เหน็ดเหนื่อยจากงานมาทั้งวัน ไม่มีอะไรจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายได้ดีไปกว่าการได้อาบน้ำล้างหน้า ชำระล้างความอ่อนล้า แล้วเดินเข้าห้องเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ นอนเอนกายบนเตียงนุ่ม นี่คือช่วงเวลาที่คนทำงานทุกคนเฝ้ารอ เป็นรางวัลเล็ก ๆ ที่ช่วยเติมพลังให้พร้อมรับวันใหม่อีกครั้ง
หน้าร้อนปีนี้ ร้อนจัดสลับฝน เตรียมรับมือให้พร้อม โดย กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ฤดูร้อนของไทยปี 2568 จะเริ่มตั้งแต่ ปลายเดือน ก.พ. ถึงกลางเดือน พ.ค.
คาดว่าจะมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะ สลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ซึ่งจะคลายความร้อนลงได้และจะมีอากาศ ร้อนจัดบางพื้นที่ในบางวัน ส่วนมากช่วงปลายเดือน มี.ค. ถึง กลางเดือน เม.ย.นี้
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-36 องศาเซลเซียสซึ่งจะใกล้เคียงค่าปกติ ซึ่งค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส แต่จะต่ำกว่า ช่วงฤดูร้อนปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ย 37.5 องศาเซลเซียส ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10-20

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
นอกจากความร้อนที่ต้องเผชิญแล้ว ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาหลักเมื่อต้องออกไปข้างนอก การอยู่ในบ้านอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่แน่นอนว่า เปิดแอร์คลายร้อนก็ต้องคิดถึงค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี
หน้าร้อนนี้อย่าปล่อยให้ค่าไฟทำให้ช็อก มีทริกมาแชร์กันเลือก BTU แอร์ให้เหมาะกับขนาดห้องเพื่อให้เย็นเร็ว ประหยัดไฟและลดค่าใช้จ่ายสิ้นเดือน เปิดแอร์อย่างไรให้คุ้มค่า ติดแอร์ตรงไหนดี มาติดตามกัน
เลือกตำแหน่งแอร์ ติดตั้งถูกที่ เย็นฉ่ำ ถูกใจ
อากาศร้อนจนทนไม่ไหว หลายบ้านต้องเปิดแอร์ตลอดทั้งคืน แต่เคยสังเกตไหมว่าบางจุดในห้องกลับไม่ค่อยเย็น ขณะที่บางมุมกลับได้รับลมแอร์จนรู้สึกเย็นไม่ไหว ส่งผลให้คนนอนไม่สบายได้ ฉะนั้น การเลือกตำแหน่งติดตั้งแอร์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้ลมเย็นกระจายตัวอย่างทั่วถึง ไม่กระทบสุขภาพ และยังช่วยประหยัดพลังงาน ได้อีกด้วย วันนี้รวบรวม ข้อแนะนำดี ๆ ในการติดตั้งแอร์ให้ถูกจุด มาฝากทุกบ้าน
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์บริเวณศีรษะและปลายเท้าโดยเฉพาะในห้องนอน เพราะลมเย็นที่เป่าโดยตรงไปยังศีรษะและเท้า อาจส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้ป่วยง่าย และอาจรบกวนการนอนหลับ
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์ฝั่งตรงข้ามประตู ความเย็นจะกระจายออกนอกห้องได้ง่ายเมื่อเปิดประตู ทำให้แอร์ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในห้อง

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์เหนือบานประตู เนื่องจากประตูมีการเปิด-ปิดบ่อยครั้ง ทำให้อากาศร้อนจากภายนอกไหลเข้ามาในห้อง ส่งผลให้เซนเซอร์ของเครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น และเปลืองไฟมากขึ้น และอายุการใช้งานของเครื่องสั้นลง
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์ฝั่งตรงข้ามประตูความเย็นจะกระจายออกนอกห้องได้ง่ายเมื่อเปิดประตู ทำให้แอร์ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในห้อง
- ติดตั้งแอร์ตามแนวยาวของห้อง ควรคำนึงถึงขนาดและรูปทรงของห้อง การติดตั้งแอร์ตามแนวยาวช่วยกระจายความเย็นได้ทั่วถึง และทำให้อากาศไหลเวียนไปทิศทางที่กว้างมากขึ้น
- ติดตั้งแอร์ในตำแหน่งที่ไม่โดนแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะห้องขนาดเล็ก ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่โดนแสงแดด เพราะจะทำให้เครื่องทำงานหนักขึ้นและสิ้นเปลืองพลังงาน
- ติดตั้งชุดระบายความร้อน (Condenser) ในที่ร่ม ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่โดนแสงแดดโดยตรง เว้นระยะห่างจากกำแพงไม่น้อยกว่า 10 ซม. และเว้นระยะพื้นที่ด้านหน้าคอยล์ร้อนไม่น้อยกว่า 70 ซม. ให้ทิศทางลมกระจายออกไปได้และระบายความร้อนได้ดี
- เลือกตำแหน่งที่สะดวกต่อการทำความสะอาด สามารถถอดแผ่นกรองฝุ่นและทำความสะอาดได้ง่าย จะช่วยให้แอร์ทำงานได้ดีขึ้น ประหยัดพลังงาน และยืดอายุการใช้งาน
ทั้งนี้ การติดตั้งแอร์ในตำแหน่งที่เหมาะสมมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและอายุการใช้งานของเครื่องปรับอากาศ ควรเลือกติดตั้งในจุดที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนในบ้าน ลดการใช้พลังงาน และช่วยให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
*** นี่เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ตำแหน่งติดตั้งที่เหมาะสมอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะห้องและความสะดวกของแต่ละบ้าน

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
เลือก BTU แอร์ ให้เหมาะกับ "ขนาดห้อง"
ก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องปรับอากาศ สิ่งที่หลายคนมักได้ยินคือ "BTU" แต่ BTU คืออะไร และทำไมต้องพิจารณาก่อนติดแอร์ วันนี้ มีคำตอบ เลือกแอร์ให้เหมาะกับห้องและการใช้งาน
BTU ย่อมาจาก "British Thermal Unit" คือ หน่วยมาตรฐานของการวัดค่าพลังงานความร้อน ในระบบปรับอากาศค่า BTU ใช้บอกความสามารถในการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ หรือระบบทำความเย็นภายในเวลา 1 ชั่วโมง มีหน่วยบีทียูต่อชั่วโมง (Btu/h)
ตัวอย่างเช่น หากเครื่องปรับอากาศมีขนาด 12,000 BTU/h หมายความว่า เครื่องนี้สามารถดึงความร้อนออกจากห้องได้ 12,000 BTU ภายใน 1 ชั่วโมง
แล้วห้องขนาดไหน ควรใช้กี่ BTU เบื้องต้นสามารถเปรียบตามเกณฑ์นี้ได้เลย

อ่านข่าว : หาคำตอบในบิล ทำไมใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่จ่ายแพงขึ้น
HOW TO เย็นฉ่ำ ประหยัดไฟ ใช้แอร์ร่วมพัดลม
เปิดแอร์ 26 °C แต่หากต้องการความรู้สึกเย็นสบายเท่ากับ 24°C ให้เปิดพัดลมช่วย โดยไม่ต้องลดอุณหภูมิของแอร์
หลายคนคงเคยได้ยินคำแนะนำว่าหาก "เปิดแอร์" แล้ว เปิด "พัดลม" ช่วยจะทำให้ประหยัดไฟมากขึ้น แต่ว่าเป็นเพราะอะไรนั้น มาหาคำตอบกันในเรื่องนี้กัน
การตั้งอุณหภูมิแอร์ไว้ที่ 27 องศาเซลเซียส และ เปิดพัดลมควบคู่กันไปนั้น จะช่วยอุณหภูมิลงได้ประมาณ 2 องศาเซลเซียส ในขณะที่แอร์ก็ทำงานโดยการดูดเอาความร้อนภายในห้องออกไป เท่ากับว่าได้รับอุณหภูมิแอร์ 25 องศาเซลเซียส โดยไม่ต้องลดอุณหภูมิแอร์ลง อีกทั้ง พัดลม ยังทำให้สายลมมาสัมผัสตัวทำให้เรารู้สึกสบายตัวยิ่งขึ้น

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้แอร์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดไฟให้มากที่สุด ก็อย่าลืมทำความสะอาดแผ่นกรองแอร์ทุกเดือน หรือลองเปิดหน้าเครื่องดู หากมีฝุ่นเกาะหนาก็ควรทำความสะอาดทันที และควรล้างแอร์เป็นอย่างน้อยทุก 6 เดือน ส่วนพัดลมก็ทำความสะอาดสม่ำเสมอ อย่าให้ฝุ่นเกาะที่ตะแกรงและใบพัดจนหน้าเต็มไปด้วยฝุ่น
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าที่เห็นผลที่สุด โดยการหมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งาน ปิดสวิตช์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน นอกจากจะช่วยชาติประหยัดไฟ ยังสบายใจเมื่อค่าไฟมาด้วย
สบายกาย สบายใจ สบายกระเป๋า

การติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้อง ไม่ใช่แค่เรื่องของความสบายหรือประหยัดพลังงาน แต่สำหรับบางคนยังมีเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับการวางตำแหน่งแอร์ ที่มองว่า ตำแหน่งแอร์ส่งผลต่อพลังงานในบ้านและผู้อยู่อาศัย ในขณะที่วิทยาศาสตร์เน้นที่การทำงานของระบบไหลเวียนอากาศและประสิทธิภาพการทำความเย็น ทั้งนี้ไม่ผิดก็เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล
การเลือกตำแหน่งแอร์ที่ดี สามารถนำแนวคิดทั้งสองมาปรับใช้ร่วมกันเพื่อให้ห้องเย็นฉ่ำ อยู่สบาย และเสริมพลังงานดี ๆ ให้กับชีวิตได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล : การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กระทรวงพลังงาน, banidea
อ่านข่าว : ประกันสังคมเพิ่มช่องทางจ่ายเงินสบทบ ม.39-ม.40 ผ่านแอปฯเป๋าตัง