น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสินลงโทษ คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยอ่านคำพิพากษาลับหลัง เพราะหลบหนีออกนอกประเทศ เมื่อปลายเดือน ก.ย.2560 จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลฎีกาฯ ยังมีคำสั่งให้ออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย
เมื่อเกิดกรณีนายทักษิณเดินทางกลับประเทศ อ้างว่าจะมารับโทษโดยไม่ต้องมีกฎหมายนิรโทษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่ได้เข้านอนในเรือนจำเลยแม้แต่คืนเดียว ตรงกันข้ามกลับไปนอนพักรักษาตัวเป็นวีไอพีที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ทำให้เชื่อว่า น่าจะเป็นต้นแบบในโมเดลที่จะถูกนำมาใช้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือไม่ต้องติดคุกในเรือนจำ แต่รูปแบบและวิธีการอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจเป็นถูกนำตัวไปคุมขังในสถานที่อื่น นอกเรือนจำ
หลังจากกรมราชทัณฑ์ได้ร่างประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังผู้ต้องขังตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ พ.ศ.2566 โดยเพิ่งผ่านพ้นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ที่เปิดรับระหว่างวันที่ 2-17 ธ.ค.2567 ปลายปีที่ผ่านมา
สาระสำคัญที่ถูกจับตาและเสียงวิพากษ์มากเป็นพิเศษ คือ ในหมวด 1 ว่าด้วยสถานที่คุมขัง ข้อ 6 (1) และ 6 (2) ที่ว่าด้วย ระบบการพัฒนาพฤตินิสัย ให้คุมขังในสถานที่ราชการ หรือสถานที่หน่วยงานของรัฐที่ใช้ประโยชน์ในบริการสาธารณะ สถานศึกษา วัด มัสยิด มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ของราชการและเอกชน รวมทั้งสถานที่ของเอกชน ที่หมายรวมถึงที่พักอาศัย บ้านเรือน และอาคารสูง ที่มีเลขที่บ้าน ซึ่งปกติ สถานที่เหล่านี้ จะมีอยู่แล้ว
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการโดนตั้งข้อสังเกตว่า ส่อเอื้อประโยชน์ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ เพราะอาจเข้าข่ายมีคุณสมบัติที่สามารถควบคุมตัวไว้ในที่อยู่อาศัยหรือบ้านได้ ยกเว้นกรณีออกไปทำงาน ฝึกวิชาชีพ หรืออบรมตามหลักสูตรที่กำหนด
เป็นคุณสมบัติของผู้ที่สามารถคุมขังนอกเรือนจำได้ เช่น เป็นนักโทษเด็ดขาด หรือต้องโทษจำคุกครั้งแรก โดยโทษจำคุกต้องไม่เกิน 4 ปี หากมีการพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษ ให้ถือเอากำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาด หรือคำสั่งให้ลดโทษหลังสุดเป็นสำคัญ
สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องคำพิพากษาจำคุกครั้งแรก และติดเงื่อนไขเดียวคือโทษจำคุก 5 ปี เกินกว่าที่กำหนดไว้ 4 ปี แต่ทางออกอาจอยู่ที่โอกาสการได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหมือนที่นายทักษิณเคยได้รับจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี และความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นโทษตามมาตรา 157 ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามด้วย
ตรวจสอบล่าสุดจากหน้าเพจ โครงการรับฟังความคิดเห็น ต่อร่างประกาศกรมราชทัณฑ์ ระบุอยู่ระหว่างการสรุปผล สอดคล้องกับที่นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปลายปี 2567 ว่า กรมราชทัณฑ์ อยู่ระหว่างกำลังประมวลความคิดเห็นของประชาชน ที่สิ้นสุดตั้งแต่ 17 ธ.ค.2567 แล้วว่า
มีประเด็นใดบ้างที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข และเมื่อมีสรุปเสร็จสิ้น กรมราชทัณฑ์แล้วสามารถประกาศใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ได้เลย เพราะเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คาดว่าจะภายในเดือนม.ค.2568
เท่ากับในทางเทคนิค ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร เพียงแต่สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ อาจไม่เหมาะสม ดังที่นายทักษิณให้ความเห็นไว้ เพราะถึงแม้ภาพภายนอกทั่วไป รัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปรากฎรอยร้าวทางใจและความรู้สึก ทั้งจากศึกชิง อบจ.ที่ผ่านมา และเรื่องภายในรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคร่วมฯ อย่างภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ รวมทั้งบางพรรค อยากให้มีการปรับครม. เพื่อเปิดทางให้ “บิ๊ก” บางคน กลับเข้ามีตำแหน่งในรัฐบาล นำมาซึ่งข่าวจะปรับ ครม. จน น.ส.แพทองธาร ต้องรีบออกมาปฏิเสธ
ยังไม่นับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการเดินหน้าแก้ปัญหา “แก๊งมิจ” และแก๊งคอลเซนเตอร์ของทุนจีนสีเทา ที่ไปเจรจาดึง “พี่ใหญ่” ผู้นำรัฐบาลจีน มาช่วยปราบ อันจะเชื่อมโยงกับการเรียกความเชื่อมั่นและรายได้จากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ต้องการเวลาสำหรับการทำงานแบบต่อเนื่องของ ครม.อีกระยะหนึ่ง จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลถึงกำหนดการเดินทางกลับประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ต้องล่าช้าออกไปก่อน สำหรับคนที่ช่ำชองประสบการณ์อย่างนายทักษิณ ที่คงไม่อยากเจอกับศึกหลายด้านในเวลาพร้อม ๆ กัน
การกลับมาโดยมีโมเดลรองรับ และสะท้อนภาพวีไอพีคนที่ 2 คงจะมีการประเมินแล้วว่า น่าจะมีปฏิกิริยาไม่พึงพอใจของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลและนายทักษิณ อย่างไม่ต้องสงสัย
เผลอๆ อาจหนักหน่วงรุนแรง หรือใกล้เคียงกับการเร่งผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กูรูการเมืองหลายคน ฟันธงล่วงหน้าไว้แล้ว
ถือคติ ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : กล้อง NCAPS ช่วยจับชายลอบเข้าป่าล่าสัตว์เขาแหลม