วันนี้ (7 ก.พ.2568) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านค้าบางส่วนในเมืองเมียวดี เริ่มปิดให้บริการ เพราะไม่มีไฟฟ้า ขณะที่หน้าปั๊ม ปตท.เต็มไปด้วยประชาชนที่นำรถยนต์ จักรยานยนต์ ไปรอเติมน้ำมัน โดยทางปั๊มได้ขอให้ทหารบีจีเอฟ จัดระเบียบให้เข้าไปเติมน้ำมันเป็นรอบ ๆ บางปั๊มจำกัดปริมาณการเติม ส่วนปั๊มขนาดเล็กปิดชั่วคราว เนื่องจากขาดแคลนน้ำมัน
ราคาน้ำมันฝั่งเมียวดีวันนี้ ดีเซลราคาลิตรละ 3,960 จ๊าต หรือ 58.48 บาท ส่วนน้ำมันเบนซิน ขายลิตรละ 3,620 จ๊าต หรือลิตรละ 58.19 บาท แพงกว่าในประเทศไทย
ขณะที่รถจักรยานยนต์ จำกัดการเติมน้ำมันได้คันละ 5,000 จ๊าต หรือ 80.38 บาท และรถยนต์ จำกัดคันละ 20,000-30,000 จ๊าต หรือ 321.51-482.27 บาท ส่งผลให้ชาวเมียนมาบางส่วนขับรถยนต์ข้ามฝั่งมาเติมน้ำมัน ใน อ.แม่สอด จ.ตาก เพราะราคาถูกกว่า โดยทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนู คุมเข้มไม่ให้ลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิง และสิ่งผิดกฎหมาย ข้ามไปฝั่งเมียนมาอย่างเข้มงวด
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIMTYYM7GtAthZrnbR3CaJfg.jpg)
ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ยังเปิดตามปกติ
ส่วนด่านพรมแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย กับจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ยังคงเปิดให้ประชาชนเดินทางข้ามแดนได้ตามปกติ โดยมีชาวเมียนมานำรถยนต์ข้ามพรมแดนมาเติมน้ำมัน และจับจ่ายซื้อสินค้า
เจ้าหน้าที่ประจำด่าน ยืนยันว่าผู้ที่ประสงค์จะเดินทางข้ามพรมแดนยังใช้พาสปอร์ตได้ตามปกติ และยังไม่มีการประสานจากทางเมียนมาให้งดเดินทางข้ามประเทศตามที่มีกระแสข่าว
นายเศวตยนต์ ศรีสมุทร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ระบุว่า การค้าชายแดนยังไม่มีผลกระทบในระยะสั้น เพราะไม่ได้ปิดด่าน และยังค้าขายตามปกติ แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในฝั่งเมียนมาอาจกระทบต้นทุนการขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น
ส่วนในระยะยาว กระแสไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ อาจทำให้ทางการเมียนมาปัดฝุ่นโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประท้วงจากไทย เนื่องจากปัญหากลิ่นและฝุ่นควันข้ามพรมแดน
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDIMTYYM7GtAyvtbAMbqH4wTS.jpg)
เมื่อเข้าไปสังเกตการณ์บรรยากาศในจังหวัดท่าขี้เหล็ก พบว่าไม่ต่างจากในเมืองเมียวดี โดยชาวเมียนมานำรถไปเติมน้ำมันตามปั๊มต่าง ๆ แต่หลายปั๊มไม่อนุญาตให้เติมเต็มถัง โดยระบุว่าต้องกระจายให้รถคันอื่น ๆ ทำให้รถหลายคันแวะเติมน้ำมันหลายปั๊ม จนการจราจรติดขัด บางส่วนพยายามกักตุนใส่ภาชนะ หรือถังต่าง ๆ
ทั้งนี้ หลังจากประเทศลาว ลดการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จังหวัดท่าขี้เหล็ก จาก 30 เมกะวัตต์ เหลือ 13 เมกะวัตต์ ส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการไฟฟ้าในเมืองท่าขี้เหล็ก ต้องจัดสรรการใช้ไฟฟ้าใหม่ อันดับแรกเน้นโรงเรียน โรงพยาบาล คลินิก อาคารทางศาสนา ธนาคาร และอุตสาหกรรมการสื่อสาร เพราะจำเป็นต่อการดำรงชีวิต
รองลงมา คือ บ้านพัก หรือการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ธุรกิจโรงแรม สโมสร ธุรกิจบาร์และความบันเทิง รวมถึงร้านอาหาร จะได้รับการจัดสรรไฟฟ้าแบบหมุนเวียนกันไป
อ่านข่าว : ผลกระทบตัดไฟ-น้ำมัน จ.ท่าขี้เหล็ก หลังตัดไฟ 2 จุด ชายแดนแม่สาย
ด่วน! กฟภ.ตัดไฟ 5 จุดเมียนมา 20.3 เมกะวัตต์สกัดคอลเซนเตอร์
ตัดไฟท่าขี้เหล็กกระทบ 7 พันครัวเรือน รพ. 5 แห่ง โรงเรียน 45 แห่ง