความเชื่อมั่นเมื่อช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณมากกว่า 5 พันล้านบาทต่อปีที่เกิดขึ้น เมื่อกองทุนฯ ไม่โปร่งใส จึงเกิดการตั้งคำถามเหล่านี้ สิ่งที่กำลังทำอยู่ตลอดเวลาคือทำให้กองทุนฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเราเห็นว่าการจัดทำแอปพลิเคชันมีงบประมาณที่ไม่เหมาะสม จึงตรวจสอบ
ซึ่งสิ่งที่กำลังจะทำต่อไปในระยะ 1 ปีที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นบำนาญ การปรับเงินสงเคราะห์บุตร การเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน และสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด จึงต้องใช้แรงขับเคลื่อนของประชาชนเข้าช่วยผลักดันให้อยู่ในที่ที่มีแสงสว่าง เพื่อสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อผู้ประกันตนทุกคน
สำหรับการเสนอวาระการปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ครั้งถัดไป รศ.ษัษฐรัมย์ เปิดเผยว่า น่าจะเสนอได้ในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ซึ่งจะพยายามให้ผ่านการพิจารณาให้ได้ เพื่อรักษาสิทธิผู้ประกันตน
เห็นด้วยควบรวม "ประกันสังคม-บัตรทอง"
ส่วนประเด็นข้อเสนอในการรวมกองทุนการรักษาพยาบาล โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลในส่วนของการรักษาพยาบาล รศ.ษัษฐรัมย์ เปิดเผยว่า วันนี้ไม่ได้มีการหารือถึงประเด็นดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการลงรายละเอียดกันอีกครั้ง
ในตลอดเวลาที่ผ่านมา ประกันสังคมไม่มีความชำนาญในการจัดบริการรักษาพยาบาล ขณะเดียวกัน กองทุนสุขภาพของประกันสังคมจะทะลุ 1 แสนล้านบาทในเวลาไม่ถึง 5 ปี แต่ด้านสิทธิประโยชน์แทบไม่ได้เพิ่ม เนื่องจากไม่สามารถต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทั้งนี้ ส่วนตัวตนเห็นด้วยกับการให้คนไทยทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลด้วยระบบที่ดีที่สุดระบบเดียว และสิทธิ สปสช. ควรเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน อย่างในปัจจุบันที่เมื่อคนทำงานแล้วส่งประกันสังคม สิทธิบัตรทองจะหายไปโดยปริยาย จึงเป็นปัญหาว่า ทำไมเราจึงโดนตัดสิทธิจาก สปสช.
เมื่อถามถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้ความร่วมมือกับการรวมกองทุนสุขภาพ ตนเองยินดี เพราะต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมืองจากทั้ง 2 กระทรวง ทุกภาคส่วนต้องพร้อมวางดาบในมือของตัวเอง เพื่อผู้ประกันตนได้หรือไม่ ถ้า สปสช. พร้อมคืนสิทธิให้แก่ผู้ประกันตน ที่ต้องควักเงินเพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นล้านบาท แล้วสามารถเพิ่มเติมในส่วนที่มีการร่วมจ่าย
ขณะเดียวกันทางประกันสังคม ก็จะต้องรองรับในเรื่องของสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนจะต้องไปใช้สิทธิการรักษาในโรงพยาบาลของ สปสช. ฉะนั้น จะต้องฝากถึงรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง ถ้าสามารถจับเข่าคุยกันได้ บอร์ดประกันสังคมก็จะทำงานได้ดีขึ้น
ส่วนประเด็นการรวมกองทุนรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนเข้าไปอยู่ในสิทธิบัตรทอง จะทำให้ สปสช. แบกรับงบประมาณ ที่เพิ่มขึ้น ตนเองมองว่า วิธีการบริหารของทั้ง 2 กองทุนต่างกัน ตัวชี้วัดของ สปสช. คือการที่มีคนมาใช้บริการมาก สิทธิประโยชน์ถูกใช้ เพราะทาง สปสช. ไม่ได้บริหารแบบกองทุน แต่เป็นการบริหารผ่านระบบภาษี หลักความคิดจึงต่างกัน
โจทย์คำว่าหลังแอ่น โจทย์คำว่าค่าใช้จ่ายทางการรักษาพยาบาลมากเกินไป เป็นโจทย์จากการเอาเครื่องคิดเลขนำชีวิตคน
ส่วนแนวคิดให้กองทุนประกันสังคมออกนอกระบบราชการ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า เตรียมร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่เดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดอำนาจบอดประกันสังคมจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน สมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก ที่เห็นพ้องต้องกัน เพื่อให้การบริหารจัดการของประกันสังคม เป็นอิสระมากขึ้น ไม่ตกอยู่ภายใต้ระบบราชการ ที่เป็นการบริหารเวียนกันมาของข้าราชการ แล้วทำให้การผลักดันชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เช่น สิทธิประโยชน์มาตรา 40 ที่มีการพิจารณาผ่านไปแล้วแต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะต้องผ่านมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมดนี้เป็นคอขวดของระบบราชการ
อ่านข่าว :
"บัตรทอง" อัพเกรด 30 บาทรักษาทุกที่-เทียบ 7 สิทธิประกันสังคม