ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกมยื้อแก้รัฐธรรมนูญ "รศ.โอฬาร" ชี้ละครการเมืองตบตาประชาชน

การเมือง
14 ก.พ. 68
14:50
246
Logo Thai PBS
เกมยื้อแก้รัฐธรรมนูญ "รศ.โอฬาร" ชี้ละครการเมืองตบตาประชาชน
อ่านให้ฟัง
07:16อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"รศ.โอฬาร" วิเคราะห์ท่าทีแก้รัฐธรรมนูญฉบับ "เพื่อไทย-ประชาชน" ชี้เจตนาแท้จริงไม่ตรงกัน เหมือนเล่นละครตบตา ขณะที่พรรคประชาชนไม่ทันเกมการเมืองเพื่อไทย

วันนี้ (14 ก.พ.2568) รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยพีบีเอส" ว่า ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย กับร่างของพรรคประชาชน เจตนารมณ์ที่แท้จริงของทั้ง 2 พรรคไม่ไปด้วยกัน ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนแตกต่างออกไป ส่วน สว.ก็มีจุดยืนคล้ายกับพรรคภูมิใจไทย ขณะเดียวกันสังคมต้องเรียนรู้ว่านี่คือการเมืองที่เป็นเหมือนละครที่นักการเมืองเล่นละครตบตาประชาชน

นโยบายที่พรรคเพื่อไทยรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หากเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริง เราจะเห็นนโยบายหลาย ๆ อย่างถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถทำสำเร็จ โดยต้องดูสัญญาณจากนายทักษิณ ชินวัตร ในการปราศัยหาเสียง เช่น นโยบายกาสิโน เหล่านี้ไม่เคยอยูในนโยบายหาเสียงหลัก แต่ทำเสร็จในชั่วข้ามคืน ดังนั้นจึงมีคำถามกลับว่าเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทยที่แท้จริงต้องการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ข้ออ้างหลอกประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้ง

อ่านข่าว : สภาล่ม! โชว์ตัวแค่ 175 ไม่ครบองค์ประชุมปมแก้รัฐธรรมนูญ

ขณะที่พรรคประชาชนต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนในสังคมรับรู้เงื่อนไข ข้อดีและข้อเสียในการแก้มากน้อยแค่ไหน ทุกคนอยากจะแก้ แต่มีวาระและมีเจตนาแตกต่างกัน

ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็เล็งเห็นแล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบายของพรรค และเห็นโอกาสทางการเมืองหากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนมีข้อผิดพลาดในการแก้รัฐธรรมนูญก็จะนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของพรรคภูมิใจไทยที่ขณะนี้องคาพยพทางการเมืองเอื้อให้ ทั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความใกล้ชิดกับ สว. บรรดาบ้านใหญ่ อบจ. รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทย ทำให้พรรคไม่มีความจำเป็นต้องเปลืองตัวกับเรื่องนี้ ในขณะที่ สว.ก็มีจุดยืนของตัวเอง ตนจึงคิดว่าเรื่องนี้กลายเป็นตลกร้ายของสังคมไทย

หากต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินต่อไปได้ พรรคเพื่อไทยจะต้องมีการต่อรองกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ รศ.โอฬาร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วพรรคภูมิใจไทยไม่ใช่เงื่อนไข เพียงแค่พรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทยรวมกัน แล้วที่สำคัญมี สว. 67 คน ก็ไปต่อได้

ถ้าดูในมิติทางการเมืองเบื้องหลัง พรรคเพื่อไทย ถ้านายทักษิณต้องการแก้ รธน.จริงก็ไม่ยาก เพียงยกหูโทรหานายอนุทิน หรือนัดไปตีกอล์ฟ ร้องคาราโอเกะ ก็จบ แต่ต้องดูเจตนาแท้จริงของพรรคเพื่อไทยว่าอยากแก้จริง หรือไม่ หรือเป็นแค่โรงละครที่ให้บรรดาแกนนำออกมาสร้างพื้นที่ทางการเมือง

อ่านข่าว : "อนุทิน" ย้ำจุดยืนไม่แก้ รธน. ชี้เสี่ยงผิดกฎหมาย

รศ.โอฬาร ประเมินว่า พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้เพราะประนีประนอมกับเครือข่ายอำนาจเก่า ซึ่งมีที่สิงสถิตย์ในอำนาจอยู่ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 แม้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยก็ได้ประโยชน์ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ แต่มันเป็นเงื่อนไขการต่อรองกันในทางการเมือง หากมีการแก้ไขตอนนี้ก็จะกระทบกับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ทำให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ จึงไม่กล้าที่จะทำเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาทั้งที่เป็นนโยบายหาเสียง

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

แต่ที่ทำมาทั้งหมด หากจะทำจริง ทำไม 2 ปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนไม่คุยกันให้ตกผลึก ไม่ปลุกสังคมออกมาเหมือนกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ส่วนหนึ่งมาจากการถูกสังคมกดดันทำให้พรรคการเมืองและ สว.ต้องเอาด้วย แต่ 2 ปีที่ผ่านมาทั้ง 2 พรรคไม่ชวนสังคมออกมาด้วย จนถึงวันนี้เวลาพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญสังคมยังเห็นต่าง ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ประชาชนต้องมีส่วนร่วม แต่เรื่องนี้ประชาชนถูกตัดออกไปให้พ้นจากเวทีโรงละครทางการเมืองของนักการเมือง

           "ผมรู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยมีวาระซ่อนเร้น นโยบายสำคัญที่ดูเหมือนเป็นอุปสรรค เช่น Entertainment Complex ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับมหาดไทย ทำไมถึงทำได้ ถึงบอกว่าบางอย่างประชาชนต้องดูเบื้องหลังการจัดทำด้วย อย่าแค่ดูโรงละครของนักการเมืองที่ตบตาประชาชนไปวัน ๆ"

อ่านข่าว : "เพื่อไทย" รับ​ทำสภาล่ม หวังรักษาร่างแก้​ไขรัฐธรรมนูญ

รศ.โอฬาร ยังมองว่าพรรคประชาชนไร้เดียงสาทางการเมือง ไม่ทันพรรคเพื่อไทย โดนหลอกมาตั้งแต่ตั้งรัฐบาล ขณะที่เกมการเมืองของพรรคประชาชนยังอนุบาลเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับเกมการเมืองของพรรคเพื่อไทย

ส่วนจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งในปี 2570 หรือไม่นั้น เลิกคิดได้เลย แต่หากจะทำจริง ๆ อยากให้พรรคประชาชนหรือพรรคการเมืองใดก็ตามสร้างบรรยากาศแบบปี 2540 ตั้งคณะกรรมการภาคสังคมที่มาจากตัวแทนหลาย ๆ ฝ่าย ให้ความรู้กับ สังคมเพื่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และประชาชนต้องรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาอย่างไร

ธรรมชาติของประชาธิปไตยจะต้องใช้เวลาสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเห็นจุดแข็ง-จุดอ่อน ถ้าเห็นว่ามีปัญหาจะแก้กันอย่างไรก็ค่อยคิด และเอาพลังทางสังคมไปกดดันทางการเมือง

อ่านข่าว

เส้นทาง "เพื่อไทย" จุดยืนแก้มาตรา 256 เปิดทางรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ปชน.-ไอลอว์ ชี้รัฐบาลเตะถ่วงแก้ รธน.แนะเคลียร์ล็อกภูมิใจไทย

เทียบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ "เพื่อไทย-ประชาชน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง