หลายกรณีที่ศพถูกส่งมาที่นิติเวช โดยที่แพทย์นิติเวชเจ้าของเคส ไม่ทราบข้อมูลในเกิดเหตุมาก่อน แต่ตำรวจระบุในบันทึกว่า เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ...ด้วยปริมาณศพที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน มีจำนวนมาก อาจทำให้แพทย์ฯ ไม่ได้ตรวจชันสูตรร่างผู้เสียชีวิตอย่างละเอียด เพราะคิดว่า เป็นเคสทั่วไป แต่มีคดีใหญ่ระดับชาติคดีหนึ่ง ถ้าเพียงได้เห็นที่เกิดเหตุ ก็จะตั้งสมมติฐานได้ทันทีว่า น่าจะเป็นการฆาตกรรมอำพราง
คดีฆาตกรรมอำพราง "เสี่ยชูวงศ์"
คดีใหญ่ที่เกือบจะไม่เป็นคดีที่ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเป็นตัวอย่าง คือ การเสียชีวิตของ “เสี่ยจืด” หรือ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างชื่อดังวัย 50 ปี เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 ผลชันสูตรเบื้องต้น จากทีมแพทย์นิติเวชสถาบันหนึ่ง ระบุว่า เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขับพุ่งชนต้นไม้ บริเวณ ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 เขตประเวศ กทม. และมีข้อความระบุในใบส่งศพว่า เป็นผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทั่วไปเท่านั้น
หลังเกิดเหตุพบร่างของนายชูวงษ์ อยู่ในรถรถยนต์ LEXUS สีดำ หมายเลขทะเบียน ภฉ 1889 กทม. แต่รถคันดังกล่าวมีผู้ขับรถชื่อ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaodclhhekufUmytMhlqNiUo.jpg)
"วันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำศพมาส่งให้แพทย์นิติเวชและมีข้อมูลที่แจ้งเพียงว่าเป็นอุบัติเหตุจราจร โดยที่แพทย์นิติเวชไม่ได้รู้มาก่อนเลยว่า ผู้เสียชีวิตจะเป็นนักธุรกิจชื่อดังและจะเป็นคดีใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ... จนเริ่มมีข้อมูลจากหน้าข่าวปรากฎ ปมธุรกิจที่ดูผิดปกติก่อนเสียชีวิตของผู้ตาย ทำให้กลายเป็นคดีที่คนให้ความสนใจมากขึ้น"
จากภาพที่เห็นในเกิดเหตุและสภาพรถพบว่า เป็นลักษณะการชนที่เบาบางมาก ซึ่งเมื่อแพทย์ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมสืบสวน มีการวิเคราะห์ภาพถ่ายที่เกิดเหตุ ความเสียหายของตัวรถที่ถูกตรวจสอบแล้ว ไม่สอดคล้องกับการบาดเจ็บที่พบจากการผ่าศพ จึงทำให้ทราบทันทีว่า การเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุรถชนธรรมดาแน่ ๆ
"หากยังจำกันได้ เคสนี้แทบจะถอดแบบกันมาเลย กับการเสียชีวิตของสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ ที่มีการอำพรางว่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชน แล้วท้ายสุดก็พบว่าเป็นคดีอุ้มฆ่า ปิดมหากาพย์คดีเพชรซาอุฯ คดีดังเมื่อ 30 ปีก่อน" ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าว
ภาพจากที่เกิดเหตุ คือ รถยนต์ LEXUS คันนี้ มีร่องรอยความเสียหายจากการชนที่ด้านหน้ารถฝั่งขวา ซึ่งเป็นฝั่งคนขับที่ พ.ต.ท.บรรยิน นั่งอยู่ แต่นายชูวงษ์ที่นั่งอยู่ฝั่งซ้ายกลับเสียชีวิต จากการถูกของแข็งกระแทกจนต้นคอหัก ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลจากที่เกิดเหตุมาประกอบเช่นนี้ เป้าหมายในการผ่าชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายชูวงษ์จึงเปลี่ยนไป
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaodclhhekuZnOfpNz4Bn6uU.jpg)
และได้ความจริงในที่สุดว่า ต้นคอที่หักของนายชูวงษ์ไม่ได้เกิดจากรถชน แต่เขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นมาก่อนแล้ว นำไปสู่การสืบสวนขยายผลจนพบนิติกรรมอำพรางที่ นายชูวงษ์ เพิ่งจะโอนหุ้น 2 ครั้ง เป็นเงิน 35 ล้านบาท และ 228 ล้านบาท ไปให้กับผู้หญิง 2 คน ซึ่งมีหลักฐานยืนยันในภายหลังว่า เป็นคนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน และยังพบหลักฐานว่าการโอนหุ้นเกิดขึ้นจากการปลอมแปลงเอกสาร
ความจริงในคดีนี้ เกือบจะกลายเป็นความลับตลอดกาล ถ้าไม่มีใครสงสัยว่า ไม่น่าจะใช่อุบัติเหตุจราจร
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ บอกว่า ถ้าเป็นระบบที่ดีในต่างประเทศ ทีมแพทย์นิติเวชจะต้องได้รับข้อมูลประวัติของผู้เสียชีวิตที่ชัดเจนแนบมาด้วยก่อนทำการผ่าชันสูตรศพ เพื่อที่จะได้วางแผน การตรวจโดยละเอียดในเชิงลึก เพื่อพิสูจน์ว่ามีโอกาสที่จะถูกอำพรางคดีหรือไม่ บางครั้งในระหว่างการผ่าชันสูตรจะมีตำรวจเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อช่วยในการรวบรวมข้อมูล
อีกทั้งอาจมองได้ว่าเป็นการถ่วงดุลให้เกิดความยุติธรรม เนื่องจากหากทีมแพทย์นิติเวชอยู่ในสังกัดคนละหน่วยหรือคนละองค์กรกับทีมสืบสวนสอบสวน การสรุปและให้ความเห็นก็จะมีอิสระต่อกัน
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaodclhhekudlxcZ9XGwAISJ.jpg)
"ในบางประเทศทุกๆ เช้าทีมแพทย์นิติเวชก็จะต้องจัดการประชุมเพื่อให้แพทย์ได้รู้ข้อมูลของผู้เสียชีวิตที่กำลังจะผ่าในวันนั้นให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถตั้งเป้าหมายได้ว่า จะค้นหาความจริงอะไรบ้างจากการผ่าศพ"
และการผ่าชันสูตรศพโดยละเอียดตั้งแต่ครั้งแรกจะให้ข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่แม่นยำและน่าเชื่อถือที่สุด ต่างจากการชันสูตรศพซ้ำ เนื่องจากสภาพศพและอวัยวะภายในที่ถูกผ่าเป็นชิ้นย่อยไปแล้ว รวมถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงหลังตายของศพ ยิ่งปล่อยไว้นาน การตรวจและแปลผลก็ยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว” ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ อธิบายเพิ่ม
คดีของนายชูวงษ์ มีความน่าสงสัยมากมาย จากทั้งที่เกิดเหตุรวมทั้งโปรไฟล์ของนายชูวงษ์และ พ.ต.ท.บรรยิน ทำให้ไม่สามารถอำพรางคดีให้เป็นอุบัติเหตุได้ แต่ยังมีคดีใหญ่อีกหลายคดีเช่นกันที่ไม่ถูกตรวจพบการฆาตกรรม และไม่พบข้อสงสัยใด ๆ เลยเมื่อผู้เสียชีวิตมาถึงมือแพทย์นิติเวช
"ไซยาไนด์ 14 ศพ" พลิกคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง
เดือนเม.ย.2566 เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบคดีนี้ เมื่อมีหญิงสาวหมดสติและเสียชีวิตปริศนาระหว่างไปทำบุญที่ริมท่าน้ำ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก่อนที่ "แอม" สรารัตน์ เพื่อนที่มาด้วยกันจะหยิบทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตหลบหนี โดยไม่มีทีท่าให้ความช่วยเหลือ และจากการสืบสวนพบมีสารโพแทสเซียมไซยาไนด์อยู่ในร่างกายผู้ตาย โดยถูกวางยาผสมในน้ำดื่ม
ในเวลาต่อมาหลังเจ้าหน้าที่ขยายผลสอบเพิ่มเติมก็มีญาติของผู้เสียชีวิตอีก 13 ราย (มีอีก 1 คน แต่ไม่เสียชีวิต) นับย้อนหลังถึงปี 2558 ได้ออกมาแสดงตัว เพราะมีรูปแบบการเสียชีวิตลักษณะเดียวกัน และมักรู้จักสนิมสนมกับ "แอม"สรารัตน์ ผู้ก่อเหตุในคดีทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาทีเพียง 2 ราย ที่ถูกตรวจพบสารไซยาไนด์ในเลือด
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaodclhhekusKxdj9JFevkzl.jpg)
"มีคำถามว่า ทำไมการชันสูตรศพของแพทย์นิติเวช จึงไม่พบสารไซยาไนด์ในร่างผู้เสียชีวิตกว่า 10 รายก่อนหน้าเลย ... นั่นเพราะแพทย์นิติเวช ไม่ได้ตรวจหาสารไซยาไนด์ในร่างของผู้เสียชีวิต"
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ อธิบายว่า กรณีการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ถือเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ซึ่งการตรวจด้วยการผ่าชันสูตรภายนอก อาจไม่พบความผิดปกติอะไร แต่การจะตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม ทั้งการตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อหาสารพิษทุกตัวในร่างกาย มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เกินกว่าที่จะพิจารณาหว่านทำในศพทุกๆได้
จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อสงสัยจากญาติผู้เสียชีวิต หรือมีข้อสงสัยจากตำรวจเจ้า ของคดีว่า ผู้เสียชีวิตอาจจะถูกวางยา เช่น ประวัติของผู้เสียชีวิต ความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด ปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือแม้แต่บันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ เช่นเคสนี้ การส่งตรวจสารพิษเพื่อวิเคราะห์โดยละเอียดจึงจะถูกพิจารณาทำ
"ในหลายเคสของคดีไซยาไนด์ แพทย์นิติเวชแต่ละแห่งไม่ได้รับแจ้งจากญาติผู้เสียชีวิต หรือตำรวจว่า มีข้อสงสัยต่อสาเหตุการเสียชีวิต จึงไม่ได้มีการตรวจเป็น routine แบบเดียวกับการตรวจหาแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดทั่วไป เพราะการตรวจหาสารพิษต่างๆในร่างกายมนุษย์จะต้องวิเคราะห์ด้วยตัวอย่างที่ตรงกับสารพิษชนิดที่ต้องสงสัยด้วย"
และหากสุ่มตรวจจากสารพิษทุกชนิดจะมีค่าใช้จ่ายสูงในหลักหลายพันบาทหรือถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อเคส จึงไม่สามารถตรวจหาสารพิษจากร่างของผู้เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่เข้ามาได้ทุกเคส เนื่องจากงานแพทย์นิติเวชตามโรงพยาบาลทั่วไป เป็นกลุ่มงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการตรวจศพต่อปี
![](https://news.thaipbs.or.th/media/BRpLwT0TYaGXOF4tVvjLcCDHoHAeSTuA4fkRVD78NDmmZ.jpg)
"ถ้าไม่นับงานนิติเวชในสถาบันใหญ่ๆ อย่าง สถาบันนิติเวชวิทยา สถาบันนิติ วิทยาศาสตร์ หรือในโรงเรียนแพทย์ตามมหาวิทยาลัย จะพบว่า งานนิติเวชส่วนใหญ่ในไทย เป็นงานที่ฝากไว้กับโรงพยาบาลศูนย์ตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข โดยความสำคัญในการจัดสรรงบฯต้องทุ่มให้การรักษาชีวิตผู้ป่วยก่อน ขณะที่นิติเวช คือ งานที่ทำงานกับคนที่ตายแล้ว ไม่ใช่ภารกิจหลัก ทำให้ได้รับการจัดสรรงบฯค่อนข้างน้อย"
"งบน้อย" ปัญหาโครงสร้างงานนิติเวช
คำอธิบายของนพ.ภาณุวัฒน์ ทำให้เห็นถึงปัญหาในระดับโครงสร้างของงานนิติเวช ทั้งๆที่ภาระกิจหลัก คือการช่วยค้นหาความจริงเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมในคดีความต่างๆ แต่กลับต้องไปพึ่งพางบประมาณส่วนใหญ่จากงบสาธารณสุขที่มีหน้าที่รักษาชีวิตของคน
การค้นหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากร่างของผู้เสียชีวิตมาประกอบกับหลักฐานแวดล้อมอื่น ๆ คือ หัวใจสำคัญของงานด้านนิติเวช พวกเขาจึงกลายเป็นความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้ไขคดี เมื่อมีคดีใหญ่ ๆ เกิดขึ้นผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า โซเชียลมีเดีย ทั้งที่ในบางคดี ก็ไม่เป็นไปตามความคาดหวังเหล่านั้น
"ลองมองย้อนดู คดีใหญ่ที่บ้านกกกอก การเสียชีวิตปริศนาของน้องชมพู่ ... มีหลายซีนาริโอมากในเคสนี้" ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ยกตัวอย่างคดีดัง ที่แม้แต่งานนิติเวชก็ยังต้องถกเถียงกันเอง
![](https://news.thaipbs.or.th/media/BRpLwT0TYaGXOF4tVvjLcCDHoHAeSTuAzTJ53DWhPWOhO.jpg)
"การผ่าศพน้องชมพู่ครั้งแรกทำที่ จ.อุบลราชธานี กว่าจะได้ร่างมาก็เริ่มเน่าแล้ว แถมถูกสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทำลายสภาพเดิมทำให้ยากจะแยกแยะว่า อันไหน คือแผลจริงที่ถูกทำร้าย หรือเป็นแผลที่เกิดขึ้นหลังเสียชีวิต ผลการตรวจครั้งนี้ เบื้องต้นระบุว่า ร่างน้องเสียชีวิตในป่า ไม่มีบาดแผลถูกทำร้าย ตรวจไม่พบร่องรอยการถูกกระทำชำเรา ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะไม่ถูกฆาตกรรมเพราะการฆาตกรรมโดยไม่ทำให้เกิดบาดแผลก็สามารถพบได้... และเป็นผลตรวจที่ทำให้สังคมยังเกิดความสงสัยตามมามากมาย จึงต้องนำร่างของน้องมาตรวจครั้งที่ 2"
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ เล่าว่า เมื่อนำร่างมาผ่าพิสูจน์ซ้ำ พบศพมีสภาพเน่ากว่าเดิมมาก แต่ครั้งนี้เหมือนตรวจพบ มีร่องรอยถูกกระทำชำเรา เมื่อผลตรวจขัดแย้งกับความเห็นในครั้งแรกต้องตั้งกรรมการกลางขึ้นมาตรวจสอบหาข้อสรุป ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะมีข้อโต้แย้งในกรรมการว่า ในการตรวจรอบที่ 2 อาจมีรอยแผลใหม่เกิดขึ้นเพิ่มเติมได้จากการที่ศพเน่ามากขึ้น สีของผิวหนังศพที่เปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่อาจเกิดแผลใหม่หลังตายที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่เลี่ยงไม่ได้จากการชันสูตรครั้งแรกเพื่อที่พยายามจะหาบาดแผลโดยละเอียด ซี่งพบอยู่บ่อยครั้ง
ต่อมาเมื่อนำภาพร่างของน้องชมพู่ในระหว่างการตรวจทั้ง 2 ครั้งมาเปรียบเทียบกัน ได้ข้อสรุปว่า ความเห็นของแพทย์นิติเวชจากการตรวจครั้งแรกถูกต้องแล้ว มีการยืนยันด้วยภาพถ่ายว่า ไม่ได้มีบาด แผลนี้ตั้งแต่การตรวจชันสูตรครั้งแรก
![](https://news.thaipbs.or.th/media/BRpLwT0TYaGXOF4tVvjLcCDHoHAeSTuAzLFE119lxIk9B.jpg)
แต่ถ้าเป็นเคสอื่นทั่วไป เรามักจะเชื่อผลการตรวจชันสูตรครั้งที่ 2 มากกว่า เมื่อผลต่างไปจากการชันสูตรครั้งแรก เพราะมันมักจะตรงใจกับความเชื่อของคนทั่วไป คิดง่ายๆจากหากเชื่อผลการตรวจในครั้งแรก คงไม่ถูกนำมาตรวจซ้ำเป็นครั้งที่สอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลออกมาแบบนี้ ก็ไม่ตอบรับความคาดหวังของสังคมที่อยากรู้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริงกันแน่ และต้องการให้นำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษให้ได้โดยเร็ว
แต่โดยหลักวิชาชีพ แพทย์ต้องยืนยันตามผลตรวจชันสูตรที่ปรากฏ การให้ความเห็นหรือการแปลผลเกินกว่าสิ่งที่ตรวจพบ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง เพราะอาจนำไปสู่การสรุปคดีที่ผิดไปคนละขั้ว หรือแม้แต่จับตัวผู้บริสุทธิ์มารับโทษแทน ดังปรากฏให้เห็นกันอยู่ในหลายคดี
แม้ว่าในเคสของคดีน้องชมพู่ แพทย์นิติเวช จะยืนยันข้อสรุปที่ได้มาจากการตั้งกรรมการอย่างตรงไปตรงมา แต่ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ยอมรับว่า สังคมปัจจุบันที่ต่างใช้โซเชียลมีเดียแสดงความเห็นอย่างงายดาย และยังมีกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของสังคมคอยให้ความเห็นไปในทางใดทางหนึ่งก่อนแล้ว กลายเป็นความกดดันที่เกิดขึ้นต่อการทำงานของวิชาชีพนิติเวชมาก เพราะคนส่วนหนึ่งอยากได้คำตอบในแบบที่เขาเชื่ออยู่แล้ว
"ปัญหาที่ตามมา คือ แทนที่ความเห็นทางวิชาการที่พบจากการผ่าชันสูตรของแพทย์นิติเวช จะช่วยทำให้กระบวนการยุติธรรมในแต่ละคดีแม่นยำขึ้น กลายเป็น แพทย์นิติเวชบางส่วน เลือกที่จะให้ความเห็นแบบอยู่ใน safe zone ซึ่งอาจจะทำให้ข้อเท็จจริงที่สำคัญ บางอย่าง“หายไป” เหมือนทำงานให้จบ แต่ต้องไม่เดือดร้อนตัวเอง อะไรไม่ปลอดภัยก็เงียบไว้ไม่ต้องพูดให้เป็นประเด็น"
สำหรับการรับมือกับแรงกดดันดังกล่าว หากเป็นแพทย์นิติเวชที่มีประสบการณ์มากไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีข้อมูลและหลักเกณฑ์ทางวิชาการที่ใช้อธิบายได้อยู่ แต่แพทย์นิติเวชจบใหม่ที่ประสบการณ์น้อย ยังไม่สามารถรับแรงกดดันนี้ได้
เคยมีแพทย์นิติเวชที่ให้ความเห็นตามหลักวิชาการ แต่กลับถูกสังคมประณาม แทบไม่มีที่ยืน บางรายเคยถูกติดตาม และขู่ดักทำร้ายที่หน้ามหาวิทยาลัย หากเป็นเป็นแบบนี้ แม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่มีใครอยากลงไปชี้นำสังคมในทางที่ถูกต้อง เพราะไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaodclhhekujS9nf85bl5xRv.jpg)
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ยกตัวอย่างที่พบบ่อย ๆ คือ การลงความเห็นของแพทย์นิติเวชในหนังสือรับรองการตายว่า "หัวใจล้มเหลว"
"คำว่าหัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จมน้ำก็ได้ ถูกฆ่าก็ได้ หรือเป็นโรคหัวใจจริงๆ ก็ได้ เพราะคนตาย อย่างไรหัวใจก็ต้องหยุดทำงาน แต่พอคดีไหนที่มีแนวโน้มจะถูกกดดัน เขาก็ลงความเห็นไปว่า เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว"
ตรงนี้คือการที่วิชาชีพเราเลือกเข้าไปอยู่ใน safe zone แทน เพราะไม่อยากถูกทัวร์ลง ไม่อยากถูกวิจารณ์ในโลกออนไลน์ แต่กลับมีค่าเท่ากับเป็นการโยนให้ตำรวจทำงานยากขึ้น เนื่องจากไม่สื่อเรื่องพฤติการณ์การตายว่า น่าจะเป็นการเสียชีวิตจากโรคทั่วไป หรือเป็นการตายผิดธรรมชาติ ที่จะนำไปสู่การสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือฆาตกรรม"
ดังนั้น ความยากและภาระในการทำคดีมันจึงตกไปสู่ตำรวจหรือทีมสืบสวน ซึ่งในภาพกระบวนการยุติธรรมมันมีผลเสียหายมาก ... ถ้าเป็นแบบนี้ แพทย์นิติเวชก็อาจเป็นได้แค่ เจ้าหน้าที่ผ่าศพป่วยๆ ทำงาน รับเงิน แต่ไม่ใช่ผู้ที่มีบทบาทในการช่วยไขความจริงให้เกิดความยุติธรรม นี่คือ ผลกระทบจนเป็นวงจรที่ดิ้นไม่หลุด จากคนวงในที่ทำงานตรงกับงานสื่อมวลชน หรือสื่อโซเชียลในปัจจุบัน
นำงาน "ค้นหาความจริง" พ้น "อำนาจตำรวจ"
ประเด็นดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่า ความเป็นวิทยาศาสตร์ของงานนิติเวช ยังถือเป็นจุดแข็งที่ถูกคาดหวังจากสังคมที่จะทำให้เกิด "ความไว้วางใจ" ต่อ "กระบวนการยุติธรรม" มากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อท้าทายต่าง ๆ ที่จะต้องปรับแก้ให้งานด้านนิติเวชแข็งแรงขึ้น ทั้งในเชิงโครงสร้าง งบประมาณ และต้องอยู่ในจุดที่จะช่วยลดแรงกดดันจากความเห็นที่หลากหลายในสังคม
ในฐานะแพทย์นิติเวชมากประสบการณ์ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ มีข้อเสนอ ดังนี้
"เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรม ควรนำส่วนงานในกระบวนการค้นหาความจริงทุกอย่าง "ออกจากอำนาจของตำรวจ" เช่น พิสูจน์หลักฐาน นิติเวช นิติวิทยาศาสตร์ และการค้นหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด แม้องค์กรตำรวจจะแข็งเกร่งเพียงใด ก็ไม่มีความเป็นอิสระจากโครงสร้างที่ครอบอยู่ เหมือนระบบในหลายๆประเทศ ซึ่งไม่เพียงเป็นการคานหรือถ่วงดุลอำนาจไม่ให้การพิสูจน์ความยุติธรรมไปอยู่บนหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว แต่จะช่วยลดความเคลือบแคลงของประชาชนได้อีกด้วย"
![](https://news.thaipbs.or.th/media/BRpLwT0TYaGXOF4tVvjLcCDHoHAeSTuAw8oj8PQr9PyKb.jpg)
นอกจากนี้ควรต้องปฏิรูปหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการค้นหาความจริง มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อให้ทุกขั้นตอนในการค้นหาความจริงถูกทำไปพร้อม ๆ กัน ได้ข้อมูลอัพเดทไปด้วยกัน โดยต้องมีหลายหน่วยงานที่ช่วยตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ หากพบความผิดปกติในคดี ตั้งแต่ พนักงานสอบสวน กระบวนการพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุ กระบวนการชันสูตรพลิกศพ และกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ ถ้าทำได้จริง ก็จะช่วยทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยพัฒนาไปใช้หลักวิทยาศาสตร์มากขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนแรก
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ย้ำว่า หากไม่นับหน่วยงานตรง เช่น สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่มีภารกิจในการตรวจชันสูตรศพโดยตรง ภาครัฐควรจัดลำดับความสำคัญของ "ผู้ปฏิบัติงานด้านนิติเวช" ขึ้นใหม่ เนื่อง จากที่ผ่านมา แผนกนิติเวชในโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นลำดับรอง ๆ มาโดยตลอด เพราะเป็นหน่วยที่ดูแลคนตาย ไม่ทำให้เกิดรายได้ และการให้ความเห็นทางคดียังอาจสร้างปัญหาให้โรงพยาบาลเพิ่มอีก
ดังนั้นเมื่อมีงบประมาณน้อย การทำงานก็ลำบาก การช่วยสร้างความยุติธรรมก็ทำได้น้อยลงด้วยโดยอาจต้องมาขึ้นตรงกับกระทรวงยุติธรรม หรือไปอยู่รวมกับหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ค้นหาความจริงในคดีตามข้อเสนอข้างต้น
ความยุติธรรมกับงานนิติเวช EP 2 รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา
อ่านข่าว:
นิติเวชเป็นวิทยาศาสตร์ “ช่วยไขความจริง” ไม่ใช่ “ผู้พิพากษา”
เบื้องลึก DSI จ่อหมายจับ "หม่อง ชิตตู" ค้ามนุษย์อินเดีย ใต้เงาจีนเทา