ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้สิทธิประกันสังคม "วัยก่อนเกษียณ" ได้อะไรจากกองทุน?

สังคม
25 ก.พ. 68
12:13
106
Logo Thai PBS
รู้สิทธิประกันสังคม "วัยก่อนเกษียณ" ได้อะไรจากกองทุน?
อ่านให้ฟัง
09:21อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดมุมมองผู้ประกันตนวัยก่อนเกษียณ ตั้งคำถามเก็บเงินสะสม 20 ปีได้อะไรจากกองทุนฯ พร้อมเช็กสิทธิมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ทั้งรักษาพยาบาล ชดเชยว่างงาน และเงินบำเหน็จ บำนาญ

จากกรณีโซเชียลบางส่วนตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้เงินของผู้ประกันตน ไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดรูปแบบการลงทุนและผลกำไร บางส่วนจึงเรียกร้องให้สามารถถอนเงินสะสมออกมาก่อนได้ ไม่ต้องรอถึงอายุ 55 ปี

หญิงวัย 50 ปี หนึ่งในผู้ประกันตน บอกว่า เธอเริ่มสะสมเงินตั้งแต่ทำงานที่แรก เมื่อปี 2541 จนถึงปี 2560 ในมาตรา 33 เดือนละ 750 บาท มีเงินสะสม 158,000 บาท แต่ปัจจุบันหลุดจากระบบมาตรา 33 เนื่องจากที่ทำงานใหม่ไม่มีประกันสังคม เธอจึงเลือกทำประกันสังคม โดยระบุอาชีพอิสระตามมาตรา 40 จ่ายเงินเดือนละ 300 บาท เพื่อรักษาเงินก้อนใหญ่ และคิดว่าการทำประกันสังคมคือหลักประกันชีวิต เพราะใช้สิทธิรักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายวันเมื่อต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

อีกทั้งเมื่อเกษียณจะมีเงินก้อน หรือเงินบำนาญกองเงินชราภาพมาใช้ในการดำรงชีวิต หรือกรณีเสียชีวิตก็จะมีเงินจัดพิธีศพ ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้สิทธิเพียงทำฟันปีละ 1 ครั้ง จำนวนเงิน 900 บาท

แต่เมื่อมีข่าวว่ากองทุนประกันสังคม นำเงินไปใช้ลงทุนอย่างไม่เหมาะสม และที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้ผู้ประกันตนถอนเงินสะสมของตัวเองมาบริหารจัดการแทนที่จะต้องรอถึงอายุ 55 ปี เธอจึงกลับไปเช็กยอดเงิน และมองว่าหากนำเงินจำนวนนี้มาลงทุนน่าจะเกิดดอกผลมากกว่าถูกกองทุนฯ นำไปใช้แล้วไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดการลงทุน แตกต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่แจ้งรายละเอียดการลงทุน และดอกผลชัดเจน

ขณะที่ชายวัย 57 ปี บอกว่า ทำประกันสังคมมาตรา 33 มาก่อน เป็นเวลา 20 ปี พบว่าข้อดี คือ หลังลาออกจากงานในปีที่สะสมเงินมาได้ 20 ปี ก็ได้เงินช่วยเหลือกรณีการว่างงานถึง 3 ครั้ง ก่อนจะได้งานใหม่ แต่ที่ทำงานใหม่ไม่มีประกันสังคม จึงต้องจ่ายเองเดือนละ 432 บาทในมาตรา 39 และส่งมาโดยตลอด 10 ปี เมื่อครบอายุ 55 ปีที่ได้รับเงินจากกองทุนชราภาพคืน จึงไปสอบถามที่ประกันสังคม พบว่า ได้เงินคืนเดือน 1,100 บาท จึงตัดสินใจเลือกเป็นเงินก้อนมรดก ซึ่งจะได้ครั้งเดียวตอนเสียชีวิต

ผู้ประกันตนคนนี้ มองว่า ควรจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งมาตรา 33 และมาตรา 40 เพราะตนเองสะสมเงินในมาตรา 33 มาก่อน ควรจะถอนเงินชราภาพออกมาเป็นก้อนใหญ่ หรือเป็นเงินบำเหน็จได้ เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นในช่วงหลังเกษียณ และรู้สึกเห็นใจผู้ที่ไม่มีทายาทว่าจะยกเงินส่วนนี้ให้กับใคร โดยตั้งคำถามว่าใครได้ประโยชน์กับเงินนี้

เลขาฯ สปส.ชี้เสถียรภาพกองทุนประกันสังคมยังมั่นคง

ขณะที่นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงวา กองทุนประกันสังคมยังมีเสถียรภาพที่มั่นคง ปัจจุบันมีเงินสะสมจำนวน 2.657 ล้านล้านบาท โดยในปี 2567 รายรับจากเงินสมทบ 3 ฝ่าย 2.31 แสนล้านบาท และจ่ายสิทธิประโยชน์ 7 กรณี 1.35 แสนล้านบาท

สำนักงานประกันสังคมมีการพัฒนาช่องทางการให้บริการทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยการเข้าถึงสิทธิทั้ง 7 กรณีที่ จากเดิม 39.34 ล้านครั้ง ในปี 2560 สูงขึ้น 46.92 ล้านครั้ง ในปี 2567 ตลอดระยะเวลา 34 ปี ที่ได้ก่อตั้งกองทุนประกันสังคม ได้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องกว่า 97 ครั้ง ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่เพิ่มอัตราเงินสมทบหรือปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างให้เป็นภาระแก่นายจ้างและผู้ประกันตน

นางมารศรี กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหลักประกันทางสังคมและความมั่นคง ให้แก่แรงงานในประเทศไทย โดยให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนในมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานในสถานประกอบการมาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นลูกจ้าง และมาตรา 40 สำหรับแรงงานอิสระ ครอบคลุมผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคนทั่วประเทศ พร้อมมอบสิทธิประโยชน์สร้างหลักความมั่นคงในการทำงาน ประกอบไปด้วย 7 กรณี ได้แก่ การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ การตาย การคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน

แจงปี 67 กองทุนฯ ได้ผลตอบแทนการลงทุน 7.1 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากร โดยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้จำนวนแรงงานใหม่ในระบบลดลง ขณะที่ผู้เกษียณอายุซึ่งต้องได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รายจ่ายในด้านสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะบำนาญชราภาพและค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม คาดการณ์ว่าหากไม่มีมาตรการรองรับ กองทุนประกันสังคมอาจหมดลงภายในปี พ.ศ.2597 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า

สำนักงานประกันสังคมจึงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เสนอแนะแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม รวมทั้งร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในการกำหนดนโยบายสร้างความยั่งยืนให้กองทุน และวางแผนบริหารการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี 2567 กองทุนประกันสังคม ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเงิน 7.1 หมื่นล้านบาท จากการปรับสัดส่วนการลงทุน โดยเน้นลงทุนหลักทรัพย์ตามแผนยุทธศาสตร์การลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมให้ความเห็นชอบการลงทุนอย่างรอบคอบทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคง สร้างผลตอบแทนระยะยาวเพื่อการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

เปิด 2 รูปแบบเงินชราภาพ

เงินชราภาพแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

  • เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเงินก้อนครั้งเดียว มี 2 เงื่อนไข คือ จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ได้รับเงินจำนวนเท่าที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไป, จ่ายเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน รับจำนวนเงินเท่าที่ผู้ประกันตนจ่าย+เงินสมทบนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน
  • เงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต มี 2 เงื่อนไข คือ จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน ได้รับเงินเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย, จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ได้รับเงินเพิ่มอีกปีละ 1.5%

กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่ได้รับเงินชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้าย

ทั้งนี้ เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน, เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน

เงื่อนไขในการรับสิทธิเงินชราภาพ

  • เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39
  • อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต (เฉพาะบำเหน็จ)

อ่านข่าว : จับตาบอร์ดประกันสังคม ถกปรับเพิ่มเงินบำนาญชราภาพผู้ประกันตน ม.33 - ม.39 

"สมศักดิ์" อ้าแขนรับประกันสังคมเข้า "บัตรทอง" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง